ไม่พบผลการค้นหา
ผู้นำของกลุ่มชาติแอฟริกาตะวันตกขู่ว่า พวกเขาจะมีการดำเนินการทางทหารต่อคณะรัฐประหารไนเจอร์ หลังจากกองทัพไนเจอร์ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยบรรดาผู้นำชาติแอฟริกาตะวันตกให้เวลาคณะรัฐประหาร 7 วัน ในการคืนสถานะให้กับ โมฮาเหม็ด บาซูม ประธานาธิบดีไนเจอร์ ผู้นำพลเรือนซึ่งถูกคณะรัฐประหารควบคุมตัวอยู่

ก่อนหน้านี้ คณะปกครองจากการทำรัฐประหารไนเจอร์เตือนว่า พวกเขาจะต่อต้าน "แผนการรุกรานไนเจอร์" ใดๆ ก็ตาม จากมหาอำนาจในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกหรือจากชาติตะวันตก ในขณะเดียวกัน ผู้สนับสนุนการรัฐประหารหลายร้อยคน ได้ออกมาประท้วงบริเวณหน้าสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงนีอาเม เมืองหลวงของไนเจอร์

กลุ่มผู้นำจากประชาคมเศรษฐกิจแห่งชาติแอฟริกาตะวันตก (ECOWAS) จัดการหารือบนประเด็นเรื่องวิกฤติการทำรัฐประหารในไนเจอร์ ณ กรุงอาบูจา เมืองหลวงของไนจีเรีย เมื่อวันอาทิตย์ (30 ก.ค.) เพื่อหารือเกี่ยวกับการรัฐประหารครั้งล่าสุด ซึ่งเกิดขึ้นหลังการยึดอำนาจของกองทัพในมาลีและบูร์กินาฟาโซ ที่เป็นประเทศที่อยู่ใกล้เคียงกันกับไนเจอร์

แถลงการณ์หลังจากการประชุมสุดยอดระบุว่า ECOWAS จะไม่อดทนอดกลั้นต่อการก่อรัฐประหารในไนเจอร์ โดยทางกลุ่มจะ "ใช้มาตรการทั้งหมดที่จำเป็น เพื่อฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยตามรัฐธรรมนูญ" ของไนเจอร์ แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า หากไม่คณะรัฐประหารไนเจอร์ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องภายใน 1 สัปดาห์ “มาตรการดังกล่าวอาจรวมถึงการใช้กองกำลัง” และบรรดาผู้บัญชาการกองทัพจะประชุมกัน “ทันที” เพื่อวางแผนการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของไนเจอร์

เลโอนาร์โด ซานโตส ซีเมา ผู้แทนพิเศษและหัวหน้าสำนักงานสหประชาชาติประจำแอฟริกาตะวันตกและซาเฮล ซึ่งอยู่ในที่ประชุม กล่าวว่า ECOWAS ได้ดำเนินการขั้นเด็ดขาดต่อการทำรัฐประหารในไนเจอร์ เนื่องจากเหตุการณ์ “ไนเจอร์มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับการก่อการร้าย หากไนเจอร์เลิกเล่นบทบาทนี้ กรณีดังกล่าวจะทำให้ผู้ก่อการร้ายมีพื้นที่มากขึ้น และมีเวลามากขึ้นในการขยายพื้นที่ในภูมิภาค” ซีเมายังกล่าวเสริมอีกว่า จะ "ไม่มีการเจรจาอย่างเป็นทางการ" ระหว่าง ECOWAS และคณะรัฐประหารไนเจอร์

ท่าทีในครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ ECOWAS ขู่ว่าจะมีการใช้ปฏิบัติการทางทหาร เพื่อต่อต้านการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ มีการการแทรกแซงทางทหารในบรรดาชาติแอฟริกาตะวันตกครั้งล่าสุดเมื่อปี 2560 เมื่อกองทหารเซเนกัลถูกส่งไปยังแกมเบีย เพื่อบีบบังคับให้ ยะห์ยา จัมเมห์ อดีตประธานาธิบดีแกมเบีย ที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน ยอมออกจากตำแหน่ง หลังจากที่เขาปฏิเสธที่จะยอมรับความพ่ายแพ้จากการเลือกตั้งของประเทศ

ทางการชาดระบุว่า มาฮามัต ไอดริสส์ เดบี อิตโน ประธานาธิบดีชาด ได้เดินทางไปยังกรุงนีอาเม เพื่อหารือให้ผู้นำรัฐประหารไนเจอร์ยอมลงจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ประธานาธิบดีชาดนับเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่เดินทางเยือนไนเจอร์ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร และได้พบกับ พล.อ. ซาลิฟู โมดี รองผู้นำคณะรัฐประหาร แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าประธานาธิบดีชาดจะเจรจากับ พล.อ. อับดูราห์มาเน ทเชียนี หัวหน้าหน่วยอารักขาประธานาธิบดีที่ประกาศตัวเป็นผู้ปกครองคนใหม่ของไนเจอร์หลังการรัฐประหารหรือไม่

ผู้นำแอฟริกาตะวันตกยังประกาศบังคับใช้เขตห้ามบินเหนือไนเจอร์ทันที สำหรับเที่ยวบินพาณิชย์ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังมีการสั่งปิดพรมแดนทางบกทั้งหมดของชาติที่ติดกับไนเจอร์ รวมถึงการคว่ำบาตรทางการเงินต่อคณะรัฐประหาร โดยก่อนการประชุมของ ECOWAS ทเชียนีได้กล่าวเตือน ECOWAS และชาติตะวันตกโดยไม่ระบุชื่อ เพื่อไม่ให้พวกเขาไม่ให้ก้าวเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในไนเจอร์ "เราขอย้ำอีกครั้งกับ ECOWAS หรือผู้ท้าทายคนอื่นๆ ว่า เรามุ่งมั่นที่จะปกป้องบ้านเกิดของเรา" ทเชียนีระบุผ่านการแถลงทางโทรทัศน์

การรัฐประหารในครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าไนเจอร์ อดีตอาณานิคมของฝรั่งเศส อาจหันความสัมพันธ์ไปหาทางรัสเซียมากขึ้น โดนประธานาธิบดีผู้ถูกโค่นอำนาจอย่างบาซูมนั้น มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทั้งประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกและประเทศตะวันตก ในการต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธอิสลาม ทั้งนี้ บูร์กินาฟาโซและมาลีมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัสเซียมากขึ้น หลังการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในประเทศทั้งสอง

สำนักข่าว AFP รายงานว่า ในกรุงนีอาเม ผู้ประท้วงบางส่วนนอกสถานทูตฝรั่งเศสตะโกนว่า "รัสเซียจงเจริญ" "ปูตินจงเจริญ" และ "ฝรั่งเศสจงพินาจ" นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประท้วงยังจุดไฟเผากำแพงของสถานทูตฝรั่งเศสด้วย ในขณะที่สำนักงานประธานาธิบดีฝรั่งเศสของ เอ็มมานูเอล มาครง ระบุในแถลงการณ์ว่า ฝรั่งเศสจะไม่ยอมให้มีการโจมตีต่อผลประโยชน์ของฝรั่งเศสในไนเจอร์ และฝรั่งเศสจะตอบโต้อย่าง "ทันท่วงทีและแข็งกร้าว" 


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-africa-66353284?fbclid=IwAR3776bGG2AzI3uhGxdiisVd7-CRrW-olZ2Sgi6lVHvLkVvHjOPHf4x17Ms