ไม่พบผลการค้นหา
สถาบันสร้างไทย ร่วมกับพรรคเพื่อไทย จัดสัมมนา "สงครามการค้าจีน-สหรัฐ" สถานะทางยุทธศาสตร์และการรับมือของไทย เชิญ ดร.เซียงปิง ศาสตราจารย์จากปักกิ่ง บรรยายพิเศษ ระบุ สหรัฐฯ เติบโตอย่างยิ่งใหญ่เพราะจีนช่วยผลักดัน ด้าน 'กิตติรัตน์' ชี้ ไทยจะมีความพร้อมรับมือผลกระทบสงครามทางการค้ามากกว่านี้ หากนโยบายเพื่อไทยไม่ขาดตอน

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยกล่าวเปิดงาน สัมมนาสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ สถานะทางยุทธศาสตร์และการรับมือของไทย โดยระบุว่ าปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ยิ่งไปกว่านั้น จะต้องเผชิญกับปัญหาจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างชาติมหาอำนาจ ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีนเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นความเสี่ยงที่จะนำไปสู่วิกฤต ที่จะสั่นคลอนความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ประชาชนชาวไทยจึงต้องมีความรู้ที่เท่าทัน ต้องเตรียมการทั้งเรื่องนโยบาย และมาตรการรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากผลกระทบของสงครามการค้าครั้งนี้ และจะต้องมีความเข้าใจเรื่องของนโยบายการค้าของจีน ที่ต้องยอมรับว่า การพัฒนาด้านเศรษฐกิจของจีนในระยะเวลาหลังนี้ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในอาเซียนและของโลกด้วย

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า วันนี้พรรคเพื่อไทย และสถาบันสร้างไทย ได้จัดสัมมนาเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสงครามการค้าจีนและสหรัฐฯ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นว่า เป็นเรื่องใหญ่ที่ทางภาครัฐและเอกชนจะต้องเตรียมการ และเตรียมตัว และในฐานะที่พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่อันดับ 1 ของประเทศ จึงจำเป็นจะต้องมีความเข้าใจเพื่อที่จะนำข้อมูลและข้อเท็จจริงไปกำหนดนโยบายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และต่อการวางมาตรการที่จะรับมือต่อผลกระทบจากสงครามการค้า ของประเทศมหาอำนาจ

ขณะที่ ดร.เซียงปิง Professor of China Business and Globalization จากปักกิ่ง ประเทศจีน ระบุว่า สหรัฐฯเติบโตอย่างยิ่งใหญ่เพราะจีนช่วยผลักดัน ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยยอมรับสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้น ส่วนตัวเชื่อว่าจีนจะก้าวหน้ามากขึ้นโดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี ไปผลักดัน เศรษฐกิจและ นวัตกรรม

ดร.เซียงปิงกล่าวว่า การมาพูดในครั้งนี้ไม่ได้พูดในนามรัฐบาล แต่เป็นการพูดในนามส่วนตัว โดยระบุว่าประเทศจีนตั้งแต่ปี 1978 จีนเป็นประเทศส่งออก ไปญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา และในปี 2014 จีนกลายเป็นประเทศที่ส่งออกใหญ่ที่สุด ความคืบหน้าล่าสุดนั้น จีนกลายเป็นประเทศหมายเลขหนึ่งที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพีดีสุด การขึ้นมาของจีน เป็นหนึ่งในสองประเทศที่มีความเข้มแข็งในการเตรียมตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในปี 2009 เรามีการส่งเสริมอย่างมาก พร้อมย้ำว่า นี่คือข้อมูลจากธนาคารโลก พบว่าจีนมีการเติบโตทางจีดีพีถึงร้อยละ 19.5

ชี้จีนส่งเสริมเศรษฐกิจทำให้เกิดคนรวยเยอะขึ้น

ดร.เซียงปิง กล่าวต่อว่า หากเปรียบเทียบกับประเทศอินเดีย จะเห็นว่าเรามีการปฏิรูปที่ใกล้เคียงกัน แต่ในปี 1978 จีนมีจีดีพีร้อยละ 15.9 ในขณะที่ของอินเดียมีจีดีพี ร้อยละ 3.2 ทว่าความแตกต่างระหว่าง คือ จีนส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้คนรวยเกิดขึ้นเยอะ แต่อินเดียมีบริษัทระดับโลกไม่มาก ซึ่งแม้ว่าเราได้ความสำเร็จจากการส่งออก และการส่งเสริม แต่จีนก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง

ดร.เซียงปิงกล่าวว่า ในด้านแนวคิดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มีความแตกต่างกัน จีนรับเอาแนวคิดของขงจื้อ ที่มีการเผยแพร่มากมาย ซึ่งเป็นการส่งเสริมความหลากหลายโดยไม่ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวได้ คนจีนไม่เชื่อว่าความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่อาจตอบสนองทุกคนได้ กล่าวคือ รูปแบบเดียวไม่สามารถนำไปใช้ทุกประเทศได้ ขณะเดียวกันเราจะต้องส่งเสริมความหลากหลายในอนาคต

จีนมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก เนื่องจากบริษัทจีนมีข้อจำกัดทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน หมายถึงไม่สามารถทำเรื่องงบประมาณให้ถูกต้องได้ ที่สำคัญในการบริหารจัดการและพัฒนา แต่เราก็โชคดีที่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้จีนทำงานผ่านข้อจำกัดได้ดี เราต้องคัดลอกจากเขาก่อน เพื่อการพัฒนา มีบุคคลหลายคนประสบความสำเร็จไม่ใช่เพราะเขามีนวัตกรรมที่ดี แต่เพราะเขามีความสามารถในการคัดลอก แม้สหรัฐฯ ก้าวหน้ามาก่อน แต่จีนพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ไว แล้วบริษัทที่เปิดในจีนเห็นว่า เขาสามารถกลายเป็นมหาเศรษฐีได้

เขาย้ำว่าในช่วงต้น "เราเลียนแบบก่อน แล้วหลังจากนั้นเราก็กลายเป็นเศรษฐี" และสร้างนวัตกรรมเองได้ “อย่าวิ่งก่อนเดิน นี่คือสิ่งที่ผมเรียนรู้”

อย่างไรก็ตาม ดร.เซียงปิงกล่าวว่า เราได้ทำให้สิ่งแวดล้อมของเราปนเปื้อนค่อนข้างมาก จีนมีมลภาวะปนเปื้อนมากมาย ซึ่งเขาเห็นสิ่งแวดล้อมของไทย กำลังตามสิ่งแวดล้อมของจีน บางคนก็ต้องเสียสละ สหรัฐอเมริกา กับ ญี่ปุ่น ต้องให้เขาช่วยเราในเรื่องเทคโนโลยี ไม่ใช่วิจารณ์อย่างเดียว อีกทั้งเขายังกล่าวว่าจีนเป็นตัวอย่างให้ประเทศอื่นเรียนรู้ หากใครกำลังเป็นเหมือนจีน สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาแบบจีนได้ อย่างเช่นไทย เวียดนาม จีนก็พร้อมจะช่วยเหลือ

ดร.เซียงปิง ยังกล่าวถึงสหรัฐอเมริกาในยุครัฐบาลโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ที่บอกว่าบริษัทของอเมริกันยิ่งใหญ่ เขายิ่งใหญ่เพราะจีนไปช่วยเขา เราเป็นคนผลักดัน เราไปทำกิจกรรมทางธุรกิจ อย่างไรก็ดี เรื่องนวัตกรรมเรานับถือ เพราะเขาคิดค้น เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก จะมีสักกี่ประเทศที่ทำได้แบบนั้น แต่ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ควรชื่นชมคนอื่นบ้าง ที่ไปช่วยเขา ทำให้เขามีเวลาไปทำอย่างอื่นบ้าง อย่าไปมองแต่แนวคิด ให้ดูสถิติบ้าง

ยอมรับญี่ปุ่นพัฒนาไปไกลกว่าจีน

"สำหรับข้อจำกัดของบริษัทจีนอีกประการ คือการขาดบริษัทในลักษณะที่เปิดกว้าง ซึ่งเป็นจุดอ่อนของจีน โดยญี่ปุ่นพัฒนากว่าจีนไปไกลเพราะเรื่องนี้ ซึ่งจีนยังอยู่หลัง เขายกตัวอย่างของบริษัท Huawei เขามองว่าเป็น 1 ใน 10 บริษัทที่มีอิทธิพลมากสุดเพราะในเรื่องของสิทธิบัตรนวัตกรรมต่างๆ นี่คือแนวคิดของคนที่ถือหุ้นเพียงร้อยละ 1 บริษัทนี้มีความหลากหลายมาก นอกจากนี้อีกข้อหนึ่งที่เป็นข้อจำกัดของจีนคือความไม่เท่าเทียมทางรายได้ นี่คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับจีน" ดร.เซียงปิง กล่าว

ด้านความสำเร็จของจีนมีปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่รัฐบาลเหมาเจ๋อตง ถึง เติ้งเสี่ยวผิง ปัจจัยของสภาวะรอบนอก และประชาชน ส่วนหนึ่งความมั่งคั่งของจีนเริ่มมาจากเหมา อย่างเช่น การเพิ่มให้ผู้หญิงมีสิทธิมากขึ้น มีสถานะที่สูงขึ้น นโยบายทางเศรษฐกิจเปิดโอกาสให้ผู้หญิง “เราจะต้องมีคนที่คิดอย่างเหมา ที่จะปรับเรื่องประเพณีตรงนี้”

สุดารัตน์

ยกเสรีนิยม -โลกาภิวัตน์ - อินเทอร์เน็ตอิทธิพลของโลก

ดร.เซียงปิง กล่าวว่า แนวคิดเสรีนิยมใหม่ โลกาภิวัตน์ และอินเทอร์เน็ต สามสิ่งนี้มีอิทธิพลต่อสังคมโลก ซึ่งจีนรับมือตรงนี้แล้วโชคดีที่สามารถรับมือได้ดี ในอนาคต เขามองว่า เรามีโอกาสอยู่หลายข้อ อย่างเช่น เทคโนโลยีตามได้ทัน เช่น Ai ตอนนี้จีนพัฒนาอย่างมากในเรื่องเทคโนโลยี พลักดัน เศรษฐกิจนวัตกรรม บริษัทจีนภาคการผลิตยังน้อย ซึ่งต้องพัฒนา อีกเรื่องที่ต้องเปิดเสรี ลดทอนกฎระเบียบอีก 30 ภาคส่วนในประเทศ ซึ่งจีนต้องผลักดันเศรษฐกิจของตัวเอง ต้องปรับลดหรือเปิดเสรีในภาคส่วนเหล่านี้ แน่นอนว่ามีความท้าทายเช่น ความไม่เท่าเทียมทางรายได้ แต่อย่างน้อยเรามีเครื่องมือทรงพลัง

นอกจากนี้ ดร.เซียงปิง กล่าวถึงเรื่องการเติบโตในการบริโภค เช่น ปีที่แล้วมีรถขายในจีน 25 ล้านคัน ซึ่งมากกว่าญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี รวมกันอีก ร้านอาหารปารีส ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าคนจีน นี่คือการตื่นตัวทางการบริโภคของจีน เขากล่าวต่อว่า แต่หากถ้าเราพูดถึงเรื่องที่ล้าหลังคือเรื่องสวัสดิการ ประกันสังคม ประเทศแถบแสกนดิเนเวียเติบโตพัฒนาอย่างมาก แม้กระทั่งรัสเซีย ระบบประกันสังคมเขาก็ยังดีกว่าจีน เพราะฉะนั้น เขายังเห็นตรงนี้เป็นข้อด้อย

เขากล่าวต่อว่า ถ้าเราดูการเปลี่ยนถ่ายของโลก ประวัติศาสตร์ของเรา เปลี่ยนถ่ายเกิดขึ้นมากมายมากกว่าสิบครั้ง นี่เป็นเหตุผลเป็นทั้งเวลาที่ดีและร้าย ความเชื่อของเขา มองว่าทั้งจีนและสหรัฐฯ จำเป็นต้องทำงาน-รับผิดชอบร่วมกันเพื่อให้เกิดผลดีสำหรับมนุษยชาติ เรื่องนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะจีนต้องดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย

อย่างไรก็ดี ดร.เซียงปิง กล่าวว่า เขาไม่มีคำตอบให้กับทุกเรื่อง แนวคิดขงจื้อสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า เศรษฐกิจทางลัทธิขงจื้อเราคงต้องเรียนรู้และเราเรียนรู้จากญี่ปุ่น ประเทศอาเซียนของเราประสบความสำเร็จมากทีเดียว จีนกับอาเซียนมีโอกาส เป็นคู่ค้าที่สำคัญในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา แล้วก็มีการลงทุนในจีนเยอะมาก 10+3 เป็นไปได้จะส่งเสริมในเรื่องนี้ ส่งผลกับระบบการค้าโลก

'กิตติรัตน์ 'เชื่อไทยรับมือสงครามการค้าได้ ถ้ารัฐบาล พท.บริหารต่อเนื่อง

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี มองว่าเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคส่งออก ที่มีความสำคัญ และไม่สามารถสูญเสียได้ มองว่าภาคส่งออกจะเป็นปัญหาต่อเนื่องหากอัตราแลกเปลี่ยน ยังคงสภาพเช่นนี้ แล้วจะทำให้ความพร้อมในการรับมือด้านต่างๆ กลายเป็นปัญหา ขณะเดียวกันมองว่าการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องดำเนินนโยบายแบบขาดดุล เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ

นายกิตติรัตน์กล่าวต่อว่า ไม่กังวลเรื่องตัวเลขหนี้นโยบายสาธารณะที่ยังไม่สูงนัก แต่มองว่า ประเทศจะมีความพร้อมมากกว่านี้ในการรับมือสถานการณ์สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ หากการดำเนินนโยบายตั้งแต่ในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีความต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน เห็นว่าหากการบริหารจัดการระบบทางเศรษฐกิจมาได้ดีต่อเนื่อง การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินหรือการจ่ายเงินผ่านบัตรต่างๆ อาจจะไม่มีความจำเป็น ซึ่งเป็นคำถามต่อว่าเหตุใดต่อเดือนจึงจ่ายเงินได้เพียงเท่านั้น เพราะการจ่ายแล้วไม่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลวนกลับเข้ามา

'อนุสรณ์' ย้ำ 4-5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไม่จริงจังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

ด้าน ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า ยุทธศาสตร์ของจีนในมิติทางเศรษฐกิจไปกระทบกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะความพยายามของจีนที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก นโยบายต่างๆ และการดึงตัวเองเข้าไปมีบทบาทในเศรษฐกิจโลกมากขึ้น

ขณะเดียวกันเห็นว่าจีนเป็นนักยุทธศาสตร์ที่มีความมุ่งมั่นต้องการทำงานให้กับประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งไปปะทะกับผลประโยชน์ของกลุ่มทุนสหรัฐฯ บางส่วน จึงเป็นที่มาของการกล่าวหาจีนว่ามีความพยายามละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งจีนมีความฉลาดพอที่จะเรียนแบบและต่อยอด จีนจึงมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ที่รวดเร็วกว่าไทยมาก โดยเฉพาะการสร้างนวัตกรรมและการถ่ายทอดทางเทคโนโลยีของตนเองขึ้นมา

ดร.อนุสรณ์มองว่า ผลกระทบสงครามการค้าจีนสหรัฐ ได้เปลี่ยนโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะ supply chain โดย global supply chain ถูกเปลี่ยนเป็น China supply chain และ US Global supply chain ซึ่งหมายความว่าสถานะทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทย เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะต้องไปคิดเรื่องสถานะทางยุทธศาสตร์ให้เกิดความชัดเจน โดยเฉพาะการเผชิญกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจโลกและโลกาภิวัตน์ที่เปลี่ยนไป

หากมองเฉพาะหน้า เชื่อว่าไทยจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะต่ำกว่าที่ประมาณการ รวมถึงอัตราการส่งออกก็จะติดลบ เป็นผลจาก 4-5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลภายใต้อำนาจรัฐประหาร ไม่ได้จริงจังเรื่องการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยจึงยังเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาภายนอกสูง รวมถึงพึ่งพาการค้าการส่งออกมากเกินไปที่ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยรักไทยและรัฐบาลพรรคเพื่อไทยพยายามปรับสมดุลทางเศรษฐกิจทั้งภายในภายนอกให้เกิดความเหมาะสม