ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองคุกรุ่น การชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมาใช้สิทธิส่งเสียงในการร่วมกำหนดอนาคตของตัวเอง
ลลิตา สิงห์สกุล หรือ แสตมป์ มิสแกรนด์นครนายก 2020 ‘ชูสามนิ้ว’ และ ‘ผูกโบขาว’ บนเวทีมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2020 ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์การเรียกร้องล่าสุดของสังคมไทย เมื่อวันเตรียมความพร้อมเปิดตัวผู้เข้าประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2020 (29 ส.ค.) ซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กเพจ Miss Grand Thailand ทำให้เธอได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง
ภายหลังสร้างความฮือฮาบนเวทีนางงาม สาววัย 22 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้รับเสียงชื่นชมที่เธอก้าวข้ามความกลัว กล้าฉายภาพให้เห็นจุดยืนชัดเจน และถูกโจมตีจากผู้เห็นต่าง
“ตั้งใจค่ะ ไม่ได้กลัวคนจะมาด่าหรือว่าอะไร เพราะเป็นเรื่องปกติในสังคมอยู่แล้ว ที่คนจะมีความเห็นต่างกัน”
แสตมป์ ซึ่งอยู่ระหว่างเก็บตัวทำกิจกรรม ที่ จ.เชียงราย กับเพื่อนผู้เข้าประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ เปิดใจกับ ‘วอยซ์ออนไลน์’ ขณะเดินทางมาชมความสวยงามของวัดร่องขุ่น แลนด์มาร์คศิลปะ ที่ก่อตั้งและสร้างสรรค์ชิ้นงานโดย เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ยืนยันว่าไม่รู้สึกเสียใจกับการแสดงออกของเธอ
เธอให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า ในฐานะพลเมืองของประเทศที่มีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดความคิดเห็น ภายใต้ขอบเขตของกฏหมาย ไม่ล่วงละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของผู้อื่น ส่วนตัวมั่นใจว่า การชูสามนิ้ว และผูกโบขาวบนเวทีนางงามของเธอนั้น ไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับใคร และไม่ผิดกฏหมาย
“รู้อยู่แล้วว่าสังคมเรายังไงก็ต้องมีสองความคิดเห็น และความคิดเห็นที่หลากหลาย ก็ไม่เป็นไรค่ะถ้าคนไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร เราไม่ได้ทำอะไรผิด เราแค่แสดงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม อยากบอกทุกคนว่ามีสิทธิ มีเสียง ในการแสดงความคิดเห็น อยากให้รับฟังซึ่งกันและกันมากกว่า”
สาวกรุงเทพมหาคร ที่เข้าร่วมประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ปีนี้ ในฐานะตัวแทนจาก จ.นครนายก เหตุผลที่ทำให้เธอตัดสินใจแสดงจุดยืนต่อสาธารณชน เพราะเห็นว่าสังคมมีความเหลื่อมล้ำ กฏหมายมีช่องโหว่ ขาวกลายเป็นดำ คนทำผิดกลายเป็นถูก ทั้งที่คนรวยและคนจนควรอยู่ภายใต้กฏหมายเดียวกัน มีความเท่าเทียมกัน
“หลายๆ อย่างในบ้านเมืองเรา ยังไม่มีความยุติธรรมเต็มร้อย ด้วยกฏหมายบางเรื่องก็ยังย้อนแย้งอยู่ เปลี่ยนผิดให้เป็นถูก มีช่องโหว่เยอะ การที่เด็กทุกคนเขาก็รับรู้ได้ว่าไม่โอเคนะถึงได้กล้าออกมาขับเคลื่อนกล้าออกมาพูดเด็กสมัยใหม่เขากล้าคิดกล้าทำ อยากเห็นทุกคนมีสิทธิ และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เมื่อมองเห็นปัญหา อยากให้เปิดใจรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเพื่อนำสู่ทางออก”
ถามว่าท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง หวั่นว่าการแสดงจุดยืน จะส่งผลกับการประกวดหรือไม่ แสตมป์ เชื่อว่ากองประกวดฯ ซึ่งมีแนวความคิดในการเฟ้นหาผู้ดำรงตำแหน่งมิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2020 ชัดเจน คือ เป็นผู้หญิงยุคใหม่อยู่ในสังคม ทำงานเป็น คิดเป็น มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความรู้ทันสมัย ไม่น่านำเรื่องนี้มาเป็นเกณฑ์ตัดสิน
“ในวันนี้คำว่านางงามสำหรับหนู ทำให้กระบอกเสียงใหญ่ขึ้นมากกว่า ถ้า ณ วันนี้ไม่ได้มาประกวดนางงามคนก็ไม่สนใจอยู่แล้ว หนูก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่รักในความยุติธรรม และอยากเห็นความยุติธรรมมีอยู่จริงในสังคม เชื่อว่าเพื่อนนางงามหลายคนก็อาจจะมีความคิดเหมือนกัน แต่ทุกคนไม่ได้พูดในที่สาธารณะ อาจมีคนมองว่าหนูตั้งใจมาเรียกร้องความสนใจ มาสร้างกระแส แต่ยืนยันว่าไม่ใช่ คำว่านางงามเมื่อมีกระบอกเสียงใหญ่ขึ้น ก็ควรมีส่วนช่วยขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดี”
ก่อนขอตัวไปร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อนผู้เข้าประกวด แสตมป์ยอมรับว่า ที่ผ่านมา เธอติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวแวดวงการเมืองพอสมควร เพราะเชื่อว่าการเมืองมีความสำคัญกับการดำเนินชีวิต
ความเคลื่อนไหวทางการเมือง ส่งผลกับทุกคนทั้งทางตรงและทางอ้อม บางคนอาจเฝ้าติดตามว่าปีนี้รัฐบาลจะมีนโยบายเศรษฐกิจอย่างไร นโยบายการออกกฏหมายที่มีผลต่อชีวิตเราอย่างไร เป็นต้น เมื่อเปรียบเทียบโลกปัจจุบันกับอดีต ในยุคโซเชียลมีเดียการเมืองอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้น และประชาชนสามารถมีส่วนร่วมมากขึ้น
“การเมืองเป็นสิ่งสำคัญกับชีวิต ส่งผลกับทุกคน ยกตัวอย่างเรื่องความยุติธรรม เมื่อคนหนึ่งคนไม่ได้รับความยุติธรรม มันก็ส่งผลกระทบกับหลายคน อนาคตอยากทำงานด้านการเมืองไหม ไม่ขนาดนั้นค่ะ แค่อยากแสดงความคิดเห็น แสดงจุดยืนของตนเองว่าอยากเห็นความยุติธรรมเกิดขึ้นจริงในสังคม ที่ผ่านมาในโลกโซเชียลมีทั้งชาวเน็ตชื่นชม และโจมตี แต่ก็เคารพความเห็นต่าง ไม่คิดตอบโต้ใดๆ ตอนนี้โฟกัสอยู่กับการประกวด”
สมรัชนะ มูลสาย หรือ ชาน่า ล้านนา ผู้สื่อข่าวสายนางงาม ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กเพจ ต่างก็ดี แสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่ มิสแกรนด์นครนายก ชูสามนิ้ว และผูกโบขาว เป็นการแสดงจุดยืนบนเวทีประกวดนางงามว่า บริบทของนางงามมีสิทธิเลือกเช่นกัน ไม่ใช่ว่าการที่เป็นนางงามไม่มีสิทธิออกเสียงใดๆ
อย่างไรก็ดี การแสดงความคิดเห็นต้องมีเหตุผลมาสนับสนุน สิ่งที่ได้ตัดสินใจแสดงออกมา และก็ต้องพร้อมยอมรับในผลที่จะตามมา เพราะในสังคมมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและเห็นต่างเป็นธรรมดา นอกจากเสียงสนับสนุนแล้ว แน่นอนว่าต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายเห็นต่างเช่นกัน
“ถามว่าผิดไหม ไม่มีกฏข้อไหนห้ามนางงามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพียงแต่ว่าเราต้องมีเหตุผลที่ชัดเจน การที่น้องเขาแสดงความคิดเห็นโดยมีเหตุผลสนับสนุนที่ชัดเจน ก็เป็นสิทธิที่เขาพึงกระทำได้ในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง ดังที่จะเห็นได้จากการประกวดนางงามเวทีระดับนานาชาติ หรือการประกวดนางงามต่างประเทศ"
"อย่างเวทีประกวดนางงามของสหรัฐอเมริกา มีหลายคำถามมากที่นางงามได้รับคำถาม ให้ต้องเลือกว่าจะเลือกอยู่ฝ่ายไหน ซึ่งไม่ว่าเขาจะเลือกฝ่ายไหน ไม่มีผิดไม่มีถูก แต่จะถูกมากที่สุดเมื่อเขาเลือกแล้วมีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอหรือไม่ ยกตัวอย่างว่าเลือกสีขาวหรือสีดำ ถ้าหากตอบว่าเลือกทั้งสองสีอันนี้ตกแน่นอน แต่ถ้าเขาเลือกสีขาวไม่ผิด แต่ต้องให้เหตุผลว่าทำไมเลือกสีขาว ถ้าเลือกสีดำก็ไม่ผิดแต่ต้องให้เหตุผลว่าทำไมเลือกสีดำ คะแนนจะอยู่ตรงนี้"