ไม่พบผลการค้นหา
"พิชัย นริพทะพันธุ์" แจง 9 เหตุผล "พล.อ.ประยุทธ์" ไม่ควรกลับมาเป็นนายกฯ อีก ชี้ ประเทศไทยจะยิ่งล้าหลัง เศรษฐกิจจะยิ่งทรุด การเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนผูกขาดจะยิ่งเพิ่มขึ้น

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือน มี.ค. 2562 ยังคงติดลบต่อเนื่องโดยติดลบถึง ร้อยละ 4.88 ซึ่งเป็นการติดลบเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน และการลงทุนยิ่งหดหายตามที่กระทรวงการคลังยอมรับ เศรษฐกิจไทยเริ่มหักหัวลงจนรัฐบาลต้องเร่งอัดเงินกระตุ้นถึงขนาดจะแจกเงินให้เที่ยว แต่คงช่วยไม่ได้มากนัก ซึ่งหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง การส่งออกจะยิ่งทรุด การลงทุนจะยิ่งหดหาย เศรษฐกิจไทยจะยิ่งตกต่ำ ซ้ำเติมจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว โดยขอให้ 9 เหตุผลดังนี้ 

1. การเลือกตั้งที่จัดขึ้น อยู่ในกติการัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ถึงแม้จะอ้างว่าผ่านการประชามติแล้ว แต่ความจริง คือ ระหว่างการทำประชามติ รัฐบาลและ คสช. ไม่ได้อนุญาตให้มีการถกเถียงชี้แจงข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับทราบ ใครวิพากษ์วิจารณ์ก็ถูกจับและถูกเรียกปรับทัศนคติ นอกจากนี้รัฐบาลและคสช. ยังส่งทหารเข้าไปให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแก่ประชาชน เพื่อชักจูงให้ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาอยู่ในปัจจุบันนี้ ตัวอย่างเช่น ประชาชนจำนวนมากพึ่งจะทราบว่า ส.ว. 250 คน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เลือกเองมีสิทธิ์โหวตเลือกนายกฯ เท่ากับ ส.ส. 500 คน ที่ประชาชนทั้งประเทศเลือก เป็นต้น

2. นอกจากรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาแล้ว การที่รัฐบาลไม่ได้ทำตัวเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม ได้อนุมัติจ่ายเงินจำนวนมากเหมือนเป็นการซื้อเสียงเพื่อให้พรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ได้รับความนิยม ต่างประเทศก็เห็นได้ชัด 

3. การจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ รัฐบาลและคสช. แต่งตั้งมาเอง สร้างความเคลือบแคลงให้กับประชาชนจำนวนมาก โดยไม่ได้ชี้แจงข้อสงสัยของประชาชนให้ละเอียด การแถลงของ กกต. มีข้อมูลที่ผิดพลาดและขัดแย้งกันเองมาก และขนาดเลือกตั้งเสร็จแล้วยังไม่สามารถบอกประชาชนได้ว่าจะใช้สูตรไหนคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และ เวลาผ่านไปนานแล้วยังไม่สามารถสรุปตัวเลข ส.ส. ของแต่ละพรรคการเมืองได้ ซึ่งสร้างความงุนงงสงสัยให้กับนานาชาติ อย่างมาก ขนาดอินเดียมีผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนถึง 900 ล้านคน ยังสามารถทราบผลได้ภายในวันเดียว 

4. ทั้งๆ ที่มีการเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลและคสช. ยังมีการดำเนินคดีกับผู้เห็นต่าง โดยเฉพาะนักการเมืองฝั่งตรงข้ามรัฐบาลในข้อหาที่เกี่ยวกับการปฏิวัติ ซึ่งน่าจะหมดไปได้แล้ว แต่รัฐบาลและคสช. ก็ยังไม่เลิกใช้เครื่องมือดังกล่าวกดดันฝั่งตรงข้าม แถมยังอ้างว่าเป็นเรื่องสากล ทั้งๆที่ไม่มีความเป็นสากลแต่อย่างไรเพราะเป็นอำนาจจากช่วงการปฏิวัติ

5. การที่รัฐบาลไปตำหนิตัวแทนทูตนานาชาติที่เข้าไปสังเกตการณ์การดำเนินคดีของนักการเมืองฝั่งตรงข้ามรัฐบาล แสดงถึงรัฐบาลยังคงยึดติดอำนาจเผด็จการอยู่ใช่หรือไม่ ซึ่งนานาชาติจะให้ความสำคัญกับเรื่องละเอียดอ่อนแบบนี้อย่างมาก ขนาดสหรัฐและอียูยังออกแถลงการณ์โต้แย้งข้อตำหนิของรัฐบาลไทยโดยยืนยันความสากลในการเข้าสังเกตการณ์

6. การที่พล.อ.ประยุทธ์ ทำการปฏิวัติรัฐประหารและอยู่มากว่า 5 ปี ไม่ได้สร้างความมั่นใจให้กับต่างประเทศเลย การลงทุนจากต่างประเทศแต่ละปีเหลือน้อยมาก รัฐบาลยังยอมรับจุดอ่อนนี้เอง และเมื่อมีการเลือกตั้ง ได้มีการจัดการโดยวิธีการและกติกาแปลกประหลาดเพื่อให้ตัวเองได้กลับมา แล้วหาก พล.อ.ประยุทธ์ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกจริง นักลงทุนจากต่างประเทศจะมีความมั่นใจในการลงทุนได้อย่างไร 

7. ตลอด 5 ปีที่รัฐบาลและ คสช. บริหารประเทศ ได้เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนผูกขาดที่สนับสนุนการปฏิวัติมาโดยตลอด แม้กระทั่งล่าสุด การขยายระยะเวลาการชำระเงินการประมูลของคลื่นโทรศัพท์มือถือก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่มีการเอื้อประโยชน์อย่างมาก นอกจากนี้การประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินโดยแถมการเช่าระยะยาวที่ดินมักกะสันมูลค่ามหาศาลก็เป็นการเอื้อประโยชน์อย่างชัดเจน โดยทั้งสองเรื่องนี้ตั้งใจเร่งให้ทันก่อนการตั้งรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งเพราะรัฐบาลจากการเลือกตั้งจะไม่สามารถเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนผูกขาดในลักษณะนี้ได้โดยไม่โดนการคัดค้านและต้องถูกตรวจสอบอย่างหนัก 

8. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่ชัดเจนในสถานภาพของตัวเองว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็จะขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ของพรรคการเมือง ซึ่งจะเป็นนายกฯ ไม่ได้ แต่ถ้าหากบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พล.อ.ประยุทธ์อาจจะต้องรับผิดชอบจ่ายเงินที่ถูกบริษัทเหมืองทองคำของออสเตรเลียฟ้องร้องกว่า 30,000 ล้านบาทเอง เพราะรัฐจะไปจ่ายเงินให้กับการกระทำของผู้ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ 

9. ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีข่าวคราวของการทุจริตคอร์รัปชันจำนวนมากมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้เพราะไม่มีฝ่ายค้านในสภา ถึงขนาดที่สื่อต่างประเทศได้ลงข่าวว่ารัฐมนตรีของไทยที่เคยเป็นทหาร มีทรัพย์สินติดอันดับโลกทั้งๆ ที่ไม่ปรากฏว่าเคยทำธุรกิจด้านไหนมาก่อน อีกทั้งกรณีโยกย้าย พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล ที่อาจสร้างความคลุมเคลือและมัวหมองเพิ่มขึ้น แล้วจะบอกว่ารัฐบาลนี้ไม่ทุจริตคงจะไม่ได้ 

ทั้งนี้ นายพิชัย กล่าวต่อว่า นี่เป็นเหตุผลหลัก และยังไม่รวมถึงความเบื่อหน่ายของประชาชนจำนวนมากที่มีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ และการบริหารงานของ คสช. โดยหากรวม ส.ส. จากพรรคต่างๆ ที่ประกาศก่อนหน้าการเลือกตั้งว่าไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อหลังการเลือกตั้ง ซึ่งรวมถึง พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคภูมิใจไทยด้วย จะพบว่าจะมีจำนวน ส.ส. มากกว่า 300 กว่าเสียง ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่ควรจะสืบทอดอำนาจเป็นนายกฯ อีกต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง