ไม่พบผลการค้นหา
เสียงเรียกร้อง ‘ม็อบชาวนา’ หลังปักหลักยาวหน้า ก.การคลัง-เกษตรฯ วอนรัฐบาลแบ่งเบาภาระหนี้สิน โวยเรื่องค้างที่ ครม. นานเป็นปี เกษตรกรโอดราคาข้าวสวนทางกับต้นทุน ยืนยันไม่กลับจนกว่าเรื่องจะเดิน เผยชาวนาทั่วประเทศพร้อมไหลมาสมทบ

วันที่ 5 ก.พ. 2565 ‘วอยซ์’ ลงพื้นที่ฟังเสียงสะท้อนจากเกษตรกรใน ‘ม็อบชาวนา’ ที่เดินทางจากหลากหลายจังหวัดทั่วประเทศไทยจำนวนหลายร้อยคน มาปักหลักชุมนุมต่อเนื่องบริเวณหน้ากระทรวงการคลัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่ล้นท่วมตัว

ที่หน้ากระทรวงการคลัง ถนนพระรามที่ 6 เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ปักหลักกางมุ้งและเต็นต์อยู่บริเวณริมถนนใต้ทางพิเศษศรีรัชมาตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. จนถึงขณะนี้ต่อเนื่องกันเป็นวันที่ 13 แล้ว เพื่อเฝ้ารอให้ข้อเรียกร้องของเครือข่ายเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากค้างคามาเป็นเวลากว่า 2 ปี โดยทางเครือข่ายขอให้เร่งดำเนินการโอนหนี้สินของเกษตรกรเข้าสู่กระบวนการจัดการหนี้สินของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เพื่อแบ่งเบาภาระทางการเงินของเกษตรกรที่กำลังยากลำบาก


เรียกร้องรัฐบาลโอนหนี้เข้า กฟก. แบ่งภาระหนี้เกษตรกรคนละครึ่ง

ปิ่นแก้ว แก้วสุขแท้ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ และเกษตรกรจาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระบุว่า ใน พ.ร.บ. กำหนดให้สำนักงาน กฟก. มีหน้าที่สนับสนุนภาระหนี้สินของเกษตรกรผู้เป็นสมาชิก กฟก. และมีแผนเสนอรายชื่อของเกษตรกรเข้าเสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขายหนี้ของเกษตรกรลูกหนี้ไปให้ กฟก. ซึ่งจะตัดดอกเบี้ยและลดเงินต้นลง 50% อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนดังกล่าวยังไม่ได้เข้าสู่ที่ประชุม ครม.

“ตอนนี้เราถอยไม่ได้แล้ว เพราะถ้าถอยไปจะไม่มีบ้านช่องที่อยู่อาศัยแล้ว เพราะบางคนเป็นหนี้มากว่า 20-30 ปี ซึ่งเจ้าหนี้ก็ผ่อนผันมาให้โดยตลลอด ก็ต้องยอมรับว่าเจ้าหนี้ก็เห็นใจเกษตรกร ถ้าอยู่ตรงนี้ดอกเบี้ยขึ้นทุกวันจนแทบจะชนเพดานแล้วเพราะเป็นหนี้เสีย แต่ถ้าโอนหนี้ไปอยู่ กฟก. จะไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีค่าปรับ ทำสัญญาระยะยาว 15-20 ปี พวกเราก็ยังพอได้หายใจ ภาระก็น้อยลง ตอนนี้ภาระเรื่องนี้ทุกคนเป็นทุกข์ว่าจะไม่มีที่อยู่ที่กิน” ปิ่นแก้ว กล่าว

สำหรับการเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ ปิ่นแก้ว ระบุว่า ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2546 แต่ประเด็นนี้ก็ไม่ค่อยเดินหน้าเนื่องจากมีการเปลี่ยนรัฐบาล จนถึงปัจจุบันมีการรัฐประหารและเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีบ่อยครั้ง เมื่อเริ่มจะตั้งหลักได้ก็เปลี่ยนรัฐบาลอีก ทำให้กระบวนการไม่คืบหน้า ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง โดยตนมองว่าถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา และไม่มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยๆ ก็คงสามารถคลี่คลายความเดือดร้อนได้ภายในไม่เกิน 4-5 ปี แต่สถานการณ์เช่นนี้บีบให้พวกตนต้องต่อสู้ในระยะยาว


เกษตรกรทุกข์หนัก หนี้พอกพูนหลายสิบปี ราคาข้าวสวนทางราคาปุ๋ย

บุญมีสุข ทวีรัตน์ เกษตรกรจาก จ.กำแพงเพขร เป็นหนึ่งในผู้มาปักหลักร่วมกับเครือข่ายฯ ตั้งแต่วันแรก แม้จะมีหลายคนบอกให้ตนกลับไป เพราะเกรงว่าจะลำบากหรือติดเชื้อโควิด-19 แต่ตนยืนยันว่าจะไม่กลับ และจะขอสู้จนกว่าจะแน่ใจว่าข้อเรียกร้องของเครือข่ายฯ จะเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าทางตัวแทนเครือข่ายฯ จะได้เจรจากับ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ รัฐมนตรีว่ากรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันที่ 8 ก.พ. นี้

“เอาหนี้มาไว้ที่ กฟก. จะสะดวกกว่าไว้ที่ ธ.ก.ส. กลัวว่าถ้าไม่ได้ส่งหนี้ เขาจะมายึดที่นา สถานการณ์ที่นาก็มีใบแจ้งหนี้มาเรื่อยๆ มีดอกเบี้ยมาตอนนี้ปีละเป็นแสนแล้ว จุดนี้ยังดีหน่อยที่ยังไม่ต้องส่งดอก ก็กลัวเหมือนกันว่าจะไม่ได้มีไร่นาไว้ให้ลูกหลาน” เกษตรกรจาก จ.กำแพงเพชร กล่าว

เมื่อถามถึงที่มาของหนี้สินเกษตรกรที่พอกพูนมาหลายปีว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร บุญมีสุข ระบุว่า เป็นหนี้ที่สะสมมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งยุคนั้นถือว่าราคาข้าวดี แต่หลังเปลี่ยนรัฐบาล ราคาข้าวกลับตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับต้นทุนที่สูงอย่างมาก ทั้งราคาปุ๋ยและอุปกรณ์ ประกอบกับต้องกู้เงินมาเพื่อใช้หนี้ ธ.ก.ส. ทำให้หนี้เพิ่มพูนขึ้นมาเรื่อยๆ จึงอยากให้ภาครัฐช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สิน แค่เพียงครึ่งทาง ไม่ต้องทั้งหมดก็ได้

เช่นเดียวกับ วิเชียร ควรเอี่ยม อดีตผู้ใหญ่บ้าน และเกษตรกรจาก จ.ฉะเชิงเทรา ที่เผยว่าอาชีพชาวนากำลังอยู่ในจุดตกต่ำที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา เนื่องจากแนวคิดของรัฐบาลที่เน้นอุ้มชูภาคอุตสาหกรรม แทนที่จะช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นผลผลิตหลักของประเทศ รายได้ส่วนใหญ่ตกไปอยู่ที่พ่อค้าคนกลางและโรงสีข้าว โดยไม่มาถึงเกษตรกรรายย่อยเลย ส่งผลให้อาชีพชาวนาถูกมองว่ายากจน ทำเท่าไหร่ก็มีแต่ขาดทุน ไม่เคยกำหนดราคาขายของผลผลิตเองได้ 


ม็อบชาวนาเตรียมสบทบหน้า ก.เกษตร ยืนยันไม่กลับจนกว่าเรื่องจะเดิน

ตัวแทนเกษตรกรจาก จ.สิงห์บุรี เผยว่า พวกตนเดินทางมาสมทบในนามกลุ่มเพื่อนเกษตรกรสยาม โดยได้มาปักหลักอยู่ที่บริเวณหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ถนนราชดำเนิน มาเกือบสัปดาห์แล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค. ประกอบไปด้วยเกษตรกรจากภาคกลางเป็นหลัก เช่น ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และมีข้อเรียกร้องร่วมกับเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทยคือ ขอให้นำรายชื่อเกษตรกรสมาชิก กฟก. เสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. และยืนยันเช่นกันว่าจะไม่กลับจนกว่าจะรู้ผลแน่ชัด

นอกจากนี้ ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรสยาม ยังกล่าวว่า หากเรื่องยืดเยื้อ อาจจะถึงจุดที่เกษตรกรทั้งประเทศทนไม่ไหว และลุกฮือขึ้นพร้อมกัน ขณะนี้เกษตรกรหลายจังหวัดก็พร้อมออกมาชุมนุมเรียกร้องแล้ว เนื่องจากประสบปัญหากันอย่างถ้วนหน้า พร้อมทั้งเผยว่า ภายในช่วงเย็นวันพรุ่งนี้ (6 ก.พ.) จะมีกลุ่มเกษตรกรจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามมาสบทบบริเวณกระทรวงเกษตรฯ เพิ่มเติมอีก