ไม่พบผลการค้นหา
"นพ.ประเวศ" ยัน! อำนาจใช้ไม่ได้ผลในสังคมที่ซับซ้อน ติงผู้มีอำนาจขาดองค์ความรู้จัดการวิกฤต ผุด 11 มรรควิธี นำไทยหลังโควิด-19 เสนอรัฐหนุนงบตั้ง "ราชวิทยาลัยสื่อ" สอนสื่อต้องมี "สัมมาวาจา" เป็นจรรยาบรรณใหม่

ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นพ.ประเวศ วะสี นักวิชาการอาวุโส ปาฐกถาพิเศษ "บทบาทและจริยธรรมสื่อในภาวะสังคมซับซ้อน" ในงานครบรอบ 23 ปี สภาการหนังสือพิมพ์ฯ โดยเสนอหลักจริยธรรมใหม่ของการสื่อสาร คือ "สัมมาวาจา" ที่ต้องพูดความจริง ไม่ส่อเสียดและถูกกาละเทศะ และเสนอ "เครื่องมือเชิงสถาบัน" ของสื่อมวลชน เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะเเละสถานภาพสื่อ

โดยผลักดัน "พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยสื่อมวลชน" ที่อาจใช้ชื่ออื่นได้ แต่ต้องมีงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลราว 1,000 ล้านบาทต่อปี และต้องมีอิสระในการทำงาน ที่มุ่งคัดเลือกสื่อมวลชนที่เชี่ยวชาญและเป็นสมาชิก "ราชวิทยาลัย" พร้อมมีทุนสนับสนุนการทำงาน รวมถึงกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, มีสถาบันส่งเสริมสื่อมวลชน ตลอดจนงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมเสนอให้ภาคธุรกิจตั้ง "มูลนิธิเพื่อสื่อมวลชน" ด้วย

พร้อมกันนี้ เสนอ "11 มรรควิธี" เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด -​19 ประกอบด้วย 

  • เป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วม 
  • พลังพลเมืองตื่นรู้ 
  • อิฐบล็อคก้อนใหม่ คือรวมตัวร่วมคิดร่วมทำเป็นกลุ่มๆทั่วประเทศ 
  • ระบบเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งการแข่งขันเสรีใช้ไม่ได้ 
  • ชุมชนท้องถิ่นเข้มเเข็ง
  • การศึกษาใหม่  
  • พลังศาสนา  
  • ภาคธุรกิจ 
  • การเมืองใหม่ 
  • การสื่อสาร 
  • สุขภาพคือทั้งหมด หรือเพื่อสุขภาพที่ดี    

นพ.ประเวศ ยืนยันว่า สื่อมวลชนเป็นหัวใจสำคัญใน 11 มรรควิธี จึงต้องไม่นำเสนอสิ่งที่คนพูดมาตามกระแส แต่ต้องลงลึกในบริบท เข้าใจความซับซ้อนและบางกรณีอาจจำเป็นต้องเข้าไปเป็นผู้เชี่ยวชาญในบางเรื่อง ที่จะนำไปเสนอต่อสังคมให้เกิดความเข้าใจด้วย

ขณะเดียวกันเมื่อสังคมซับซ้อนและมีปัญหามากขึ้น บทบาทของสื่อก็สำคัญมากขึ้น ในการช่วยทำให้โลกหรือสังคมมนุษย์ลงตัวได้ เพราะการสื่อสารเชื่อมโยงกับทุกเรื่อง โดยว่า "ระบบที่ซับซ้อนแต่ลงตัว" คือ "ร่างกายของมนุษย์" ที่มีบูรณภาพ, ดุลยภาพและเชื่อมโยงกันหมด ทุกเชลล์มีสำนึกแห่งองค์รวม ยกเว้น "เซลล์มะเร็ง" ที่ไม่มีสำนึก จึงทำให้ร่างกายจึงเสียสมดุล ดังนั้น ทุกคนในสังคมต้องมีสำนึกองค์รวม ไม่เช่นนั้นก็จะเหมือนเซลล์มะเร็ง

ผู้มีอำนาจขาดความรู้ กลายเป็นตัวตลกในการจัดการปัญหา

นพ.ประเวศ กล่าวด้วยว่า ระบบเศรษฐกิจที่ซับซ้อนขึ้น ได้สร้างความเหลื่อมล้ำขึ้น แม้คนจะขยันแต่ก็ยังยากจนและถูกซ้ำเติม ซึ่งเกิดจากคนไทยที่ยังมีระบบคิดเรื่อง "ดี-ชั่ว" ว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล มองไม่เห็นโครงสร้างหรือไม่ได้มองเชิงระบบ ขณะที่วิกฤตโควิด -​ 19 กระทบทุกภาคส่วน ซึ่งทำให้เห็นว่าผู้มีอำนาจขาดความรู้ กลายเป็นตัวตลกในการจัดการปัญหา พร้อมย้ำว่า อำนาจใช้ไม่ได้ผลในสังคมที่ซับซ้อน แต่ต้องใช้ข้อมูล ความรู้และสติปัญญา ขณะที่สังคมไทย "ติดหล่มหรือ" มีกรอบวัฒนธรรมอำนาจ 3 กรอบ คือ คิดเชิงอำนาจ, สัมพันธภาพเชิงอำนาจ แบบจากบนลงล่าง และ โครงสร้างอำนาจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนในอนาคต

ด้านนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ กล่าวว่า สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ตั้งขึ้นมากำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมของสมาชิกเป็นองค์กรแรกและเก่าแก่ที่สุดในไทย ที่ยังมีความกระตือรือร้นและกิจกรรมต่อเนื่อง โดยช่วงโควิด -​19 ที่ผ่านมา ได้ออกแถลงการณ์และร่วมกับองค์กรวิชาชีพอื่นๆ ย้ำให้สื่อระมัดระวังการเสนอข่าว ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าทำหน้าที่ได้ดี และมองว่าช่วงวิกฤตยังเป็นโอกาสให้สื่อมวลชน ได้แสดงหรือพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพขององค์กรด้วย