ไม่พบผลการค้นหา
แอมเนสตี้ชวนดูคลิปวิดีโอพูดถึงบทบาทการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกและไทยภายใน 7 นาที ท่ามกลางเสียงขับไล่จากมวลชนอนุรักษนิยม

จากรกรณีเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2564 มีมวลชนกลุ่มอุนรักษนิยม อาทิ กลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบัน กลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน กลุ่มศรีสุริโยทัยปกป้องสถาบัน ฯลฯ เคลื่อนไหวขับไล่องค์กร 'แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย' (Amnesty International Thailand) องค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนออกจากประเทศไทย ซึ่งถูกมวลชนเหล่านี้กล่าวว่ามีส่วนสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่และมีพฤติกรรมการกระทำเข้าข่ายกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและสถาบันพระมหากษัตริย์

ล่าสุดวันนี้ (29 พ.ย. 2564) แฟนเพจเฟซบุ๊ค Amnesty International Thailand เผยแพร่ข้อความพร้อมวิดีโอความยาว 7 นาที ว่า ขอเวลาสัก 7 นาที ...ชวนมาทำความรู้จักบทบาทของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ในการทำงานเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทยและทั่วโลกกันอีกครั้ง

แอมเนสตี้7.png

ชมวิดีโอที่นี่ https://www.facebook.com/AmnestyThailand/videos/2762873704010075

ข้อความระบุอีกว่า ขอย้อนกลับไปไกลสัก 45 ปี สมัย 6 ตุลา 2519 มาดูกันว่า แอมเนสตี้และองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอื่นๆ มีบทบาทอะไรกันบ้างในเหตุการณ์ครั้งนั้น

แอมเนสตี้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2504 ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เมื่อ พ.ศ. 2520 จากการรณรงค์ต่อต้านการทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และรางวัลสหประชาชาติในสาขาสิทธิมนุษยชน ในปี พ.ศ. 2521 เพื่อเป็นเกียรติและยกย่องบุคคลและองค์กรที่ได้ทำผลงานโดดเด่นในการส่งเสริมและคุ้มครองของสิทธิมนุษยชนตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและในเครื่องมือสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ของสหประชาชาติ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่น (สากล)

ที่ปัจจุบันมีสมาชิกและผู้สนับสนุนกว่า 10 ล้านคน ใน 150 ประเทศทั่วโลก โดยได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ และการรณรงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ภายใต้กรอบกฎหมายระหว่างประเทศและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพื่อมุ่งหวังให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข