ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร มีมติอนุมัติให้ ปตท.สผ. เป็นผู้ได้รับสิทธิแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ และบงกช คาดลงนามในสัญญาได้ราวเดือน ก.พ. 2562

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร มีมติอนุมัติให้ ปตท.สผ. เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจในอ่าวไทยเอราวัณ และบงกช คาดลงนามในสัญญาได้ราวเดือน ก.พ. 2562

การประชุมคณะรัฐมนตรี โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติอนุมัติให้ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี 2 (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 แปลงเอราวัณ และบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/61 แปลงบงกช

โดยคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีอำนาจลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับผู้ได้รับสิทธิต่อไป เมื่อสัญญาผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว นอกจากนี้ยังเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอว่า การให้สิทธิในครั้งนี้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามข้อกำหนดในเอกสารเชิญชวนให้ยื่นขอที่ต้องการให้หน่วยงานของรัฐเข้าร่วมลงทุนเพื่อตอบสนองความมั่นคงด้านพลังงานด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับผู้ชนะการประมูลภายในเดือน ก.พ. 2562 

“ราคาที่ปตท.เสนอมานั้น จะทำให้ลดราคาค่าไฟฟ้าได้ 29 สตางค์ต่อหน่วย และสังคมโดยรวมจะประหยัดค่าไฟได้กว่า 5 แสนล้านบาทต่อ 10 ปี เราจะเรียกปตท.สผ.มาลงนามภายในกุมภาพันธ์ 2562” ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว 

โดยเปิดให้ยื่นซองประมูลในวันที่ 25 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา และใช้เวลาประมาณสองเดือนในการพิจารณาคัดเลือกผู้ชนะการประมูลตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดไว้ และ คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับรัฐเพิ่มขึ้นอีก 100,000 ล้านบาทรวมถึงยังสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากทั้งสองแปลงได้ต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี ช่วยลดการนำเข้าก๊าซแอลพีจีได้ประมาณ 22,000,000 ตัน ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 29 สตางค์ต่อหน่วยไปอย่างน้อยเป็นเวลา 10 ปีและก่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท