ไม่พบผลการค้นหา
แอมเนสตี้แถลงทางการไทยต้องยุติการกลั่นแกล้งและการดำเนินคดี-หยุดใช้อำนาจตุลาการในทางที่ผิด กับสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (เอไอ) องค์การระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 20 ม.ค. 2563 เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการใช้กระบวนการทางกฎหมายข่มขู่และคุกคาม 'พรรคอนาคตใหม่' และสมาชิกพรรค ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญมีนัดฟังคำวินิจฉัยกรณีที่มีข้อกล่าวหาต่อพรรคในวันที่ 21 มกราคม 2563 ซึ่งอาจมีผลให้มีการยุบพรรคและสมาชิกพรรคอาจถูกดำเนินคดี การพุ่งเป้าดำเนินคดีจำนวนมากกับสมาชิกพรรคถือได้ว่าเป็นการโต้กลับสมาชิกพรรคจากการจัดกิจกรรมซึ่งถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและการสมาคม

พรรคอนาคตใหม่อาจถูกยุบพรรคในวันที่ 21 มกราคม จากเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาข้อกล่าวหาว่านายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค นายปิตยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคฝ่าฝืนมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ผ่านการกระทำที่มีเจตนาล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ณฐพรยังได้กล่าวหาเพิ่มเติมว่าพรรคอนาคตใหม่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอิลลูมินาติ ซึ่งเป็นชื่อเรียกของกลุ่มที่เคยมีอยู่จริงและที่สมมติขึ้น โดยอ้างว่าสัญลักษณ์ของทั้งสองกลุ่มมีความคล้ายคลึงกัน

แม้ว่าทางพรรคจะมีการร้องขอศาลให้มีการไต่สวนพยานคดีดังกล่าว ศาลธรรมนูญได้มีคำสั่งไม่รับคำร้อง เนื่องจากพิจารณาว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยและไม่ต้องไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติม พรรคอนาคตใหม่จึงเผชิญกับการโดนยุบพรรคหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีความผิดจริง ถือเป็นการละเมิดพันธกรณีของประเทศไทยในด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิในการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ และการสมาคมของสมาชิกพรรค

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทางการไทยหยุดยั้งการใช้อำนาจตุลาการในทางที่ผิดต่อพรรคฝ่ายค้าน สมาชิกพรรค และบุคคลอื่นๆ โดยทันที พร้อมทั้งเพิกถอนฟ้องบุคคลที่ถูกตั้งข้อหาเพียงเพราะการใช้สิทธิมนุษยชนอย่างสันติทั้งหมด ในฐานะรัฐภาคีต่อสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายฉบับ รวมถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เจ้าหน้าที่จะต้องยึดมั่นต่อสาธารณชนว่าบุคคลทุกคนสามารถใช้สิทธิของตนในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ และการสมาคม

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้สมาชิกประชาคมระหว่างประเทศต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย พร้อมทั้งสังเกตการณ์การปราบปรามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด และใช้เครื่องมือทางการเมืองและการทูตเพื่อส่งเสริมการปฏิรูปด้านสิทธิมนุษยชนและความรับผิดในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิ