คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์ เรื่อง การรัฐประหารของกองทัพทหารสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยระบุดังนี้
การเลือกตั้งทั่วไปในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมานั้น ประชาชนเสียงข้างมากของประเทศได้มีฉันทามติร่วมกันให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD.) ที่นำโดยอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเตรียมจัดตั้งรัฐบาล โดยมีผู้แทนประชาชนที่ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สมัชชาแห่งสหภาพถึง 920 ที่นั่ง จาก1,117 ที่นั่ง มีชัยชนะเหนือพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP.) ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนของกองทัพทหารแห่งเมียนมา
ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการเปิดประชุมสมัชชาแห่งสหภาพชุดใหม่ในวันที่ 1 ก.พ. 2564 ได้มีการเคลื่อนไหวที่เชื่อได้ว่ากองทัพทหารมีส่วนรู้เห็นเป็นใจ ตั้งแต่การนำมวลชนจัดตั้งออกมาคัดค้านผลการเลือกตั้ง คุกคามประชาชนที่สนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม รวมถึงมีการเคลื่อนยุทโธปกรณ์ทางทหารออกมาในเขตเมืองหลวงโดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่งเป็นการคุกคามกระบวนการประชาธิปไตยภายในประเทศ
กระทั่งในที่สุดในวันเปิดประชุมสมัชชาแห่งสหภาพ กองกำลังทหารนำโดยพล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง พร้อมทั้งเข้าควบคุมตัวอองซาน ซูจี ประธานาธิบดีอู วิน มินต์ และสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD.) จำนวนมาก โดยอ้างกลไกพิเศษตามรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยอ้างเหตุผลการเลือกตั้งทั่วไปไม่โปร่งใส และได้ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งเมียนมาขึ้นมาใหม่อีกด้วย
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ในฐานะองค์กรประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน (ASEAN) จึงขอเรียกร้องต่อสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ดังนี้
1) ขอเรียกร้องให้กองทัพแห่งสหภาพพม่ายึดหลักการ 'ปัญหาการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง' ความขัดแย้งต่างๆ สามารถหาทางออกในรัฐสภาที่มีผู้แทนกลุ่มต่างๆ ได้โดยสันติ การใช้กำลังทหารยึดอำนาจโดยไม่เคารพต่อฉันทานุมัติของประชาชนในการเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่ประชาคมนานาชาติและองค์กรภาคประชาชนระหว่างประเทศรังเกียจและไม่อาจยอมรับความชอบธรรมทั้งปวงได้
2) ขอเรียกร้องให้นายทหารต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยกับกองทัพ และพรรคการเมืองต่างๆ ได้ออกมาแสดงเจตจำนงค์คัดค้านการกระทำการรัฐประหารในครั้งนี้ เพื่อหยุดการคอร์รัปชันอำนาจประชาชน และการตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่โดยคณะรัฐประหารซึ่งขาดความชอบธรรมและไม่ควรยอมรับผลการดำเนินงานใดๆ ทั้งสิ้น
3) ขอเรียกร้องให้กองทัพแห่งสหภาพเมียนมา ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมดโดยทันที ยุติการคุกคามประชาชน ยกเลิกการบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อกระบวนการต่างๆ กลับคืนสู่สถานการณ์ปกติตามรัฐธรรมนูญและเจตจำนงค์ของประชาชนต่อไป และให้สมาชิกในสมัชชาแห่งสหภาพที่ได้รับการเลือกตั้งทั้งหมดกลับมาปฏิบัติหน้าที่ต่อโดยไม่ช้า เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ต่อไป
4) ขอเรียกร้องให้ระบบการเมืองของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เป็นการแข่งขันกันอย่างเสรีประชาธิปไตย เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายมีสิทธิตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเป็นตัวแทนและมีอุดมการณ์ที่แตกต่างหลากหลายได้เพื่อแข่งขันนโยบายกันในระบบรัฐสภา เพื่อหาทางออกและพัฒนาประชาธิปไตยในพม่าและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกันต่อไป โดยกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนต้องปราศจากการแทรกแซงของกองทัพไม่ให้เข้ามามีอำนาจเหนือการเมืองได้
5) ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและรัฐสภาของไทย โดยขอให้รัฐบาลไทยต้องไม่ใช้กลไกฝ่ายความมั่นคงปิดกั้นเสรีภาพการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยแก่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ให้นักกิจกรรมชาวไทยและนักกิจกรรมชาวเมียนมาในประเทศไทยมีเสรีภาพในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยบนแผ่นดินไทยได้อย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และขอเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาของไทยในฐานะสมาชิกในสมัชชารัฐสภาอาเซียน รวมถึงกลไกความร่วมมือระดับรัฐสภาระหว่างประเทศทั้งหมด ออกมาแสดงจุดยืนไม่ยอมรับการรัฐประหารและผลพวงที่จะเกิดขึ้นอย่างถึงที่สุด เพื่อกดดันผู้นำกองทัพจนกว่าสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาจะกลับคืนสู่ภาวะประชาธิปไตยโดยเร็ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :