ไผ่ พงศธร ศิลปินลูกทุ่งขวัญใจมหาชน ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว ‘วอยซ์ออนไลน์’ รู้สึกสลดใจที่เห็นข่าวประชาชนฆ่าตัวตาย ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบให้การดำเนินเป็นไปด้วยความยากลำบาก หลายคนตกงานไม่มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว นอกจากเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสแล้ว ยังต้องดิ้นรนต่อสู้กับวิกฤตปากท้อง อยากให้ผู้มีอำนาจเร่งให้การช่วยเหลือเยียวยาทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อนให้ทันท่วงที
“มีเงินเดือนก็ยังมีเงินมาจุนเจือครอบครัวบ้าง แต่ไม่มีเงินเลย แล้วต้องโดนกักตัวอยู่บ้านไม่มีงานทำ ต้องรอเงินทางรัฐบาลมาช่วยเหลือ แต่ว่าวันนี้หลายคนก็ไม่ได้ หลายคนก็ได้ อยากให้มีคนลงไปสำรวจเลยว่าคนมันเดือดร้อนแบบไหน หรือถ้าเป็นไปได้ก็เร่งช่วยเหลือ รอลงทะเบียนแล้วไปคัด คนที่เขาเดือดร้อนจริงๆ บางคนก็ไม่ไหวรอไม่ได้ อย่างเกษตรกร คนหาเช้ากินค่ำ ก่อสร้าง รปภ. ทำงานห้างทุกอย่างหยุดหมด อยากให้ช่วยเหลือทุกอาชีพ ไม่ได้เลือกว่าลงทะเบียนแล้วไปคัดสรรมันคัดไม่ได้หรอกครับ มันเดือดร้อนหมด ทุกคนต้องการเงินช่วยอย่างเดียวไหม ไม่หรอกครับแต่ว่ามันเดือดร้อน ต้องการสิ่งนั้นมาจุนเจือเพื่อรอการทำงาน”
“อยากเห็นการช่วยเหลือให้มันเร็ว เพราะคนรอ รอไม่ได้นะครับ หนึ่งวันเราก็หิวแล้ว สองวันเราก็หิวแล้ว ถ้าเกิดเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน สองเดือน ล่ะครับ คิดดูว่าคนที่ไม่มีสุดท้ายก็จบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ก็สงสารหลายคนที่โดนตัดขาดกับทุกๆ อย่างนะครับ ไม่มีรายได้สักบาทเข้ามาในชีวิตเลย บางคนก็อย่างที่เราเห็นข่าวคือต้องฆ่าตัวตายเห็นแล้วสลดใจ เห็นแล้วรู้สึกว่านี่มันคืออะไร บางคนไม่มีทางเลือกจริงๆ เพราะว่าปัญหามันเกิดขึ้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้มันลำบากไปหมด คนเราเวลาไม่มีทางออกทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้เสมอ ยังไงผมก็อยากให้ทุกคนมีสติ สิ่งที่เราทำได้คือส่งกำลังใจให้กัน ตอนนี้ก็ภาวนาอย่างเดียวว่าอยากให้เหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติเร็วๆ นี้”
เจ้าของเสียงร้องเพลงดังหลายเพลง ที่มีเนื้อหาสะท้อนชีวิตการต่อสู้ และให้กำลังใจคนชนบทที่เข้ามาทำมาหากินในชุมชนเมือง อาทิ คนบ้านเดียวกัน, ฝนรินในเมืองหลวง, คำสัญญาของหนุ่มบ้านนอก ฯลฯ บอกต่อว่า การต่ออายุเคอร์ฟิวออกไป ตนเข้าใจรัฐบาลมีความต้องการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็แอบห่วงบางคนจะอดตายไม่ได้ โดยเฉพาะคน ว่างงาน คนใช้แรงงาน ลูกจ้างรายวันที่ยังไม่สามารถกลับไปทำงานได้ เนื่องจากนายจ้างมีความจำเป็นต้องปิดกิจการชั่วคราว นับว่าเป็นกลุ่มคนที่น่าเห็นใจ เมื่อไม่ได้ทำงานไม่มีรายได้ จะเอาเงินที่ไหนไปซื้อข้าวซื้อน้ำซื้ออาหารมาประทังชีวิต
“ประกาศเคอร์ฟิวไปเรื่อยๆ แบบนี้จะอยู่ได้ไหม ผมว่า 100 เปอร์เซ็นต์อยู่ไม่ได้แน่นอน เนื่องจากต้องกินต้องใช้ เราหยุดอยู่บ้านแล้วเราไม่มีรายได้ ถ้าใช้เงินเก่าหมด หมดแล้วจะทำยังไงต่อก็ต้องคิด ท้องก็หิวทุกวัน ไม่ใช่อิ่มเสร็จปุ๊บ แล้วไม่ต้องกินยาวเป็นเดือนๆ เป็นปีๆ ไม่ใช่นะครับ ก็ต้องหาเพื่อปากท้องเพื่อคนรอบข้าง มีพ่อ มีแม่ มีลูก มีแฟน เราไม่กินคนเดียวก็ไม่เป็นไร แต่แฟนเราล่ะ ทุกคนต่างดิ้นรนหมด มันทรมานครับ หนึ่งไม่มีกิน สองร่างกายมันอ่อนเพลียลงเรื่อยๆ นะครับสมมติถ้าเราไม่ได้กินข้าวสัก 1 ชั่วโมงเราก็อยู่ได้ ถ้าเป็นวันละครับ สองวัน สามวัน คนเราจะมีความอดทนถึงขนาดไหน ร่างกายต้องการพลังงานที่จะใช้ชีวิตทุกวัน แล้วทุกวันนี้ผมเชื่อว่าของมันไม่ได้มาฟรีๆ นะครับ ของกินก็ต้องซื้อ แล้วเงินจะเอามาจากไหนเมื่อเราไม่ได้ทำงาน”
ส่วนตัวเชื่อว่า ทุกคนรักสุขภาพกลัวจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่เรื่องปากท้องก็เป็นเรื่องสำคัญ คนไม่มีเงินอาจจะอยู่ได้ ถ้าอยู่ในที่ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน เช่นอยู่ต่างจังหวัด มีข้าว มีปลาร้า มีมะละกอ มีปลาให้จับนำมาทำอาหาร แต่ถ้าในชุมชนเมืองทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ถ้าไม่ทำงานไม่มีเงิน นอนรอความหวังอย่างเดียวอดตายแน่นอน
“เข้าใจอยู่ว่าถ้าเกิดปล่อยคนกลับมาทำงานอาจจะสุ่มเสี่ยง บางอาชีพอาจทำให้คนติดเชื้อมากขึ้น เขาต้องตัดปัญหา ก็ต้องเข้าใจเขาเข้าใจเรา แต่ว่าปัญหาปากท้องตอนนี้มันเดือดร้อนนะครับ ไม่มีงานทำก็ไม่มีเงินใช้ ก็ไม่รู้จะไปซื้อกับข้าวยังไง โล่งใจกับการที่ไม่นำเชื้อไปติดกับครอบครอบครัว แต่ว่าถ้าเลือกมันไม่มีสำหรับคนจน คนที่ต้องใช้ชีวิต ใช้แรงงาน ถ้าพูดถึงว่าดูแลสุขภาพก่อนค่อยหาเงินก็ได้ มันทำได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง สั้นๆ ทำได้ แต่ถ้าเกิดมันต้องใช้เวลานานคนจะอยู่ยังไง อยู่ยังไงล่ะถ้าไม่มีเงิน นอนอย่างเดียวตายสิครับ อดตาย ค่าไฟล่ะ ค่าน้ำล่ะ เงินจะส่งบ้านก็ยังไม่มี เงินสำหรับเยียวยายตัวเองก็ยังไม่มี”
นักร้องหนุ่มชาว จ.ยโสธร บอกอีกว่า สำหรับอาชีพศิลปินอย่างตน แม้มีเงินเก็บแต่ก็มีภาระต้องรับผิดชอบ ที่ผ่านมาหลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ถูกยกเลิกงานคอนเสิร์ต ยังจ่ายเงินเดือนให้กับลูกน้องทีมงานเดินสายคอนเสิร์ตไม่เคยขาด เพราะคนเหล่านี้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับตนมายาวนาน จะมาทอดทิ้งกันยามยากตนทำไม่ได้ ซึ่งนี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กลับมาขายลาบกับพี่สาวและพี่เขย ที่ร้านลาบจิ้มจุ่มตนบ้านเดียวกัน ย่านแยกลำกะโหลก ซ.รามอินทรา 109 เป็นการนับหนึ่งใหม่กับการใช้ชีวิต เพื่อให้มีรายรับเข้ามาบ้าง และกระจายรายได้ช่วยเหลือลูกน้อง ทีมงาน หักเปอร์เซ็นต์ให้ จากการนำอาหารไปส่งลูกค้าที่สั่งเดลิเวอรี่ เพื่อให้ทุกคนอยู่ได้ในช่วงที่ว่างจากการเดินสาย
หลังจากเปิดร้านมาตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยปรับเวลาเปิดร้านจากที่เคยเปิดช่วงเย็น เป็นเวลา 12.00-21.30 น. เพื่อให้เหมาะสมกับเคอร์ฟิว มีลูกค้าประจำและแฟนคลับที่ทราบข่าวจากประชาสัมพันธ์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว มาสั่งอาหารอีสาน อาทิ ส้มตำ ลาบ ก้อย น้ำตก ต้มแซ่บ คอหมูย่าง ฯลฯ ใส่ถุงกลับบ้าน แต่ยอดขายก็ตกลงไปจากช่วงค้าขายก่อนมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่วนหนึ่งคิดว่ามาจากการที่คนอยู่บ้านระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เพราะไม่สามารถคาดเดาได้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะยุติเมื่อไหร่ หรือยืดเยื้อออกไปยาวนานแค่ไหน จำเป็นต้องวางแผนการใช้เงิน เพื่อให้มีไว้ใช้ดำรงชีวิต ดูแลครอบครัวให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้
“มันเหมือนเรามาตั้งต้นชีวิตใหม่ ปกติเราตื่นขึ้นมาก็ไปทำงานใช่ไหมครับ แต่ปีนี้มันหนักจนรู้สึกว่าเราจะใช้ชีวิตยังไงต่อไป ทุกอาชีพ ทุกคน ไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่มันเกิดขึ้นคือโควิด-19 ถามว่าวันนี้ผมกลัวไหม กลัวนะครับ แต่ว่ามันต้องใช้คนเราต้องกินทุกวัน ก็ต้องมาขายลาบทำสิ่งที่เราเคยทำเพื่อเลี้ยงดูตัวเองในช่วงระยะเวลาที่มันเกิดปัญหาแบบนี้ แต่ก่อนก็ยังคิดว่าตอนไหนจะได้กลับไปร้องเพลง ไปพบแฟนเพลง ตอนนี้เริ่มคิดแล้วว่าเราจะอยู่ได้ไหม ใช้อย่างเดียวโดยที่ไม่หามันหมดนะครับ ค่าใช้จ่ายเท่าเดิมแต่ว่ารายได้ไม่มี มันอยู่ไม่ไหวครับ มันก็ไม่ได้เหมือนเดิมครับ ดูง่ายๆ จากการลงของหน้าตู้น้อยลง ไม่รู้ว่าจะน้อยลงกว่านี้อีกหรือเปล่า การต่อสู้ตรงนี้คือทำเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง คนจะมีกำลังซื้ออีกไหมหรือเป็นยังไงต่อ สิ่งที่มันเกิดขึ้นบ่งบอกได้ว่า ตอนนี้ทุกอย่างมันกำลังหยุด กำลังซื้อของคนไม่มี ไม่มีงานทำไม่มีเงินเดือน เงินที่เก็บไว้มันเริ่มลดลง การใช้จ่ายเริ่มลดลง ไม่มีที่จะไปจ่ายไม่มีไปซื้อกับข้าว”