คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาดิเรกทอล์ค Direk Talk 2562: “รัฐศาสตร์ในยุคสมัยของความท้าทายและทางเลือก” โดยศาสตราจารย์ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มธ. ปาฐกถาดิเรก ชัยนาม ประจำปี 2562 “รัฐอากาศยาน ” โดยระบุถึงอุปลักษณ์ทางการเมือง ที่ใช้คำว่า รัฐอากาศยาน มาแทน "รัฐนาวา" ในอดีต ที่เปรียบเทียบรัฐหรือประเทศ เหมือน พาหนะทางน้ำ ซึ่งประชาชนอาจต้องเป็นฝีพายไปจนตาย ขณะที่ผู้มีอำนาจเป็นตัวแทนผู้ถือหางเสือ ซึ่งเป็นความหมายรากศัพท์ของคำว่า Government บังคับเรือไปตามทิศทางที่ต้องการ ซึ่งคำอธิบายรัฐนาวา ในโลกตะวันตกและในไทยเอง มักมองระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยในแง่ลบเสียส่วนมาก
ศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ จึงเสนออุปลักษณ์ใหม่ คือ "รัฐอากาศยาน" ที่สอดคล้องกับโลกปัจจุบันอันมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเปรียยการปกครองและดำเนินไปของรัฐเหมือนกับเครื่องบิน ที่มีการตรวจตราเข้มงวดตั้งแต่อยู่ในสนามบิน และเมื่อประตูเครื่องบินปิดเพื่อทะยานสู่อากาศ อำนาจทุกอย่างจะเบ็ดเสร็จในลักษณะ "สมบูรณาญาสิทธิราชย์"อยู่ที่กัปตัน อำนาจนี้ครอบคลุมทุกมิติของผู้โดยสารบนเครื่อง และพนักงานบนเครื่องบินเปรียบเหมือนเจ้าหน้าที่รัฐสมัยใหม่ ที่เป็นผู้คุมกฎ และสั่งการให้ผู้โดยสารต้องปฏิบัติตามโดยความยินยอม ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยในการโดยสาร ซึ่งกัปตันสามารถสั่งการ, ควบคุมตัวและลงโทษ ผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นภัยคุกคามหรือทำผิดกฎการโดยสารครื่องบิน โดยใช้ดุลยพินิจของกัปตันเอง และหากเทียบในปัจจุบัน การโดยสารบนเครื่องบินทุกอย่างขึ้นอยู่กับกัปตัน ไม่ใช่อำนาจรัฐที่เครื่องบินบินผ่านแต่อย่างใด
ศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ ทิ้งท้ายในการปาฐกถาไว้อย่างน่าสนใจว่า คำตอบเชิงเปรียบเทียบทั้งหมดอยู่บนพื้นดิน เพราะรัฐอากาศยานเหมือนมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จก็ต่อเมื่อเครื่องบินอยู่บนฟ้าเท่านั้น เมื่อ เครื่องบินลงจอดที่สนามบิน และประตูเครื่องบินเปิดออก ผู้โดยสารก็จะได้ลมหายใจ โดยไม่ต้องพึ่งพาออกซิเจนบนเครื่องบิน และมีเสรีภาพส่วนบุคคลและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นกลับคืนมา