ไม่พบผลการค้นหา
"ผมจะต้องทำให้รัฐบาลเลือกตั้งวันหน้า ทำให้ได้อย่างที่ผมทำ" 7 ปีรัฐประหาร สถาปนาระบอบ คสช. ระบบ 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา' แบบอยู่ยาวๆ

เวลาประมาณ 17.00 น. วันที่ 22 พ.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น พร้อม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. และ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รอง ผบ.สส. ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ

"ตามสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ กทม. เขตปริมณฑล และพื้นที่ต่างๆ ของประเทศในหลายพื้นที่เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวจนอาจจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวม เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเขาสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรักความสามัคคีเช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวกทุกฝ่าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 เวลา 16.30 น. เป็นต้นไป"

รัฐประหาร คสช ประยุทธ์ 9D1305F6-F802-43C0-AA0B-FC660C83EECB.jpeg

แต่หากย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะมีการยึดอำนาจ ท่าทีของ ผบ.ทบ.ที่ชื่อ 'ประยุทธ์' ก็แบ่งรับแบ่งสู้ถึงการรัฐประหารมาโดยตลอด

“เหมือนกับผมกำลังนำกองทัพเดินไปบนเส้นทางหนึ่ง ซึ่งเส้นทางข้างหน้า คือ ประเทศชาติ ความสงบสุขยังต้องเดินไปอยู่ ประเทศชาติต้องการการยอมรับ และถนนนี้เป็นเส้นทางตรงที่ต้องก้าวไปข้างหน้า ผมพร้อมนำพาชาติและประชาชนไปข้างหน้าให้ได้"

"วันนี้เหมือนเดินไปเจอทางแยก และทางตรงนี้อาจจะไกลหรือไปได้ยาก แต่ผมจะไปซ้ายหรือขวาไม่ได้ ผมจะต้องทำอย่างไร เพื่อให้ซ้ายและขวาหยุดไว้ให้ได้ โดยต้องเปิดไฟแดงไว้ทั้ง 2 ทาง และเราไปทางตรงก่อน เพื่อให้สถานการณ์สงบลง และผ่านชั่วโมงเร่งด่วนนี้ไป อย่ามากล่าวหาว่า ผมไม่รักด้านซ้ายหรือด้านขวา เราไม่มีซ้ายและขวา มีแต่ข้างหน้าและคนตามข้างหลังอีกจำนวนมาก ดังนั้นเราต้องพยายามนำพาทั้งหมดไปให้ได้ด้วยความปลอดภัย นั่นคือหลักการของผม"

ประยุทธ์ คสช รัฐประหาร อัยการศึก kg9834074.jpg

เป็นวาทะเมื่อครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะนั่งเก้าอี้ ผบ.ทบ.กล่าวไว้เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2556 ในช่วงที่สถานการณ์การเมืองไทยกำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 2557

ภายหลัง 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนผ่านกลไกการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2556 ท่ามกลางความตึงเครียดนอกสภาฯ ภายใต้การชุมนุมของม็อบ กปปส. ที่นำโดย 'สุเทพ เทือกสุบรรณ' ที่ประกาศไม่ต้องการการเลือกตั้ง

22 พ.ค. 2557 ประเทศไทยต้องพบเจอกับการรัฐประหารครั้งล่าสุดด้วยการทุบโต๊ะประกาศยึดอำนาจกลางวงเจรจาคู่ขัดแย้ง พล.อ.ประยุทธ์ สถาปนาตัวเองเป็น 'รัฏฐาธิปัตย์' ผ่านการเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจยิ่งใหญ่ ล้มล้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

ปฐมบทการก่อร่างสร้างอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แบบอยู่ยาวๆ จึงเกิดขึ้นนับแต่วินาทีนั้น

21 ส.ค. 2557 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ คสช.ตั้งขึ้นมากับมือ ได้มีมติเห็นชอบเอกฉันท์เลือก พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นแท่นเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 29

ปี 2558 หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในอำนาจมา 1 ปี เขาได้อาศัยกลไกสืบทอดอำนาจคณะรักษความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 จัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แล้วใช้มติของ สปช. 135 เสียงลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น ส่งผลให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่สามารถนำไปใช้ได้

จากนั้น 5 ต.ค. 2558 คสช.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดที่มี 'มีชัย ฤชุพันธุ์' เป็นประธานดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งที่สองต่อจาก 'บวรศักดิ์'

กรธ.ใช้เวลาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจนเสร็จสิ้น และนำไปสู่การลงประชามติ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 เสียงส่วนใหญ่ 16 ล้านเสียงต่อ 10.5 ล้านเสียงเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

ในประเด็นเพิ่มเติมคำถามพ่วง จะเห็นชอบหรือไม่ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี พบว่าเสียงเห็นชอบ 15 ล้านเสียง ต่อ 10.9 ล้านเสียง

มีชัย ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 000_961O6.jpg

รัฐธรรมนูญฉบับถาวรถูกประกาศใช้ 6 เม.ย. 2560 ท่ามกลางเสียงท้วงติงว่าเป็นการปูทางสืบทอดอำนาจให้กับ คสช.ผ่านบทเฉพาะกาลด้วยกลไกของ ส.ว.250 คนที่มาจาก คสช.ให้การเลือกนายกรัฐมนตรีใน 5 ปีแรกนับแต่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญให้การเห็นชอบบุคคลมาเป็นนายกฯ ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา

ในช่วงสวมบทบาท หัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ มักปฏิเสธอยู่หลายครั้งไม่ต้องการมาเป็นนายกฯ คนนอกในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

"ใครจะเข้ามาก็ต้องพยายามไม่ให้เกิดขึ้นอีก หากเกิดสถานการณ์เหมือนเดิมอีก ก็ไม่เกี่ยว กลับบ้านแล้ว เรื่องทุกอย่างขึ้นอยู่กับทุกคน ไม่ต้องมากลัวนายกฯ คนนอก ผมไม่เป็นแน่นอน" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุเมื่อ 17 ก.ย. 2558

"ฝ่ายการเมืองไม่ต้องระแวงผมหรอกครับ บอกกันตลอดว่าผมจะอยู่ในอำนาจต่อ แต่บอกไว้ว่าถ้าไม่สงบเรียบร้อยผมก็ต้องอยู่ เอาอย่างนี้ไหมจะได้พูดกันให้รู้เรื่องเสียที อยู่ที่พวกท่านนั่นแหละ ถ้าไม่เลิกกันก็อยู่อย่างนี้ ปิดประเทศก็ปิดกันไป" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุเมื่อ 28 ต.ค. 2558 ชี้แจงต่อที่ประชุมร่วมแม่น้ำ 5 สาย

พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเผชิญกับคำถามที่วนเวียนพุ่งเข้าหาด้วยคำถามที่ว่า จะลงเล่นการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจในอนาคตหรือไม่ รวมไปถึงคำถามเรื่องที่ คสช.จะจัดตั้งพรรคทหารเพื่อปูทางสืบทอดอำนาจ คสช.

3 ต.ค. 2560 ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว พล.อ.ประยุทธ์ เลือกใช้เวทีที่สหรัฐอเมริกา กล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงอาหารค่ำสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน และสภาหอการค้าสหรัฐฯ ณ กรุงวอชิงตัน โดยย้ำว่า "ผมไม่ได้ทำเพื่อตัวผมเลย ผมทำเพื่อคนไทย"

"สิ่งเหล่านี้ผมต้องทำให้เกิดความแตกต่างให้ได้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผมจะต้องทำให้รัฐบาลเลือกตั้งวันหน้า ทำให้ได้อย่างที่ผมทำ"

ประยุทธ์ สหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ 040200.JPG

หลังรัฐธรรมนููญ พ.ศ.2560 ประกาศใช้ กระบวนการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศใช้ ทำให้ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใน 150 วัน

กว่าจะเคาะวันเลือกตั้งก็มีกระบวนการเลื่อนเลือกตั้งอยู่หลายครั้ง เพราะด้วยการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ยังไม่แล้วเสร็จ ยังไม่นับรวมเทคนิคที่มีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 'บวรศักดิ์' เมื่อปี 2558

การเลือกตั้งต้องถูกขยับออกไปหลายครั้ง เดิมทีจะประกาศเลือกตั้งปี 2560 นายกฯ เคยประกาศจะเลือกตั้ง ปี 2561 ก็ยื้อมาถึง ปี 2562 โดย กกต.เคาะวันเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562

นั่นจึงเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งทั่วไป นับแต่ปี 2554

24 มี.ค. 2564 ผลการเลือกตั้งออกมาปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.มาเป็นอันดับหนึ่ง 137 ที่นั่ง แต่ไม่ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ ที่เสนอชื่อ 'พล.อ.ประยุทธ์' เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ ส.ส.มาเป็นอันดับที่สอง 121 ที่นั่ง

ทว่าด้วยผลของการตีความการคำนวณสูตรคิดคะแนน ส.ส.ระบบแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ กกต.คิดออกมาทำให้ผลการเลือกตั้ง ส.ส.แตกต่างจากการคำนวณที่พรรคการเมืองพันธมิตรฝ่ายประชาธิปไตยได้คำนวณไว้

5 มิ.ย. 2562 สูตรคำนวณคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ถูกวิจารณ์ว่าเป็นสูตรบัตรเขย่ง แถมทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ด้วยกติการัฐธรรมนูญที่เอื้อให้ 250 ส.ว.ร่วมโหวตขานชื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 พรรคพลังประชารัฐได้เสียง ส.ส.อันดับ 2 ในสภาผู้แทนราษฎรเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียง ส.ส.ในสภาเพียง 116 เสียง รวมเสียงพรรคร่วมรัฐบาลรวม 19 พรรคผลักดันการสืบทอดอำนาจ คสช.เป็นผลสำเร็จหลังการเลือกตั้ง

มติที่ประชุมรัฐสภา 500 ต่อ 244 เสียงหนุนส่ง พล.อ.ประยุทธ์ คว้าชัยในการโหวตนายกฯ ได้อยู่ยาวต่ออีกสมัย

ธนาธร รัฐสภา-ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.เสนอชื่อประยุทธ์ รัฐสภา นายกรัฐมนตรี

ในขณะที่ 7 พรรคฝ่ายค้านมี ส.ส.ในสภาฯ 246 เสียง ทำให้รัฐบาลผสมเสียงข้างมากเจอสภาวะปริ่มน้ำในสภาฯ ปฏิบัติการดูดเสียง ส.ส.งูเห่าในสภาฯ จึงเกิดขึ้น ผ่านกลไกหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ทยอยเข้าสังกัดพรรคการเมืองในซีกรัฐบาล ทำให้เสียง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเริ่มมีเสถียรภาพไม่ปริ่มน้ำเหมือนแต่เดิม

เทคนิคอยู่ยาวๆตลอด 7 ปี ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ใช้เพื่อไม่ให้รัฐบาลต้องอายุสั้นก่อนกำหนด คือการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ 5 ฉบับที่ถูกเสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้านและภาคประชาชนในนามไอลอว์ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563

แต่สนับสนุนเพียง 2 ฉบับคือ ฉบับพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านที่เปิดทางให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.

17 มี.ค. 2564 กระบวนการลงมติในวาระสามที่ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ที่ผลักดันโดยพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านกลับเป็นหมัน ถูกทำแท้งคารัฐสภาในวาระที่สาม

เมื่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีคะแนนเสียงเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยคะแนนเสียงไม่มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา เพราะมี ส.ส.เห็นชอบ 206 เสียง ส.ว.เห็นชอบ 2 เสียง รวมทั้งหมด 208 เสียงเท่านั้น ส่วน ส.ว. 84 เสียงใช้สิทธิงออกเสียง

ประยุทธ์ สภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ ลงมติ DB-852047D35E49.jpeg

การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์หลังการเลือกตั้ง แม้จะเจอมรสุุมจากการเมืองนอกรัฐสภา การชุมนุมของม็อบราษฎร มรสุมการแก้ไขปัญหาปากท้องเศรษฐกิจให้กับประชน แม้กระทั่งมรสุมที่รุนแรงอย่างไวรัสโควิด-19 ที่ระบาดหนักมาถึง 3 ระลอกใหญ่ ทำให้มียอดผู้ป่วยโควิดสะสมในประเทศตลอด 1 ปีแล้วพุ่ง 126,118 ราย เสียชีวิตสะสมแล้ว 759 ราย (ณ 22 พ.ค. 2564)

กลไกค้ำยันอำนาจรัฐบาลผสม พล.อ.ประยุทธ์ จึงเลี่ยงไม่ได้ว่ามาจากอิทธิฤทธิ์ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่ คสช.ได้วางเอาไว้ เพราะสามารถทำให้ได้รัฐบาลผสมมากถึง 20 พรรค แข็งแกร่งเสริมอำนาจพรรคทหารจนสามารถก้าวเข้าสู่ปีที่ 3

พล.อ.ประยุทธ์ และพวกที่มาจาก คสช.จึงถูกมองว่าอยู่ยาวนับแต่ยึดอำนาจปี 2557 จนถึงปัจจุบันมา 7 ปี และจะสร้างสถิติใหม่อยู่ยาวจนครบวาระ 4 ปี ได้ หากแพในหมู่พรรคร่วมรัฐบาลไม่ล่มก่อนหมดวาระ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง