ไม่พบผลการค้นหา
'ก้าวไกล' ผนึก 'เป็นธรรม' เสนอตั้งกรรมาธิการวิสามัญแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย พัฒนาสิทธิความเป็นอยู่ ชี้ 'เศรษฐา-รมว.การต่างประเทศใหม่' ควรให้ความสำคัญ

วันที่ 31 ส.ค. ที่อาคารรัฐสภา มานพ คีรีภูวดล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ ธิษะณา ชุณหะวัน สส.กทม. พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย กัณวีร์ สืบแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม และตัวแทน สส.ก้าวไกล แถลงข่าวเสนอขอยื่นญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งในประเทศไทยและผู้หนีภัยจากการสู้รบแนวชายแดนไทยพม่า 

โดย มานพ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ลี้ภัยและผู้หนีภัยการสู้รบในประเทศไทยมีทั้งหมด 70,000 -90,000 คน กระจายอยู่ใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก จ.กาญจนบุรี และ จ.ราชบุรี บุคคลเหล่านี้ได้เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2528 และไม่ได้คงอยู่ในสถานะที่ไม่ได้ถูกยอมรับว่าเป็นผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการเพราะประเทศไทยไม่ได้ลงนามว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัย สถานะของผู้ลี้ภัยจึงใช้คำว่าผู้พักพิงชั่วคราว

"ในระยะเวลาเกือบ 40 ปีที่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทย ชีวิตความเป็นมนุษย์ความเป็นคนในสถานะที่เป็นผู้ลี้ภัย อยู่อย่างยากลำบาก ซึ่ง ประเทศไทยต้องแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้ได้"

ซึ่งในบทบาทสภาผู้แทนราษฎร จึงขอเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อที่จะแก้ไขเรื่องนี้ เพื่อที่จะสามารถดึงบุคคลภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องการกลับประเทศ เรื่องความมั่นคง และเรื่อง อื่นๆที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นคณะกรรมการวิสามัญได้ เพื่อพิจารณาว่าจะแก้ไขปัญหาคนเหล่านี้ในระดับภายในประเทศอย่างไร จะร่วมมือกับนานาประเทศได้อย่างไร และประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นปัญหาจะร่วมมือกันอย่างไร 

ด้าน กัณวีร์ กล่าวว่า ความจำเป็นที่ต้องมีกรรมาธิการ เพื่อใช้กรอบของกฎหมายในการแก้ไขปัญหาต่างๆ พร้อมอธิบายรายงานสถานการณ์โลกว่า เรื่องของการกลับประเทศต้นกำเนิดโดยสมัครใจเป็นเรื่องที่ดีที่สุด และแนวทางในการแก้ปัญหา โดยการตั้งถิ่นฐานในประเทศใหม่เป็นเรื่องยาก เพราะมีปริมาณคนกว่า 1 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ การผสมกลมกลืนในประเทศลี้ภัย ที่จะผสมกลมกลืนกันได้ดังนั้นกรรมาธิการจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญนักวิชาการและฝ่ายนิติบัญญัติในการจัดทำแนวทางแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยแบบยั่งยืนโดยใช้ฝ่ายนิติบัญญัติเข้ามาช่วยเหลือ 

"อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น นายกรัฐมนตรีคนใหม่ หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทยหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่เป็นกรรมการอยู่ในสภาความมั่นคงแห่งชาติด้วย" 

มานพ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราจะประสานภาคประชาชน ภาควิชาการที่มีประสบการณ์เรื่องนี้อย่างยาวนาน และจะดำเนินการในลักษณะเป็นคณะทำงาน ดำเนินการทำงานคู่ขนานไปก่อน เพื่อความรวดเร็ว ทั้งนี้หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับรองชัดเจนแล้ว คณะทำงานจะเข้าไปพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยจะไม่รอว่าการตั้งกรรมาธิการจะสำเร็จเมื่อใด เพราะเห็นว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ไม่ควรละเลยในประเด็นนี้