แต่ร้าน "ส้มตำป้าต้อม" แห่งโรงอาหารอาคารรัฐสภา (ฝั่งสภาผู้แทนราษฎร ส.ส.) ประกาศตัวอย่างชัดเจนผ่านป้ายสะดุดตาที่เขียนว่า
"จ่ายเต็ม ไม่มีคนละครึ่ง ไม่มีไทยชนะ ไม่มี ม.33"
เจ้าของร้านยินดีให้คำตอบเมื่อเดินเข้าไปถามหาเหตุผลว่า "เพราะใช้โทรศัพท์ไม่เป็น" ยังใช้โทรศัพท์ รุ่นเก่าอยู่ (พูดพร้อมหยิบโทรศัพท์แบบปุ่มกดขึ้นมาให้ดู) อีกอย่างไม่ได้ใส่ใจเรื่องพวกนี้ จบแค่ ป.4 เขียนหนังสือไม่เป็น เลยทำอะไรหลายอย่างไม่ได้มาก เขียนเป็นแค่ชื่อของตัวเอง
เมื่อถามว่า โครงการนี้มีมาเป็นปีเเล้วนะ ?
"ใช่ แต่ป้าใช้โทรศัพท์ไม่เป็น" เธอย้ำ ไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้ ใช้แต่โทรเข้าโทรออก แม้กระทั่งพิมพ์ชื่อในโทรศัพท์ ยังต้องให้ลูกทำให้ แล้วลูกก็แยกไปอยู่ต่างหาก ถ้าจะทำทีก็ต้องอาศัยไหว้วานคนอื่น แม้กระทั่งพิมพ์ชื่อหรือทำอะไร ก็ช่าง คือไม่ได้ไปทำธุรกรรมการเงินใดๆ
"ป้ามาขายตอนเช้า แฟนมาส่งตอนเย็นแฟนก็มารับ คือไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ (หัวเราะ)"
ร้านป้าต้อมขายที่โรงอาหารรัฐสภาแห่งเก่ามาตั้งเเต่ปี 2544 ความแตกต่างอย่างเดียว คือ ที่รัฐสภาเก่า (อู่ทองใน) ผู้ค้าสามารถประกอบอาหารที่หลังโรงครัวได้ แต่ที่รัฐสภาปัจจุบันไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น จึงต้องทำอาหารพร้อมขายมาจากบ้าน หมดแล้วหมดเลยไม่สามารถประกอบเพิ่มได้
“อันนี้เราต้องย่างมาจากบ้าน ปลาเราก็ย่างมาทีละ 7-8 ตัว ไก่ทีละ 5 ชิ้น หมูก็ทีละ 2 โล มันไม่เหมือนที่สภาเก่า”
การไม่เข้าร่วมโครงการของรัฐมันทำให้เราขายได้น้อยกว่าร้านอื่นไหม ?
"ก็ไม่นะ มันก็ขายอยู่ปกติ บางวันก็เหลือบ้าง อีกอย่างช่วงนี้เป็นช่วงโควิด เขาไม่กินรวม มันก็ต้องน้อยลงอยู่เเล้ว ไม่เหมือนแต่ก่อน ๆ เขาแชร์กันออก อย่างส้มตำ 30 บาท สองคนมากินกัน ก็หารกันคนละ 15 บาท เฉลี่ยกันออก อันนี้มื้อนึงถ้าจะมากิน 70-80 บาท มันก็ไม่ไหว"
แล้วเราอยากปรับตัวไหม ?
"ไม่อ่ะ ป้าอยู่อย่างงี้ก็สบายเเล้ว ช่างมันเหอะ ขายได้แค่ไหนป้าก็เอาแค่นั้นอะ (หัวเราะ) ป้าก็ไม่ได้ไปซีเรียสกับมันหรอก มันก็ขายปกติของป้า ขายก็เท่าเดิม มันไม่ได้จำนวนมาก"