คาสโตรออกแถลงการณ์ผ่านทางทวิตเตอร์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (14 มี.ค.) โดยผู้นำฮอนดูรัส ประเทศแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคอเมริกากลาง เคยเผยความคิดที่จะตัดความสัมพันธ์กับไต้หวัน และเริ่มเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งของเธอ แต่ในช่วงเดือน ม.ค. 2565 คาสโตรกล่าวว่าเธอหวังว่าฮอนดูรัสจะยังคงรักษาความสัมพันธ์กับไต้หวันเอาไว้
คาสโตรกล่าวในทวีตของเธอว่า การตัดสินใจในครั้งนี้เป็น “สัญญาณของความมุ่งมั่นของดิฉัน ที่จะปฏิบัติตามแผนของรัฐบาลและขยายพรมแดน” ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศฮอนดูรัส ไม่ได้ตอบกลับคำร้องขอความคิดเห็น เกี่ยวกับการประกาศของประธานาธิบดีในทันที
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา จีนเพิ่มแรงกดดันเพื่อลดบทบาทในประเด็นการระหว่างประเทศของไต้หวัน โดยจีนคอมมิวนิสต์อ้างว่า ไต้หวันซึ่งปัจจุบันเกาะที่ปกครองตัวเองด้วยระบอบประชาธิปไตย เป็นดินแดนของจีนที่ไม่มีสิทธิ์ในการมีความสัมพันธ์ทางการทูตแบบบแบบรัฐต่อรัฐ นอกจากนี้ จีนยังไม่อนุญาตให้ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับตัวเอง สามารถรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวันได้
กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันออกมาแถลงในวันพุธ (15 มี.ค.) เรียกร้องให้ฮอนดูรัสพิจารณาการตัดสินใจอย่างรอบคอบในการสร้างความสัมพันธ์กับจีน และไม่ “ตกหลุมพรางของจีน” กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันยังระบุอีกว่า จุดประสงค์เดียวของจีนในการสร้างความสัมพันธ์กับฮอนดูรัส เป็นไปเพื่อการบีบพื้นที่บนเวทีระหว่างประเทศของไต้หวัน และจีนไม่มีความตั้งใจที่จะส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของชาวฮอนดูรัส
จากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ไต้หวันมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเอสวาตินี กรุงวาติกัน หมู่เกาะมาแชล นาอูรู ปาเลา ตูวาลู เบลีซ กัวตามาลา เฮติ ปารากวัย ฮอนดูรัส สหพันธรัฐเซนต์คริสโตเฟอร์และเนวิส เซนต์ลูเซีย และเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ โดยหากฮอนดูรัสยุติความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน ไต้หวันจะเหลือความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับ 13 ประเทศทั่วโลกเท่านั้น
ลาตินอเมริกาเป็นพื้นที่ของการเผชิญหน้าระหว่างจีนปักกิ่งและจีนไทเป โดยประเทศในอเมริกากลางทั้งหมดยังคงรักษาความสัมพันธ์กับไต้หวันมานานหลายทศวรรษ สอดคล้องกับแนวทางของสหรัฐฯ แต่ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น ที่ยังคงมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน ทั้งนี้ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา คอสตาริกาในปี 2550 ปานามาในปี 2560 เอลซัลวาดอร์ในปี 2561 และนิการากัวในปี 2564 ได้ประกาศตัดความสัมพันธ์กับไต้หวัน และสร้างความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งพยายามโน้มน้าวพันธมิตรทางการทูตของไต้หวันให้ยุติความสัมพันธ์ และหันมาสานความสันพันธ์กับตัวเองแทนมานานหลายปี
ความเคลื่อนไหวของคาสโตรมีขึ้นหลายสัปดาห์ หลังจากรัฐบาลของเธอประกาศว่ากำลังเจรจากับจีน เพื่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ภายใต้ชื่อเขื่อนปาตูกาที่ 2 เมื่อประกาศแผนดังกล่าวในเดือน ก.พ. เธอกล่าวว่าเขื่อนซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากจีน จะช่วยฮอนดูรัสเพิ่มแหล่งพลังงาน โดยในเวลานั้น คาสโตรยังปฏิเสธข่าวลือว่าฮอนดูรัสกำลังจะสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับกรุงปักกิ่ง
จีนได้ให้ทุนสร้างเขื่อนอีกแห่งอย่างเขื่อนปาตูกันที่ 3 ในฮอนดูรัสแล้ว หลังฮอนดูรัสได้รับเงินกู้กว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท) จากจีน โดยเขื่อนปาตูกันที่ 3 เปิดโครงการขึ้นในปี 2564 ภายใต้การนำของ ฮวน ออร์ลันโด เฮอร์นันเดซ ประธานาธิบดีคนก่อนของฮอนดูรัส ทั้งนี้ คาสโตร ในฐานะประธานาธิบดีหญิงคนแรกของฮอนดูรัสให้คำมั่นระหว่างหาเสียงว่า เธอจะ “เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับจีนแผ่นดินใหญ่ทันที”
ที่มา: