"ถ้าคุณอยากลดความรุนแรงของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ วิธีเดียวที่สามารถช่วยได้คือหยุดการแพร่กระจายของเชื้อด้วยการสร้างระยะห่างทางสังคม" นี่คือคำแนะนำของนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียที่กล่าวผ่านสื่อไปยังประชากรทั้ง 1,300 กว่าล้านคนของประเทศ
สำนักข่าว BBC ชี้ว่า การประกาศให้ชาวอินเดียนั้นสร้างระยะห่างทางสังคมมีความเป็นไปได้ยากมาก ด้วยอัตราความหนาแน่นของประชากรที่มากถึง 464 คนต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งสูงกว่าประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอย่างจีนด้วยซ้ำ เพราะความหนาแน่นของประชากรจีนอยู่ที่ 153 คนต่อตารางกิโลเมตร
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาอินเดียตกอยู่ในสภาวะการ 'ล็อกดาวน์' อย่างเต็มรูปแบบ สร้างความโกลาหนอย่างมากให้กับผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ติดค้างตามเมืองต่างๆ พวกเขาไม่มีงาน ไม่มีเงิน และไม่สามารถกลับบ้านได้ เพราะการขนส่งสาธารณะหยุดนิ่งทั้งหมด และเมื่อใดก็ตามที่มีข่าวลือว่าขนส่งสาธารณะจะกลับมาให้บริการ ก็จะมีผู้คนจำนวนนับไม่ถ้วนไปรวมตัวกันอย่างหนาแน่นที่สถานีขนส่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับกฎหมายและมาตรการที่รัฐบาลพยายามผลักดัน
BBC ยังระบุว่า ค่าเฉลี่ยของสมาชิกในแต่ละครอบครัวของอินเดียนั้นอยู่ที่ 5 คน และพบว่ามีมากกว่า 100 ล้านครัวเรือนในอินเดีย ซึ่งคิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ มีเพียง 1 ห้องในบ้านเท่านั้น เพราะฉะนั้น การสร้างระยะห่างทางสังคมจึงถือเป็น 'อภิสิทธ์' อย่างมากในสังคม เพราะมีไม่กี่คนเท่านั้นที่มีศักยภาพมากพอที่จะสามารถทำตามแนวคิดนี้ได้
ประชาชนชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยตั้งใจปฏิบัติตามมาตรการของรัฐอย่างเต็มที่ แต่พวกเขา 'เข้าใจ' ในแนวคิดระยะห่างทางสังคมจริงหรือ?
หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ หลังการประกาศให้ประชาชน 'สร้างระยะห่างทางสังคม' ของนายกฯ อินเดียโดยการลองกักตัวเองอยู่ที่บ้านตลอดวันในวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา แล้วเมื่อเวลา 17.00 น.ก็ขอให้ทุกคนออกมาแสดงความขอบคุณไปยังบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยการปรบมือ เคาะจานอลูมิเนียม หรือกดกริ่งที่บ้านเป็นเวลา 5 นาทีเต็มบริเวณทางเดินหรือระเบียงของบ้านตัวเอง
อย่างได้ก็ตามแม้ทุกคนจะตั้งใจกักตัวตามที่รัฐบาลขอร้องเป็นอย่างดี แต่เมื่อถึงเวลา 17.00 น.ผู้คนต่างหลั่งไหลออกมาบนท้องถนนกันอย่างล้นหลาม เพื่อ 'แสดงความขอบคุณ' ไปยังแพทย์และพยาบาลของอินเดีย โดยลืมไปว่าความพยายามในการแยกตัวออกจากฝูงชนตลอดทั้งวันนั้นได้จบสิ้นลงแล้วเมื่อพวกเขาออกมารวมตัวกัน และที่น่าตกใจยิ่งกว่าก็คือ 'เจ้าหน้าที่รัฐและตำรวจตำแหน่งใหญ่' หลายคน เป็นผู้เดินนำขบวนประชาชนเสียเอง
หลังจากนั้นเพียง 2 สัปดาห์ระหว่างที่อินเดียเข้าสู่มาตรการล็อกดาวน์แบบจริงจังแล้ว นายกฯ อินเดียขอให้ประชาชนร่วมกัน 'จุดเทียนและโคมไฟ' และแสดงคือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผู้คนจำนวนมากในหลายพื้นที่พากันออกมารวมตัวกันบนท้องถนน ตะโกนสโลแกน ส่งเสียงดังสร้างขวัญกำลังใจให้กัน พร้อมกับจุดดอกไม้ไฟกันอย่างสนุกสนาน
ผู้คนต่างแสดงพลังของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันผ่านกิจกรรมดังกล่าว โดยที่พวกเขาลืมไปว่า 'ไวรัสโคโรนา' ยังอยู่รอบตัว ในขณะที่หลายคนเชื่อว่าการบังคับใช้มาตรการจากรัฐคือเรื่องสำคัญ แท้จริงแล้ว 'การสร้างความเข้าใจให้ประชาชน' มีส่วนทำให้มาตรการของรัฐสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่น้อยเลยทีเดียว