บริษัท Kagome ผู้ผลิตน้ำจิ้มและซอสรายใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งมานานตั้งแต่ปี 2442 ซึ่งมีอายุครบ 122 ปีในปีนี้ กลายเป็น บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นรายเเรกที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านปัญหาด้าน 'สิทธิมนุษยชน' ที่ชาวอุยกูร์ในซินเจียงของจีน ต้องเผชิญ ด้วยการประกาศ ยุติการนำเข้ามะเขือเทศจากพื้นที่ดังกล่าวเพื่อแสดงจุดยืน หลังจากที่ก่อนหน้านี้แบรนด์สินค้าระดับโลกมากมายต่างตบเท้าออกมาบอยคอตซินเจียงแล้ว เช่น Uniqlo ZARA H&M Adidas Nike ฯลฯ
ตัวแทนจาก Kagome ระบุว่า นอกจากปัจจัยหลักอย่างต้นทุนและคุณภาพ ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจของบริษัท ที่ผ่านมาทางบริษัทได้มีมาตรการตรวจเยี่ยมโรงงานและพื้นที่ปลูกมะเขือเทศอยู่เป็นประจำ ซึ่งมีการยืนยันว่ามะเขือเทศที่ทางบริษัทใช้ในอดีตนั้นไม่ได้ถูกผลิตในสิ่งแวดล้อมที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นแต่อย่างใด
THE XINJIANG BOYCOTT | ANOTHER ORDER CANCELLED
— Nikkei Asia (@NikkeiAsia) April 13, 2021
Leading ketchup producer Kagome has stopped importing tomatoes from China's Xinjiang, joining the growing ranks of Western brands that have ceased sourcing materials from the region over reported abuses.https://t.co/Va7sOFBBTX
ปัจจุบัน Kagome มีการนำเข้ามะเขือเทศจากหลายหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในสหรัฐฯ และในภูมิภาคยุโรป โดยบนหน้าเว็บไซต์ของ Kagome มีการเขียนระบุไว้อย่างชัดเจนว่า มะเขือเทศจากซินเจียงของประเทศจีนคือมะเขือเทศคุณภาพเยี่ยมระดับโลก
อย่างไรก็ตามในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น ทางบริษัทได้มีการลดการนำเข้ามะเขือเทศจากซินเจียงมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนการสั่งระงับทั้งหมดในครั้งนี้ โดยมีนักวิเคราะห์มองว่า สาเหตุหนึ่งของการตัดสินใจอาจเป็นเพราะที่ผ่านมา Kagome พึ่งพามะเขือเทศจากซินเจียงในปริมาณที่น้อยมากอยู่แล้ว คาดว่าจะอยู่ที่ปริมาณเพียง 1% เท่านั้น การระงับจึงไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก
การส่งสัญญาณแสดงจุดยืนของญี่ปุ่นต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนของแรงงานอุยกูร์ในซินเจียงในตอนนี้ มีความเป็นไปได้ว่านี่คือการ 'มอบของขวัญ' ให้กับประเทศพันธมิตรอย่างสหรัฐฯ เพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนการประชุมร่วมกันระหว่างผู้นำญี่ปุ่นและสหรัฐฯ จะมีขึ้นในวันที่ 16 เม.ย.นี้ ณ ทำเนียบขาว ทำให้ โยชิฮิเดะ ซุกะ กลายเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่เข้าพบ โจ ไบเดน หลังขึ้นดำรงตำแหน่ง
แน่นอนว่าจะมีการพูดถึงเรื่องปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค รวมถึงประเด็นการผลักดันให้ญี่ปุ่นแสดงจุดยืนสนับสนุนอธิปไตยของไต้หวัน จนอาจนำไปสู่การทำสนธิสัญญาระหว่างกันด้วยซ้ำ และแม้ว่าเราจะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว 'ของขวัญ' ที่ว่านั้นคืออะไร แต่การแสดงตัวต่อต้านปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของภาคเอกชนและธุรกิจของญี่ปุ่นมีค่าไม่ต่างอะไรกับของขวัญที่ต้องการจะมอบให้สหรัฐฯ อยู่ดี
อย่างไรก็ตาม Muji อีกหนึ่งแบรนด์สินค้าระดับโลกจากญี่ปุ่นที่ถูกวิจารณ์มาอย่างต่อเนื่องว่ายังคงยืนยันจะใช้ฝ้ายจากซินเจียงในการผลิตสินค้าต่อไป กลับมีแนวทางตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง เพราะนอกจากจะไม่มีทีท่าออกมาแบนการทำธุรกิจกับซินเจียงแล้ว ยังมีการแถลงการณ์ยืนยันว่าหลังการตรวจสอบโรงงานต่างๆ ในภูมิภาค ไม่พบปัญหาชัดเจนรุนแรงแต่อย่างใด และทางบริษัทแม่อย่าง Ryohin Keikaku Co Ltd ยังชี้ด้วยว่ากำลังมองหาหนทางที่จะขยายการเติบโตในตลาดจีนต่อไป