ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่ม CARE คาดการณ์ว่า วิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองไทยจะย่ำแย่ จึงจำเป็นต้องสะสมเครือข่ายคนทำงานด้านต่างๆ ไว้ เพื่อให้ประเทศสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ทันที เมื่อวิกฤตจบลง

สมาชิกกลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย กล่าวในงานเสวนา The Future of Thai politics: Who cares about CARE? ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ประจำประเทศไทย (FCCT) ว่า กลุ่ม CARE เป็นองค์กรการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่พยายามเป็นตัวกลางจับคู่เครือข่ายคนทำงานขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ในสังคมไทย เพื่อให้สังคมเข้มแข็งในช่วงที่ไทยต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองในอนาคตอันใกล้นี้

Who cares about care?
  • นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริเดช

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริเดช สมาชิกเริ่มต้นกลุ่ม CARE และอดีตรองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กลุ่ม CARE เป็นองค์กรที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และพร้อมจะทำงานกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาคประชาชน เอกชน หรือหน่วยงานรัฐ เพื่อขับเคลื่อนไทยไปข้างหน้า ไม่ว่าองค์กรไหนก็สามารถเข้ามาจับมือกันเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น จัดเวิร์กชอปให้กับคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือการจัดเทศกาลหนังสือและภาพยนตร์ เป็นต้น

ในระยะสั้น กลุ่ม CARE พยายามเสนอทางแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจของไทย ซึ่งคาดว่าจะหนักในช่วงเดือนต.ค.นี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 ระบาดแล้ว เมื่อเกิดโรคระบาด ก็ทำให้มีคนว่างงานเพิ่มขึ้นมากขึ้น และมีธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางที่อาจไม่สามารถประคองตัวต่อไปได้ อีกทั้งยังต้องหาทางช่วยการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนักมากจากโควิด-19

แต่ในระยะยาว CARE พยายามผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเปลี่ยนจากการเกษตรเพื่อผลิตสินค้าโภคภัณฑ์เป็นการผลิตอาหาร พัฒนาสวัสดิการด้านสาธารณสุข และพัฒนาเทคโนโลยี

Who cares about care?
  • ศุภวุฒิ สายเชื้อ

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ สมาชิกเริ่มต้นกลุ่ม CARE และที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ยืนยันว่า กลุ่ม CARE เสนอให้รัฐบาลเปิดเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจย่ำแย่ โดยจะต้องเปิดเศรษฐกิจโดยคำนึงว่าจะอยู่กับโลกที่มีโรคระบาดอย่างไร แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะแถลงว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นเป็นรูปสัญลักษณ์ Nike แต่เขามองว่าไทยอาจไม่ฟื้นตัวเช่นนั้น

เนื่องจากก่อนหน้านี้มีคนถึงร้อยละ 36 ที่ยื่นขอเข้าโครงการพักชำระหนี้ โดยธุรกิจขนาดเล็กและกลางที่ขอพักชำระดอกเบี้ยเงินกู้มูลค่าถึง 1,100 ล้านบาท ซึ่งทำให้เห็นว่ามีคนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวนมาก เปรียบได้กับเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมจะระเบิดในช่วงต.ค.นี้ โดยเฉพาะเมื่อโครงการให้เงินช่วยเหลือ 5,000 บาทของรัฐบาลจะจบในเดือนก.ค.นี้ ซึ่งจะมีคนถึง 15 ล้านคนลำบากอย่างหนัก

ส่วนการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้ประเทศ เป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของจีดีพี แต่การพึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไปทำให้ประเทศไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เต็มที่ เพราะปัจจุบันไม่ได้มีการจัดสรรปันส่วนอย่างเท่าเทียม นักท่องเที่ยวจะเข้ามาเที่ยวไทยอยู่ไม่กี่จังหวัดเท่านั้น ขณะที่การท่องเที่ยวท้องถิ่นคิดเป็นร้อยละ 12 เท่านั้น ซึ่งทำให้จังหวัดที่ไม่ได้มีนักท่องเที่ยวเยอะก็จะไม่มีรายได้เพียงพอ

นอกจากการท่องเที่ยวแล้ว รัฐบาลมักจะฝากความหวังไว้กับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ว่าจะสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศได้ โดยอีอีซีส่งเสริม 5 อุตสาหกรรม ในจำนวนนี้มี 3 อุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับการบิน ซึ่งปัจจุบันธุรกิจการบินก็ได้รับผลกระทบมากเช่นกัน

Who cares about care?
  • รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์

นางสาวรัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ สมาชิกเริ่มต้นกลุ่ม CARE และอดีตนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) กล่าวว่า เกษตรกรต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายด้าน เช่น น้ำแล้ง น้ำท่วม ซึ่งรัฐบาลไม่มียุทธศาสตร์ระยะยาวในการแก้ไขปัญหา และที่ผ่านมา นโยบายแก้ปัญหาระยะสั้นส่งผลเสียต่อเกษตรกรอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้จึงเสนอให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลที่จะช่วยให้รับมือกับความไม่แน่นอนได้ ซึ่งต้องอาศัยการเชื่อมโยงเกษตรกรเข้ากับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่ง CARE ก็จะเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ทั้งสองฝ่ายได้มาเจอกัน

Who cares about care?
  • ลักขณา ปัณวิชัย หรือ คำ ผกา

ด้านนางสาวลักขณา ปัณวิชัย หรือ คำ ผกา สมาชิกเริ่มต้นกลุ่ม CARE และคอลัมนิสต์-พิธีกรอธิบายว่าการเมืองไทยหลังการรัฐประหารปี 2549 และ 2557 สามารถแบ่งเป็น 3 ช่วง

หนึ่ง: ขั้นตอนการเปลี่ยนประชาชนกลับไปเป็นไพร่ ให้ประชาชนกลายเป็นทรัพย์สินของรั{

สอง: การทำให้ชนชั้นกลางเพิกเฉยทางการเมือง

สาม: การลุกฮือทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่เครื่องมือการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ของรัฐ ไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว

คำ ผกากล่าวว่า ในระยะสั้น กลุ่ม CARE มีเป้าหมายที่จะปลุกจินตนาการของประชาชนให้นึกถึงชีวิตที่ดีขึ้น และหารายได้ให้กับประชาชนในระหว่างทางด้วย โดยเธอเปรียบว่า CARE ก็เหมือนกับทินเดอร์ แอปพลิเคชันหาคู่ แต่เป็นทินเดอร์ทางการเมือง ที่จะจับคู่ให้องค์กรต่างๆ ทำงาน เพื่อสร้างรายได้และแก้วิกฤตในช่วงนี้

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว กลุ่ม CARE ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของผู้ขับเคลื่อนการฟื้นฟูประชาธิปไตย เพราะมีความเป็นไปได้ว่า การเมืองไทยอาจวุ่นวายมากในอนาคตอันใกล้นี้ ดังนั้น ในภาวะชุลมุนนี้ กลุ่ม CARE ก็พยายามสะสมเครือข่ายคนทำงาน เพื่อไม่ให้เกิด 'ภาวะสุญญากาศทางความหวัง' เพื่อให้เมื่อความวุ่นวายจบลง จะได้ไม่ต้องเริ่มสร้างประเทศขึ้นจากซากปรักหักพัง เพราะในช่วงที่ต้องซ่อมแซมประเทศและสังคม ก็ควรมีการสร้างสิ่งใหม่ๆ ไปพร้อมกันด้วย

ทั้งนี้ คำ ผกากล่าวว่า กลุ่ม CARE ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการเป็นพรรคการเมือง แต่หากกลุ่ม CARE จะเป็นรากฐานให้สมาชิกคนใดตั้งพรรคการเมืองต่อไป ก็อาจเป็นไปเช่นกัน แต่สมาชิกกลุ่ม CARE ทั้งหมดไม่ได้จะกลายไปเป็นนักการเมือง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :