ไม่พบผลการค้นหา
ภาคประชาชน เตรียมเคลื่อนไหวล่าล้านรายชื่อ สนับสนุนสมรสเท่าเทียม เพื่อผลักดันเข้าสภาฯ

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 24 พ.ย. ที่รัฐสภา ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม ยื่นร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับภาคประชาชน ต่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เพื่อขอการสนับสนุนจากพรรคการเมืองให้ผลักดันเข้าสู่สภาฯ โดยตัวแทนภาคีฯ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าการสมรสเฉพาะชายหญิงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีข้อสังเกตให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรากฎหมายเพื่อคุมครองได้ ซึ่งสภาฯ เป็นประตูเพื่อตรากฎหมายคุ้มครอง ในนามภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียมจำนวน 67 องค์กร จะทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนให้สภาฯ คุ้มครองเราอย่างเท่าเทียม ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม

ซึ่งจากงานวิจัยและการทำงานของภาคีฯ พบว่าสามารถแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ง่ายๆ โดยการเปลี่ยนคำจาก เพศทวิลักษณ์ เป็นคำที่เป็นกลางทางเพศ เช่น จากการสมรสระหว่างชายและหญิง มาเป็นการสมรสของบุคคลและบุคคล เปลี่ยนคำว่าบิดามารดาเป็นคำว่าบุพการี และเปลี่ยนจากคำว่าสามีภรรยาเป็นคำว่าคู่สมรส ซึ่งจะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงกฎหมายได้อย่างเท่าเทียม การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเจตจำนงและนัยยะสำคัญของชายหญิงคู่รักต่างเพศเลย

แต่จะทำให้ชายหญิงคู่รักต่างเพศที่มีลูกหลานเป็น lgbtq+ มั่นใจด้วยซ้ำว่าลูกเขาจะได้รับการคุ้มครองและมีความมั่นคง ซึ่งเราหวังอย่างสูงสุดว่าพรรคเพื่อไทยอาจจะพัฒนาร่างนั้น นำเสนอกฎหมายโดย ส.ส. 20 คนร่วมกันเข้าชื่อเสนอต่อสภาฯ ก็ได้ ทั้งนี้ เราจะทำงานเคลื่อนไหวในฐานะภาคประชาชน โดยจะรวบรวมชื่ออย่างน้อย 10,000 รายชื่อ และคาดหวังว่าจะสามารถรวบรวมรายชื่อจากผู้ที่สนับสนุนสมรสเท่าเทียม 1 ล้านรายชื่อมายื่นในสภาฯ หวังว่าสภาฯ ส.ส. และส.ว.จะเปิดรับเสียงประชาชน

ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเห็นความสำคัญเรื่องนี้ โดยเราได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอกจากนี้ มุกดา พงษ์สมบัติ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ก็ได้รับเรื่องนี้ไปพิจารณาศึกษาในกมธ. ซึ่งเราก็มีร่างกฎหมายอยู่แล้ว ในนามของพรรคเพื่อไทยเรามีเจตนาที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์และนโยบายของพรรคที่ได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา

ส่วนรายละเอียดของตัวนโยบายที่จะใช้ในการรณรงค์จะประกาศออกมาอีกครั้ง สำหรับประเด็นที่เป็นข้อเรียกร้องไม่น่าจะยากเกินไปในการที่จะขับเคลื่อนและผลักดันเข้าสู่รัฐสภาโดยผ่านพรรคการเมือง ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีถ้าทุกพรรคการเมืองเห็นร่วมกัน การขับเคลื่อนก็จะเป็นไปได้ง่าย แม้อาจจะมีความเห็นต่างในบางประเด็นซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา โดยเรามุ่งหวังที่จะทำให้กฎหมายเป็นการคุ้มครองสิทธิ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับการทำกฎหมายฉบับนี้ของพรรคเพื่อไทย 

“ในนามพรรคเพื่อไทยยินดีที่จะรับเรื่องจากทางภาคีฯ ไปดำเนินการต่อ โดยตั้งใจว่าเมื่อมีร่างของกมธ.แล้ว มีร่างของภาคีฯ แล้ว เราก็จะทำเป็นร่างของพรรคเพื่อไทย ให้ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้เข้าชื่อกันก่อนจะนำเสนอต่อสภาฯ ช่องทางนี้จะเร็วที่สุด เนื่องจากจะปิดสมัยประชุมนี้ในวันที่ 28 ก.พ. 2565 จึงอยากฝากให้พิจารณาเจตนารมณ์ที่จะเข้าชื่อ 1 ล้านชื่อ ว่า แม้จะมีพลังแต่ก็จะทำให้ขั้นตอนช้า เนื่องจากการตรวจสอบรายชื่อ 1 ล้านชื่อของสำนักเลขาธิการสภาฯ ใช้เวลานานมาก และจะทำให้ไม่ทันในสมัยประชุมนี้ จึงอยากให้เอาแค่ 10,000-15,000 ชื่อตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ส่งมาก่อน ส่วนจะตามมาทีหลังก็เป็นเรื่องของกระบวนการและวิธีการ ซึ่งจะทำให้กฎหมายที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยและภาคประชาชนเข้าไปพบกันในสภาฯ พอดี และสามารถผลักดันในสมัยประชุมนี้ได้” นพ.ชลน่าน กล่าว