ไม่พบผลการค้นหา
ในวันนี้ (6 ก.ค.) เมต้า บริษัทแม่ของอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก ได้เปิดตัวแอปพลิเคชันเทรดส์ (Threads) สื่อสังคมออนไลน์แพลตฟอร์มใหม่ ที่มีหน้าตาและฟังก์ชันคล้ายคลึงกับทวิตเตอร์ โดยหลายฝ่ายมองว่า เทรดส์อาจเข้ามาแทนที่ทวิตเตอร์ ที่กำลังตกอยู่ภายใต้ความวุ่นวาย นับตั้งแต่ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเข้าซื้อกิจการ ตามมาด้วยมาตรการต่างๆ ที่ผู้ใช้มองว่าเป็นอุปสรรคต่อการใช้งานทวิตเตอร์เมื่อเทียบกับประสบการณ์เดิม

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประธานคณะกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งเมต้า บริษัทแม่ของ เทรดส์ อินสตาแกรม และเฟซบุ๊ก ประกาศเปิดตัวให้ผู้คนทั่วโลกสามารถใช้งานเทรดส์ได้แล้วในวันพฤหัสบดี หลังจากการประกาศเตรียมเปิดแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ใหม่ ในการแบ่งปันข้อความและรูปภาพอย่างรวดเร็ว ภายใต้ความคิดที่ซักเคอร์เบิร์กระบุว่า “ผมคิดว่าโลกต้องการชุมชนที่เป็นมิตรในลักษณะนี้”

การเปิดตัวเทรดส์โดยซักเคอร์เบิร์กในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังจากที่เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ สืบเนื่องจากการที่ทวิตเตอร์ได้ประกาศการจำกัดการเห็นโพสต์ทวิตเตอร์ หากไม่มีการจ่ายค่าบริการเพิ่มเติม โดยมัสก์อ้างว่า มาตรการดังกล่าวของทวิตเตอร์นี้ เป็นไปเพื่อความต้องการให้ผู้คนบนโลกทวิตเตอร์ออกไปใช้ชีวิตในโลกความเป็นจริงที่มากขึ้น 

ทวิตเตอร์ยังปรับมาตรการจำนวนมากของแพลตฟอร์ม ทั้งการเก็บเงินเพื่อให้บัญชีผู้ใช้สามารถมีเครื่องหมายถูกสีฟ้า เพื่อสิทธิประโยชน์บางประการในการใช้แพลตฟอร์ม ที่ผู้ใช้บางฝ่ายมองว่าเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ผิดทิศทางอีกด้วย

ซักเคอร์เบิร์กระบุว่า ภายหลังจากการเปิดตัวเทรดส์นั้น มีผู้ให้ความสนใจเปิดบัญชีเทรดส์มากกว่า 10 ล้านบัญชีทั่วโลก ภายในระยะเวลาไม่ถึง 7 ชั่วโมงนับตั้งแต่การเปิดตัวให้มีการดาวน์โหลดและเปิดบัญชี ทั้งนี้ เทรดส์เป็นแพลตฟอร์มที่วางอยู่บนพื้นฐานของอินสตาแกรม โดยเน้นหนักไปที่ "การอัปเดตตามเวลาจริงและการสนทนาสาธารณะ" 

ทั้งนี้ เทรดส์เปิดให้บริการในกว่า 100 ประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร แคนาดา ญี่ปุ่น และไทยด้วย อย่างไรก็ดี เทรดส์ยังไม่สามารถใช้งานได้ในสหภาพยุโรป เนื่องจากการเจรจาระหว่างเมต้ากับคณะกรรมการควบคุม ในการแบ่งปันข้อมูลจากอินสตาแกรมมายังเทรดส์ยังคงไม่มีความลงตัว

นักวิจารณ์ด้านเทคโนโลยีบางรายระบุว่า เทรดส์จะกลายมาเป็นแพลตฟอร์มที่จะเข้ามา “ฆ่าทวิตเตอร์” หลังจากมีหลายฝ่ายวิจารณ์การบริหารทวิตเตอร์ และมาตรการที่มีออกมาจากมัสก์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นต้นตอของปัญหาที่ทำให้ทวิตเตอร์เปลี่ยนแปลงไปจากประสบการณ์เดิม 

บริษัททวิตเตอร์เองยังประกับปัญหาภายใต้การบริหารของมัสก์ ตั้งแต่การเลิกจ้างพนักงานชุดใหญ่ รวมถึงไปถึงการจัดการแพลตฟอร์มที่ย่ำแย่ ซึ่งหมายรวมถึงการเก็ยค่าลงโฆษณาบนทวิตเตอร์ ที่ส่งผลให้หลายแบรนด์ตัดสินใจถอนตัวออกจากทวิตเตอร์

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า เทรดส์เอง ซึ่งผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ผ่านบัญชีอินสตาแกรมที่มีอยู่ จะได้รับประโยชน์จากฐานผู้ใช้ขนาดใหญ่ของแอปพลิเคชันแชร์รูปภาพยอดนิยม และความเชื่อมโยงกับผู้ลงโฆษณาระหว่างทั้งสองแอปพลิเคชัน ทั้งนี้ เทรดส์เพิ่งเปิดตัวในวันนี้ และยังคงมีการปรับเปลี่ยนแพลตฟอร์มอยู่ตลอดเวลา 

ในขณะที่ผู้ใช้หลายรายมองว่า เทรดส์อาจไม่ใช่สังคมโลกออนไลน์ในอุดมคติที่ไร้มลพิษ หากแบรนด์ต่างๆ เริ่มเข้าถึงเทรดส์มากขึ้นอย่างที่ทวิตเตอร์เป็นมา อย่างไรก็ดี มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เทรดส์อาจเป็นสังคมออนไลน์ที่เป็นมิตรมากขึ้น เนื่องจากผู้ใช้จำเป็นจะต้องทำการยืนยันตัวเอง ผ่านการผูกบัญชีเทรดส์ของพวกเขาเข้ากับอินสตาแกรม ซึ่งจะทำให้สร้างบัญชีอวตาร หรือบัญชีปลอมทำได้น้อยลง กล่าวคือผู้ใช้จะมีภาระความรับผิดชอบต่อการโพสต์ของตัวเองมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ความพยายามก่อนหน้านี้ในการท้าทายทวิตเตอร์จากหลายแพลตฟอร์มเปิดใหม่ ยังประสบความสำเร็จที่อยู่ในขั้นที่จำกัด โดยแอปพลิเตชันทางเลือกของทวิตเตอร์ เช่น มาสโตดอน บลูสกาย และ โพสต์ กลับล้มเหลวในการเข้าถึงผู้ใช้ที่กระจุกตัวอยู่ในทวิตเตอร์ แพลตฟอร์มอันทรงอิทธิพล ที่มีผู้ใช้มากกว่า 400 ล้านคนทั่วโลก


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/economy/2023/7/6/facebooks-meta-launches-twitter-killer-social-network-threads?fbclid=IwAR3sGabsodeFilxzlSoi54-TW6-WAbRDK-iucM6xyyvMefmZUXztpGFhczE