นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า ตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่ากรรมการสรรหา ส.ว. ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้และประสบการณ์ด้านต่างๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง แต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช. และยินยอมให้พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เมื่อพิจารณาแล้ว พลเอกประยุทธ์จึงไม่มีความเป็นกลางทางการเมือง เมื่อหัวหน้า คสช. ไม่มีความเป็นกลางทางการเมืองและยังดำรงตำแหน่งอยู่ ทำให้คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ไม่มีความเป็นกลางทางการเมืองไปด้วย ทั้งที่กรรมการสรรหา ส.ว. ควรเป็นผู้มาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ หรือเป็นอดีตข้าราชการ แต่กลับกลายเป็นว่า คสช. ล้วงบุคคลจากหลังบ้านของ คสช.เองมาเป็นกรรมการสรรหา ส.ว. ซึ่งกรรมการสรรหาอาจไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 269(1)
ขณะเดียวกันยังมีการสรรหาบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับ คสช. ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีความเป็นกลางจริงหรือไม่ และที่หนักที่สุดคือกรรมการสรรหาฯ ได้สรรหาตัวเองให้เป็น ส.ว. ซึ่งถือเป็นประโยชน์ทับซ้อนอย่างชัดเจน โดยรายชื่อของกรรมการสรรหาฯ ไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ มีเพียงข่าวที่เล็ดลอดออกมาตามสื่อและ social media ว่ามีบุคคลในคณะ คสช. 3-4 คนมีชื่อเป็น ส.ว. ด้วย
นายธีระชัย กล่าวต่อว่า ข้ออธิบายของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ได้เสนอตัวเอง อาจเป็นการเสนอในช่วงที่บุคคลนั้นไม่อยู่ในห้องประชุมชั่วคราว หรือไม่เจ้าตัวก็ไม่ได้ออกเสียงในที่ประชุม แต่ให้บุคคลอื่นเสนอชื่อแทน ซึ่งมีลักษณะเหมือนการกระทำที่เกิดขึ้นในบริษัทจำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหุ้นนั้น ในกรณีของบริษัทจำกัดสามารถกระทำได้อยู่แล้ว แต่กรณีการสรรหา ส.ว. ของ คสช. นั้นไม่สามารถทำได้ ไม่สามารถนำหลักปฏิบัติในการประชุมคณะกรรมการของบริษัทจำกัดมาใช้ได้ เพราะกลุ่มคนที่เข้ามา ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่เคยปฏิวัติด้วยกันมา กลุ่มนี้จึงมีความผูกพัน มีความรับผิดชอบที่จะต้องดูแลกันมาตั้งแต่วันแรกที่มีการปฏิวัติ เป็นกลุ่มก้อน เป็นพรรคพวกที่แยกกันไม่ออก จึงไม่มีบุคคลใดในคณะ คสช. ที่จะถือได้ว่าเป็นกรรมการอิสระ เหมือนกับกรรมการตรวจสอบในบริษัทจำกัดได้
คำอธิบายของนายวิษณุจึงเป็นคำอธิบายที่นำมาใช้ผิดประเภท เป็นคำอธิบายที่เหมาะกับการบริหารจัดการบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ แต่กับการบริหารจัดการของ คสช. ไม่สามารถใช้ได้ กรณีนี้จึงมีความเสี่ยงทั้งคุณสมบัติของกรรมการสรรหา ส.ว. และการที่กรรมการสรรหาไปเลือกตัวเอง หรือให้บุคคลอื่นเลือกให้เป็น ส.ว. การกระทำลักษณะเช่นนี้อาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรร���นูญ ส่วนตัวจึงได้ทำหนังสือคำร้องส่งไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินให้วินิจฉัยตรวจสอบในวันนี้ โดยส่งผ่านทางไปรษณีย์เป็นไปรษณีย์ตอบรับ
นายธีระชัย ยังเรียกร้องให้เปิดเผยรายชื่อกรรมการสรรหา ส.ว. โดยเร็วที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามหลักการบริหารบ้านเมืองที่ยึดหลักธรรมาภิบาล เพราะทั้งหมดเป็นกระบวนการที่มีผลต่อสาธารณะ ประกอบกับที่ผ่านมากระบวนการสรรหาเกิดความลับลมคมใน ส่อให้เห็นถึงการไม่นำพาต่อหลักธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง ซึ่งควรมีการแก้ไขโดยเร่งด่วน
นายธีระชัย ยังกล่าวถึงความพยายามในการร่วมกันปิดสวิตช์ ส.ว. ว่า มีเงื่อนไขสำคัญว่าพรรคการเมืองต่างๆต้องรวบรวมเสียงให้ได้เกิน 376 เสียง หาก ส.ส. สามารถจับมือร่วมกันได้จะเป็นการปิดสวิตช์ ส.ว. โดยอัตโนมัติ แต่ปัญหาขณะนี้คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังไม่ยอมจับมือกัน ซึ่งโดยส่วนตัวคิดว่าอาจจะถึงเวลาแล้วที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ อาจต้องร่วมมือกันเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง จากนั้นจึงจะมีการปฏิรูปเพื่อประชาชนส่วนรวม โดยทั้งสองพรรคต้องลืมอดีตและกลับมาร่วมมือกันเฉพาะกิจในบางอย่างที่เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี แม้มีนโยบายที่แตกต่างกัน แต่อาจร่วมมือกันได้ในบางเรื่องบางกรณี โดยหาจุดที่ดีที่สุดสำหรับประเทศและประชาชนโดยรวม เพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา
นายธีระชัย ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังแสดงความเป็นห่วงว่า หากพลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียงของรัฐบาลที่ปริ่มน้ำ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาลเอง โดยจะมีความเชื่อมั่นเกิดขึ้นน้อย เพราะขาดเสถียรภาพ ขณะเดียวกันหากรัฐบาลมีเสียงมากก็จะเกิดผลเสียตามมาเช่นกัน เพราะนโยบายทางเศรษฐกิจไม่ได้นำประชาชนมาเป็นศูนย์กลาง การดำเนินการในโครงการต่างๆเน้นให้ประโยชน์กับนักธุรกิจนายทุนทั้งไทยและต่างชาติมากเกินไป เน้นตัวเลข GDP มากเกินไป เน้นผลที่จะเกิดต่อตลาดหุ้นมากเกินไป ทำให้ประชาชนโดยรวมไม่ได้รับอานิสงส์จากการบริหารเศรษฐกิจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเท่าที่ควร
หากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจโดยนำประชาชนเป็นศูนย์กลาง เน้นผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก คะแนนเสียงของพรรคการเมืองที่ประกาศสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ต้องได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นแล้ว และถึงแม้พลเอกประยุทธ์ไม่ลงสมัครในพรรคการเมืองใด เมื่อเลือกตั้งเสร็จก็จะมีประชาชนเรียกร้องให้เชิญพลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะนโยบายทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากได้จริง แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาการบริหารทางเศรษฐกิจของรัฐบาล คสช. กับเป็นโครงการที่เพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชน โดยเฉพาะการใช้มาตรา 44 เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนโทรคมนาคม ทำให้ประชาชนคนไทยเสียประโยชน์ ทำให้ประชาชนไม่สบายใจ ดังนั้น การที่รัฐบาลจะมีคะแนนปริ่มน้ำ เสถียรภาพก็ไม่ดี นักธุรกิจก็กังวล การลงทุนจะไม่มากเท่าที่ควร และถ้าคะแนนมามาก แต่แนวนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ยังเหมือนเดิม ก็จะยิ่งไปกันใหญ่