ไม่พบผลการค้นหา
เอ็นจีโอด้านแรงงานเผยเงื่อนไขสหรัฐฯ อ้างตัดสิทธิ GSP ไทย เกิดจากสมาพันธ์แรงงานและสภาอุตสาหกรรมแรงงานสหรัฐฯ ยื่นให้ตัดสิทธิไทยมาตั้งแต่ 6 ปีก่อน ชี้รัฐบาลไทยยังไม่ลงนามรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับ 87 และ 98 เรื่องสิทธิในการรวมตัวของแรงงาน

สืบเนื่องจากสหรัฐอเมริกา ภายใต้การใช้อำนาจของประธานาธิบดี นายโดนัลด์ ทรัมป์ จึงได้ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าส่งออกบางประเภทจากไทย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท) หรือราว 1 ใน 3 ของสินค้าส่งออกไทยที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งรวมถึงสินค้าประมงและอาหารทะเลส่งออกของไทยทั้งหมด 

โดยอ้างเหตุผลเรื่อง "ปัญหาด้านสิทธิแรงงานที่ยืดเยื้อมายาวนานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลและการเดินเรือ" ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายใน 6 เดือน 

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ไทยได้ออกมาแถลงว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นคิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 1,800 ล้านบาท จากรายการสินค้าที่ถูกระงับสิทธิ GSP จำนวน 573 รายการ ที่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติประมาณร้อยละ 4.5 

ขณะที่กลุ่มประมงพื้นบ้านและองค์กรภาคประชาสังคมได้ออกมาเคลื่อนไหวกับกรณีที่เกิดขึ้นโดยแถลงร่วมกันในนามภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืน 14 องค์กร ระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานมาต่อเนื่องแต่ยังมีช่องโหว่ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง 

นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้จัดการด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟม กล่าวว่า การส่งออกเป็นแกนหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติเป็นกำลังการผลิตสำคัญ ดังนั้นตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่ปรับปรุงประเด็นสิทธิแรงงานให้มีความเสมอภาคและเป็นสากล ตราบนั้นเสถียรภาพในการส่งออก รวมถึงเศรษฐกิจในภาพรวมก็เกิดยาก

"ต้องไม่ลืมว่าคู่ค้าต่างๆ ของเรา ต่างมีความต้องการปกป้องการผลิตภายในประเทศของเขา หากประเทศไทยไม่มีจุดอ่อนก็จะไม่มีใครจะมาดำเนินมาตรการอะไรกับเราได้ง่ายๆ ที่จริงมีเครื่องมือ ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอยู่แล้ว คืออนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันถึงที่สุด"

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ ทั้งเรื่องการเข้าสู่เศรษฐกิจมาตรฐานสูง และเรื่องการเข้าใจความมั่นคงที่สอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตที่เป็นจริงของประเทศ การกีดกันแรงงานในระบบการผลิตของไทยมิให้มีสิทธิที่เท่าเทียมในการรวมตัวหรือเจรจา ถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่การป้องกันปัญหาแต่เป็นการกดซ่อนความเสี่ยงที่รอวันระเบิด ดังเช่นการหยุดงานที่เกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีช่องทางการสื่อสารระหว่างนายจ้างและคนงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลลบทั้งต่อชีวิตแรงงานไม่ว่าชนชาติใด และต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคมและกลุ่มแรงงานพยายามผลักดันให้มีการรับรองอนุสัญญาแต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวจากรัฐบาล โดยที่รัฐบาลอ้างว่าการอนุญาตให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ  

นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติกล่าวถึงจุดยืนสำคัญของภาคีเครือข่ายฯคือการสนับสนุนให้ประเทศไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ 2 ฉบับนี้ ว่า รัฐควรรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 ตั้งนานแล้ว ไม่ต้องรอให้สหรัฐฯ หรือประชาคมโลก ต้องมากดดันเรา เพราะการรวมกลุ่มเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยตั้งแต่เกิด ภาครัฐไม่ควรกังกลเรื่องเศรษฐกิจหรือความมั่นคง เนื่องจากคนงานเหล่านี้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างประโยชน์ต่อประเทศมหาศาล

นางสาวชลธิชา ตั้งวรมงคล ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) กล่าวว่า ทางองค์กรให้ความช่วยเหลือแรงงานที่โดนละเมิดสิทธิ ซึ่งพบว่า แม้ประเทศไทยจะมีการปรับปรุงกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะในบริบทประมง แต่สิ่งที่พบคือ แรงงานไม่กล้าจะลุกขึ้นมาร้องเรียนกับหน่วยงานรัฐโดยตรง ยังเลือกที่จะไม่ร้องเรียนถ้าทนได้ หรือถ้าทนไม่ได้ก็ไปร้องเรียนกับเอ็นจีโอ 

"แรงงานยังกังวลว่าถ้าหน่วยงานรัฐ เอาไปพูดกับนายจ้างแล้ว ตัวคนร้องจะโดนอะไรบ้าง ดังนั้นการให้สิทธิในการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรอง จะทำให้แรงงานรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อยู่คนเดียวโดดเดี่ยว" น.ส.ชลธิชา กล่าว

นอกจากนี้ กรณีที่รัฐบาลไทยปล่อยให้บริษัทเอกชนฟ้องคดี เพื่อปิดปากแรงงานหรือสมาชิกสหภาพแรงงาน เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทาง AFL-CIO ระบุชัดว่า เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ซึ่งในเอกสารเผยแพร่สาธารณะได้ชี้แจงถึงประเด็นที่บริษัทหนึ่งในประเทศไทยฟ้องร้องแรงงานเพื่อตอบโต้แรงงานที่ลุกขึ้นมาร้องเรียน โดยมีการฟ้องร้องแรงงานทั้งข้อหาแจ้งความเท็จ หมิ่นประมาท ลักทรัพย์ และฟ้องร้องบุคคลอื่น ทั้งนักข่าว เอ็นจีโอ 

"การไล่ฟ้องคดีได้แบบนี้น่าจะแสดงให้เห็นว่ากรอบกฎหมายไทยมีปัญหา หากเรื่องเหล่านี้ยังเกิดขึ้นในประเทศไทย แรงงานที่ไหนจะกล้าร้องเรียน ภาพลักษณ์ของเอกชนในเมืองไทยก็ยังคงดูแย่ในสายตาประชาคมโลก" น.ส.ชลธิชา กล่าว

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากสมาพันธ์แรงงานและสภาอุตสาหกรรมแรงงานสหรัฐฯ (American Federation Labor & Congress of Industrial Organization: AFL-CIO) ยื่นคำร้องให้ตัดสิทธิ GSP ไทย เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2556 และวันที่ 16 ต.ค. 2558 เนื่องจากเห็นว่าไทยมิได้คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานระหว่างประเทศ แม้ที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน มีความพยายามจะแก้ไขและจัดทำร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่ ทว่าเนื้อหาในพระราชบัญญัติก็ยังไม่สอดคล้องกับหลักการและมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ส่งผลให้สหรัฐฯ มองว่าไทยยังมิได้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสหรัฐ

ทั้งนี้ อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว (Freedom of Association and Protection of the Right to Organise) ค.ศ. 1948 ส่วนฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง (Right to Organise and Collective Bargaining) ค.ศ. 1949

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :