ท่ามกลางสงครามส่วนแบ่งตลาดน้ำมันโลกระหว่างซาอุดีอาระเบียและรัสเซียที่ทำร้ายอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลตลอดช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทพลังงานเชื้อเพลิงของสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ล่าสุด 'โดนัลด์ ทรัมป์' ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาทวีตข้อความสร้างความประหลาดใจให้กับนักลงทุนทั่วโลกอีกครั้ง
โดยทรัมป์ ทวีตข้อความเมื่อค่ำวันพฤหัสบดีที่ 2 เม.ย. (ตามเวลาท้องถิ่น) ที่มีใจความว่า เขาคาดหวังให้รัสเซียและซาอุฯ ลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 10 ล้านบาร์เรล/วัน หรือคิดเป็น 1 ใน 10 ของกำลังการผลิตทั้งโลกต่อวัน เพื่อให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มสูงขึ้น
หลังทวิตเตอร์ดังกล่าวออกมา ฝั่งซาอุฯ ไม่ได้ออกมายืนยันการพูดคุยกับทรัมป์ แต่มีการเรียกประชุมผู้ผลิตน้ำมันทั่วโลกด่วนเพื่อหา "ข้อตกลงที่เหมาะสม" พร้อมระบุว่าการประชุมครั้งนี้ "เป็นไปเพื่อแสดงความชื่นชมต่อข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และข้อเรียกร้องจากเพื่อนสหรัฐฯ" โดยหลายฝ่ายมองว่า ซาอุฯ จะยอมลดกำลังการผลิตลงก็ต่อเมื่ออีกฝ่ายตกลงที่จะทำเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ 'ดมิทรี เพสคอฟ' โฆษกของรัฐบาลรัสเซียออกมาปฏิเสธว่าการพูดคุยไม่เคยเกิดขึ้นและยืนยันว่าไม่ได้มีข้อตกลงกับซาอุฯ ในการลดกำลังการผลิตลง
ขณะที่ทรัมป์ ออกมาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเพิ่มว่า ตนเองหวังว่าข้อตกลงจะเกิดขึ้นในเร็ววัน เนื่องจาก "มันจะดีสำหรับรัสเซีย และมันก็จะดีกับซาอุฯ ด้วย ผมหวังว่าพวกเขาจะตกลงกันได้อย่างที่บอกผม" ทรัมป์ยังเสริมว่า "สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมันจะเกิดขึ้นได้ไหม ก็หวังว่าจะได้ มันก็มีทางเลือกอื่นๆ อยู่ แต่ผมว่าทางนี้ดีที่สุด"
ไม่ว่าข้อตกลงจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่หลังจากทวีตของทรัมป์ ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นราวร้อยละ 10 โดยน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 11 ในช่วงต้นของการซื้อขาย ราว 2.66 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 87.46 บาท ขึ้นไปแตะ 27.40 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล หรือประมาณ 900.95 บาท ขณะที่น้ำมันดิบเวสเทกซัสฯ ส่งมอบล่วงหน้า หรือ WTI ( West Texas Intermediate) ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 10.09 เพิ่มขึ้นราว 2.05 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 67.41 บาท ขึ้นไปแตะ 22.36 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล หรือประมาณ 735.23 บาท
แม้ราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นจริง แต่ 'บเจอร์นาร์ ทอนฮุเดน' หัวหน้าตลาดน้ำมันจากบริษัทน้ำมันไรสตัด ชี้ว่า ราคาน้ำมันปรับตัวดีขึ้นที่สุดในรอบ 2 สัปดาห์ ซึ่งมาจาก 2 ปัจจัย ได้แก่ ความพยายามทางการทูตของสหรัฐฯ ในการเข้าไปแทรกแซงซาอุฯ และรัสเซีย และ ข่าวลือว่าจีนจะเพิ่มกำลังซื้อ โดยส่วนหนึ่งมองจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของจีนประจำเดือนมี.ค. ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการขยายตัวในภาคการผลิตและบริการ หลังประเทศดูเหมือนจะควบคุมการแพร่ระบาดได้มากขึ้น "แต่ทั้ง 2 ปัจจัย ไม่สามารถรักษาราคาพลังงานในอนาคตไม่ให้ตกลงได้"
สถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมน้ำมันทั่วโลก คือตลาดจะมีน้ำมันเกินกว่าความต้องการมากถึง 15 ล้านบาร์เรล/วัน ในช่วงไตรมาส 2/2563 โดยส่วนหนึ่งมาจากอุปสงค์จากอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจะหดตัวต่ำที่สุดในเดือน เม.ย. จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกันบริษัทให้คำปรึกษาเอฟจีอี ประเมินปริมาณการบริโภคน้ำมันแก๊สโซลีนในสหรัฐฯ จะหดตัวถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
เมื่อน้ำมันมีมากกว่าความต้องการมากเกินไป ก็จะส่งผลโดยตรงต่อราคาน้ำมันที่ บริษัทพลังงานแอสเป็ค ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์อาจลดลงมาถึง 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล หรือประมาณ 329.08 บาท ซึ่งเป็นระดับที่ไม่ได้เห็นมานานกว่า 2 ทศวรรษแล้ว
ส่วนสาเหตุผลักที่ทำให้เกิดอุปทานส่วนเกินในตลาดมากขนาดนี้ มาจากความพยายามแข่งกันช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดของทั้งซาอุฯ และรัสเซีย ด้วยการเร่งกำลังการผลิตและปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง จน โกลแมน แซคส์ ออกมาประเมินว่โลกจะมีน้ำมันดิบส่วนเกินถึง 20 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่ 'ไอเอชเอส มาร์คิต' คาดการณ์ว่าโลกจะไม่มีที่เก็บน้ำมันส่วนเกินเหล่านี้เพียงพอในช่วงกลางปี
หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ฝั่งที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดอาจจะไม่ใช่ซาอุฯ หรือรัสเซีย แต่เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (โอเปก) อื่นๆ ที่ต้องแบกรับกับราคาที่ไม่เหลือทั้งกำไรและขาดทุน จนอาจก่อให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลในประเทศเหล่านั้น และหนทางในการฟื้นตัวก็ยังมองไม่เห็นในระยะใกล้ โดยตัวเลขการประเมินจากแบบสำรวจของบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์ พบว่าประมาณร้อยละ 70 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 130 ราย มองว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์ยังจะอยู่ต่ำกว่าระดับ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ไปอย่างน้อยถึงเดือน มิ.ย.
'บุชฮาน บาห์รี' ผู้อำนวยการอาวุโสจาก ไอเอชเอส มาร์คิต ปิดท้ายว่า สุดท้ายแล้วการผลิตน้ำมันต้องจบไปอยู่ดี แต่คำถามสำคัญคือ "มันจะถูกจัดการหรือถูกบังคับให้ผ่านการปิดตัวที่โหดร้ายนี้"
อ้างอิง; Bloomberg, Reuters, ST, NYT, Investing
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;