ไม่พบผลการค้นหา
อดีตกษัตริย์สเปนที่ทรงลี้ภัยในยูเออี ไกล่เกลี่ยคดีเลี่ยงภาษี ยอมจ่ายเงินย้อนหลังคืนรัฐบาลมาดริด 4.4 ล้านยูโร

เว็บไซต์ El Pais สื่อท้องถิ่นสเปนรายงานว่า สมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 (Juan Carlos I) อดีตองค์พระประมุขแห่งสเปน ทรงยินยอมชำระภาษีย้อนหลังเป็นครั้งที่สองจำนวน 4.4 ล้านยูโร หรือราว 161 ล้านบาท 

การชำระภาษีย้อนหลังของอดีตประมุขแห่งสเปนครั้ง มีขึ้นท่ามกลางกระบวนการไกล่เกลี่ยการเลี่ยงภาษีคดีที่ 2 ของพระองค์ในช่วงเวลาไม่ถึง 3 เดือน โดยการชำระภาษีย้อนหลังครั้งนี้เชื่อมโยงการมูลค่าของสินค้าและบริการจำนวน 8 ล้านยูโร ในรูปแบบเที่ยวบินเจ็ทส่วนตัวซึ่งอดีตกษัตริย์ใช้โดยสารที่จ่ายโดยมูลนิธิในประเทศลิกเตนสไตน์ ที่ชื่อว่าอัลวาโด เดอ ออร์เลออง อันเป็นมูลนิธิของพระญาติห่างๆของพระองค์ ซึ่งถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียให้รัฐบาลสเปน

จาเวียร์ ซันเชส ฮุนโก (Javier Sánchez Junco) ทนายความส่วนพระองค์เผยว่า อดีตกษัตริย์ทรงสั่งให้เปิดเผยข้อเท็จจริงเรื่องนี้ว่าพระองค์ได้จ่ายภาษีย้อนหลังแก่หน่วยงานด้านการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลสเปนเป็นเงิน 4,395,901 ยูโร แต่เรื่องดังกล่าวสำนักพระราชวังปฏิเสธแสดงความคิดเห็นใดๆ 

สำหรับอดีตประมุขแห่งสเปน ผู้สละราชบัลลังก์ในปี 2557 ปัจจุบันมีพระชนมพรรษา 83 พรรษา ทรงเดินทางออกจากสเปนไปประทับยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว สือบเนื่องจากเกิดกรณีอื้อฉาวในหลายคดี ซึ่งคดีแรกเกี่ยวกับที่ทรงใช้บัตรเครดิตที่เกี่ยวโยงถึงบัญชีธนาคารที่ไม่ได้จดในพระนามของพระองค์ ซึ่งอาจกลายเป็นการฟอกเงิน กระทั่งต่อมาเดือนธ.ค. 2563 อดีตประมุขแห่งสเปน พยายามยุติข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการพัวพันธุรกรรมทางผิดกฎหมาย ด้วยการชำระภาษีย้อนหลังรวมทั้งดอกเบี้ยและค่าปรับในก้อนแรกจำนวน 678,000 ยูโร หรือราว 24 ล้านบาท แก่รัฐบาลสเปนเพื่อเลี่ยงการถูกดำเนินคดีและเพื่อให้ทรงสามารถเสด็จกลับมายังสเปนได้ 

การยินยอมคืนภาษีครั้งที่สองนี้ จะทำให้ไม่สามารฟ้องร้องเอาผิดต่ออดีตประมุขในภายหลังได้ เนื่องจากกฎหมายของสเปนระบุว่าผู้เสียภาษีสามารถหลีกเลี่ยงการถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดได้ หากพวกเขาชำระหนี้ก่อนที่สำนักงานภาษีหรือระบบยุติธรรมจะแจ้งให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเริ่มการสอบสวนอย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ดี พระองค์ยังคงมีคดีที่ 3 ซึ่งศาลสเปนได้เปิดการสอบสวนแล้วจากกรณีที่พระองค์ทรงพัวพันการรับสินบนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง AVE ในซาอุดิอาระเบีย ซึ่งบริษัทของสเปนเป็นผู้ชนะการประมูล โดยทรงได้รับเงินจากรัฐบาลซาอุฯ ราว 100 ล้านดอลลาร์ เข้าบัญชีลับของพระองค์ผ่านธนาคารในสวิตเซอร์แลนด์ เรื่องดังกล่าวจึงส่งผลให้ทรงตัดสินพระทัยเดินทางออกนอกสเปนไปประดับยังสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ตั้งแต่ช่วง ส.ค. 2563

สำหรับ อดีตกษัตริย์ฆวน คาร์ลอส ทรงเคยมีบทบาทสำคัญในการนำพาสเปนไปกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้ง หลังการเสียชีวิตของผู้นำเผด็จการ ฟรานซิสโก ฟรังโก รวมถึงการที่ทรงมีท่าทีแข็งขืนต่อกลุ่มทหารที่พยายามยึดอำนาจ แต่ทว่าความนิยมในตัวพระองค์เสื่อมลงหลังมีข่าวอื้อฉาวเรื่องการเงินและปัญหาภายในราชวงศ์ภายหลัง

"เราไม่ได้ตั้งคำถามต่อพฤติกรรมของสถาบัน แต่เป็นพฤติกรรมของคน ๆ เดียว"
สเปน-นายกรัฐมนตรี

ด้านนายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซ จากพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน (PSOE) ได้ชี้แจงเรื่องนี้ว่า เช่นเดียวกับชาวสเปนส่วนใหญ่ที่ปฏิเสธพฤติกรรมอันไร้ระเบียบของอดีตกษัตริย์ แต่การทรงยินยอมคืนภาษีดังกล่าวนับเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ระบบการตรวจสอบในภาครัฐยังคงมีประสิทธิภาพ และเป็นกรณีตัวอย่างที่เรียกร้องให้ทุกคนมีความรับผิดชอบ โดยนายกฯ จากพรรคกลางซ้ายกล่าวว่า "เราไม่ได้ตั้งคำถามต่อพฤติกรรมของสถาบัน แต่เรื่องนี้เป็นพฤติกรรมของคนๆ เดียว" 

อย่างไรก็ดี ท่าทีจากพรรคโปเดมอส (Podemos) อันเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มีแนวคิดซ้ายจัด กลับไม่เห็นด้วยต่อเรื่องนี้อย่างชัดเจน โดยปาโบล อิเกลเซียส ผู้นำพรรคโปเดมอส รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกิจการสังคม ทวีตข้อความโจมตีว่า กรณีอื้อฉาวของอดีตกษัตริย์สเปน เป็นเครื่องชี้วัดความเสียหายอย่างชัดเจน สอดคล้องกับความคิดเห็นของ ซานดรา เลออน นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคาร์ลอสที่ 3 กรุงมาดริดกล่าวว่า "ชื่อเสียงของฆวนคาร์ลอสเสื่อมโทรมมาก จนฉันไม่คิดว่าข่าวล่าสุดนี้สร้างความแตกต่างให้กับความคิดเห็นของชาวสเปนที่มีต่อเขามากนัก คำถามต่อมาคือ สมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 ประมุของค์ปัจจุบัน จะจัดการกับพ่อของเขาอย่างไร" 

ที่มา: FT , El Pais