ไม่พบผลการค้นหา
ประธาน นปช.หวังจำเลยคดีบุกบ้านสี่เสาเทเวศร์ จะรอดพ้นชะตากรรมนอนคุก เกาะติดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา 26 มิ.ย. นี้ หลังถูกเลื่อนอ่านคำพิพากษา รวมถึงก่อนหน้านี้ศาลอุทธรณ์เคยมีคำพิพากษาให้จำคุกไม่รอการลงโทษ

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2563 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ PEACETALK โดยระบุว่า วันพรุ่งนี้ (26 มิ.ย.) แกนนำ นปช.ต้องไปฟังคำวิพากษาศาลฎีกาในคดีชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งตนเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้เช่นกัน แต่อยู่ในคดีส่วนที่สอง ต้องรอลุ้นหลังจากคดีของพี่น้องชุดแรกยุติไปก่อน และวันที่ 26 มิ.ย. จะเป็นคำตอบ โดยในสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด กรมราชทัณฑ์มีมาตรการป้องกันโรคระบาด โดยให้เยี่ยมได้เดือนละครั้ง ซึ่งคนติดคุกจะมีความสุขเมื่อมีคนมาเยี่ยมให้กำลังใจ ส่วนความทุกข์ทั้งคนติดคุกและคนอยู่นอกคุกต่างมีความกังวลต่อกันและกัน

"การยืนหัวแถวคิดแค่ความสะใจแล้ว จะเป็นคนใช้ไม่ได้ ผมไม่ใช่คนอยู่เบื้องหลังแล้วไปยุให้คนอื่นทำตาม ผมยังมีพี่น้องหลายคนอยู่ในคุก ยังมีคดีอื่นๆ รอตัดสิน พี่น้องตรากตรำต่อสู้บางคนล้มละลาย ถูกยึดบ้าน ครอบครัวเกิดปัญหา ดังนั้นการติดคุกกับล้มละลายจึงเป็นสิ่งคู่กัน ที่เล่าให้ฟังถึงวันพรุ่งนี้ (26 มิ.ย.) คือบางครั้งสิ่งที่เกิดกับตนเองจะรู้สึกน้อยกว่าเสมอ แต่ความรู้สึกที่เกิดกับคนอื่นแล้ว จิตใจจะพะวงมากกว่า จึงหวังว่า พรุ่งนี้ (26 มิ.ย.) พี่น้องแต่ละคนจะได้รอดพ้นจากชะตากรรมนี้"

ย้อนชั้นอุทธรณ์พิพากษาจำเลยบุกบ้านป๋า ก่อความวุ่นวาย

สำหรับคดีพนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายนพรุจ หรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน นายวันชัย นาพุทธา , นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. ,นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-7 ในคดีหมายเลขดำ อ.3531/2552 ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ฯ ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้า หรือผู้มีหน้าที่สั่งการ , ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเลิกไปแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง , 215 , 216 , 297 , 298 ประกอบมาตรา 33 , 83 , 91

กรณีสืบเนื่องจากวันที่ 22 ก.ค. 2550 แกนนำและแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน จากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ สนามหลวง ไปยังบ้านสี่เสาเทเวศร์ บ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งระหว่างเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ ซึ่งนายนพรุจ จำเลยที่1 ได้ใช้ ไม้เสาธง ตีประทุษร้ายร่างกาย ร.ต.อ. ทวีศักดิ์ นามจันทร์เจียม เป็นเหตุให้กระดูกข้อมือแตกเป็นอันตรายสาหัส

ซึ่งศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาเดือน ม.ค. 2560 ว่า 4 แกนนำ นปช.ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 4-7 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ ตามมาตรา 138 วรรคสอง ให้จำคุกคนละ 1 ปี และมีความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายโดยเป็นหัวหน้าสั่งการ ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามมาตรา 215 วรรคหนึ่งและวรรคสาม , มาตรา 216 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 215 วรรคสาม ให้จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4-7คนละ 2 ปี 8 เดือน

ส่วนของ นายนพรุจ อดีตแกนนำพิราบขาว จำเลยที่ 1 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยโทษจำคุกทั้งหมดนั้นไม่รอการลงโทษ (ไม่รอลงอาญา) ซึ่งจำเลยทั้ง 5 คนได้ยื่นฎีกาสู้คดี และได้ประกันตัวระหว่างฎีกาคนละ 500,000 บาท พร้อมถูกกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาต

โดยคดีเคยนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาครั้งแรก วันที่ 31 ก.ค. 2562 แต่ขณะนั้นมีจำเลยบางคนป่วย กระทั่งนัดอ่านครั้งที่สอง วันที่ 23 ก.ย. 2562 ก็ปรากฏว่า นายวีระกานต์, นายณัฐวุฒิ, นายวิภูเเถลง และนพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 ได้ยื่นคำร้องขอถอนคำให้การเดิมที่เคยปฏิเสธความผิด และขอต่อสู้คดี เป็นยื่นคำให้การใหม่ขอให้การรับสารภาพไม่ต่อสู้คดี ส่วนนายนพรุจ จำเลยที่ 1 ยังคงยืนยันให้การปฏิเสธ จึงต้องส่งสำนวนกลับไปให้ศาลฎีกาพิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป

และเมื่อนัดอ่านคำพิพากษาฎีกาครั้งที่ 3 ในวันที่ 6 ก.พ. 2563 ก็ปรากฏว่านายนพรุจ จำเลยที่ 1 ได้ย้ายที่อยู่ จึงไม่สามารถส่งหมายนัดให้ได้ ศาลอาญาจึงกำหนดอ่านคำพิพากษาฎีกาครั้งที่ 4 มาเป็นวันที่ 30 เม.ย. 2563 จนล่าสุด ศาลอาญา ได้เลื่อนนัดการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้ ออกไปเป็นวันที่ 26 มิ.ย.63 เวลา 09.00 น.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง