พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยผลการประชุมร่วมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดการบังคับใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยระบุว่าจากกรณีที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เดินทางเข้าประเทศไทย โดยเป็นทหารสัญชาติอียิปต์ เด็กหญิงสัญชาติซูดานที่เดินทางมากับครอบครัวคณะทูต และนักการทูตสัญชาติเอสโตเนีย จนประชาชนหวั่นวิตกและเสียความเชื่อมั่นในการบริหารงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาแสวงหาข้อเท็จจริงและพิจารณาหารือเพื่อจะได้ช่วยกันหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐในการจัดการปัญหาในช่วงสถานการณ์วิกฤตนี้ได้รัดกุมยิ่งขึ้น
โดยในวันนี้ (3 ส.ค.) ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ประชุมหารือถึงปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นร่วมกับพล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) ในฐานะประธานคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.อ.รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม กระทรวงกลาโหม นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค น.ท.สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งตามมาตรการล่าสุดของ ศบค.ได้มีการชี้แจงถึงมาตรการผ่อนคลายในระยะต่อไปให้กับ 5 กลุ่ม คือ กลุ่มประเทศติดเชื้อต่ำประเทศไทยที่จะมีข้อตกลงพิเศษ 5 ประเทศ กลุ่มทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ กลุ่มแรงงานต่างด้าว กลุ่มสัมมนาระดับนานาชาติ และกลุ่มผู้ถือบัตรผู้ถืออีลีทการ์ด
พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญผู้แทนสถานทูตทุกประเทศที่อยู่ในประเทศไทยมาชี้แจงทำความเข้าใจแล้ว และได้รับการตอบรับให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีที่จะร่วม State Quarantine เป็นระยะเวลา 14 วัน ด้วยเชื่อมั่นไว้วางใจในมาตรฐานการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ของประเทศไทย และจากที่มีการออกคำสั่ง ศบค. ที่ 8/2563 มาตรการผ่อนคลายระยะที่ 6 ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีข้อห่วงใยเป็นพิเศษเรื่องกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่จะเข้ามาประมาณ 110,000 คน ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา กัมพูชา ลาว ที่จะต้องดำเนินการกักตัว 14 วัน ในรูปแบบ Organization Quarantine โดยมีกระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพ จึงอยากให้กระทรวงแรงงานพิจารณารูปแบบและค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการยอมรับได้ เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้ามาของแรงงานต่างด้าวโดยผิดกฎหมาย โดยทำงานควบคู่กับภาคเอกชนให้เป็นไปตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
ซึ่งเรื่องนี้จะต้องวางแผนร่วมกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน เพราะกระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ในการที่จะดูแลรับผิดชอบทุกคนที่เข้ามาในด่านทั้งทางบกและทางน้ำ เตรียมการรองรับการเข้า - ออก ของแรงงานต่างด้าว นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศที่สร้างรายได้เข้าประเทศไทยปีหนึ่ง ๆ ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท เมื่อเข้ามาแล้วก็จะเกิดการจ้างงาน วงจรธุรกิจก็หมุนเวียนได้ รวมไปถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งทุกกลุ่มที่เดินทางเข้าประเทศไทยจะต้องเข้าสู่มาตรการ State Quarantine เช่นเดียวกันหมด
พล.อ.วิทวัส กล่าวต่อว่า อยากเน้นย้ำให้เร่งประชาสัมพันธ์กับประชาชนและผู้ประกอบการทั้งหลายว่า เมื่อมีการผ่อนคลายให้คนจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาบ้างแล้ว แม้จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่มาตรการป้องกันของเรายังต้องเข้มข้นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการการล้างมือ การสวมใส่หน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่างซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะร้านอาหารหรือสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมากยิ่งต้องระวังให้มากขึ้น ยิ่งผ่อนคลายมากขึ้น มาตรการป้องกันยิ่งต้องมีความเข้มข้นมากขึ้น ขอให้ประชาชนร่วมกันทำความเข้าใจในเรื่องการรักษาความสมดุลระหว่างการผ่อนปรนทางเศรษฐกิจกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้
ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า ข้อสังเกตว่าจะยังคงมี พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต่อไปหรือไม่นั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าหัวใจสำคัญคือเรื่องของการกักตัว 14 วัน ซึ่งอาจถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถ้าไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็อาจไม่สามารถบังคับกักตัว 14 วันได้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้มีข้อเสนอแนะให้ไปตรวจสอบว่าใน พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อนั้น มีข้อความใดที่จะนำไปออกเป็น พ.ร.ก.ที่ให้สามารถบังคับกักตัวขึ้นใช้ทดแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จะได้ใช้กฎหมายนั้นมาทดแทน แต่ขณะนี้ยังไม่มี ดังนั้น คนไทยก็ต้องเข้าใจว่า เรื่องการกักตัวเป็นมาตรการสำคัญในการคัดกรองคนติดเชื้อ กับคนไม่ติดเชื้อออกจากกัน ถ้าไม่มีมาตรการนี้ก็จะเป็นอันตรายกับคนไทยส่วนใหญ่ได้