ไม่พบผลการค้นหา
สามจังหวัดภาคใต้คึกคักขึ้นหลังจากที่พรรคเริ่มเดินหน้าหาสมาชิกและช่วงชิงผู้สมัคร แต่การเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาปฏิรูปมีเค้ายังอยู่กับระบบหัวคะแนนและการซื้อเสียง ชี้หนนี้หัวคะแนนและข้าราชการระดับล่างจะลำบาก เพราะการแย่งชิงกันของพรรคใหญ่ที่ต่างใช้ฐานหาเสียงอันเดียวกัน

ถึงแม้ไม่สามารถดำเนินการหาเสียงได้อย่างเป็นทางการ แต่ในช่วงที่ผ่านมา บรรดาพรรคการเมืองก็ได้เปิดตัวและทำกิจกรรมกันแล้วภายใต้เงื่อนไขว่าเป็นการหาสมาชิกใหม่ รวมทั้งมีการเข้าร่วมกิจกรรมการพูดคุยที่กลุ่มนักรณรงค์กลุ่มต่างๆจัดขึ้น เพื่อให้พรรคการเมืองได้แสดงวิสัยทัศน์โดยเฉพาะนโยบายต่อพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้ปลุกชุมชนในพื้นที่ให้หันมาคุยกันในเรื่องการเมืองอีกครั้งหลังจากที่ซบเซาไปหลายปีภายใต้คสช.

แต่ท่ามกลางความสนใจในการเมืองที่เพิ่มขึิ้นอย่างมาก การดำเนินการของพรรคการเมืองยังมีข้อจำกัด เงื่อนไขเวลาหาเสียงที่สั้น บวกกับระบบนับคะแนนแบบใหม่และพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงของคนในพื้นที่ที่ผูกติดกับตัวบุคคลทำให้หลายพรรคยังคงแสวงหาตัวว่าที่ผู้สมัครจากอดีตผู้แทน หรือผู้ที่เคยลงสมัครมาแล้วรวมทั้งกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพล ทำให้มีการแย่งชิงตัวอดีต ส.ส.และบุคคลในครอบครัวเดียวกันให้เห็นหลายราย

market2.jpg


พรรคที่เชื่อกันว่ามีโอกาสสูงและได้เปรียบพรรคอื่นในเวลานี้คือพรรคพลังประชารัฐ หากดูจากเงื่อนไขของการมีฐานเสียงอดีต ส.ส.ที่พรรคได้มา โดยเฉพาะในด้านกำลังสนับสนุนจากคนในรัฐบาลและการเข้าถึงกลไกราชการในพื้นที่เพราะมีผู้ประสานงานคนสำคัญเป็นถึงอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือ ศอ.บต. นายภาณุ อุทัยรัตน์ รวมทั้งผู้ที่มีบทบาทในกระบวนการพูดคุยสันติสุขอย่าง พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชน์ และนายอนุมัติ อาหมัด นักธุรกิจและอดีตสนช.

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเคยครองพื้นที่กวาดที่นั่งสส.เกือบหมดในการเลือกตั้งหนก่อนหน้านี้ คราวนี้กลับถูกดึงตัวอดีต ส.ส.ไปหลายคน โดยเฉพาะพรรครวมพลังประชาชาติไทยหรือรปช.ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณที่ได้จากปชป.ไปถึง 6 คน รวมทั้งบุคคลสำคัญที่เคยสนับสนุนพรรคอย่างเช่นนายภาณุก็ย้ายไปสนับสนุนพลังประชารัฐ อย่างไรก็ตามปชป.ก็ยังเหลืออดีตสส.อยู่ในสังกัดจำนวนหนึ่งเช่นนายอันวาร์ สาและ ในขณะที่พรรครปช.ของนายสุเทพก็ยังได้รับการต้อนรับจากกลุ่มคนในพื้นที่ที่เคยเป็นอดีตกปปส.อย่างอบอุ่นในการออกเดิน “คารวะแผ่นดิน” ในสามจังหวัดเมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้เสียงของกลุ่มคนพุทธในพื้นที่คาดว่าน่าจะแตกในหนนี้เพราะมีถึงสามพรรคที่อาศัยฐานเสียงคนกลุ่มนี้และมาแข่งกันเองดังกล่าว

อีกพรรคหนึ่งที่เป็นที่จับตาก็คือพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีว่าที่ผู้สมัครโดดเด่นในนราธิวาสที่เป็นผู้มีความใกล้ชิดกับคนในพื้นที่รวมถึงมวลชนของกลุ่มผู้เห็นต่าง รายงานข่าวเปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีข้อเสนอจากพรรคภูมิใจไทยต่อกลุ่มในพื้นที่บางกลุ่มว่าพร้อมจะสนับสนุนในการต่อรองในเรื่องเขตปกครองตนเอง ในขณะที่ผู้อยู่เบื้องหลังพรรคตัวจริงคือนายเนวิน ชิดชอบก็ได้รับความชื่นชมจากคนในพื้นที่ในเรื่องการพัฒนาบุรีรัมย์โดยใช้กีฬาเป็นเครื่องมือจนถึงกับทำให้หลายคนมองว่าเป็น “โมเดล” ในการพัฒนาได้ พรรคนี้พุ่งเป้าหาเสียงอย่างหนักกับกลุ่มคนจากสามจังหวัดที่อาศัยอยู่ในมาเลเซีย ซึ่งเชื่อกันว่ามีผู้มีสิทธิออกเสียงเป็นจำนวนนับแสนโดยเฉพาะในรัฐกลันตัน ทำให้พรรคอื่นเริ่มเน้นหาเสียงกับคนกลุ่มนี้เช่นกัน เช่นพรรคประชาชาติที่เพิ่งจัดกิจกรรมด้านกีฬาเพื่อพบปะกับคนไทยในกลันตันเมื่อไม่นานมานี้

ที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องเสมอให้พรรคการเมืองกำหนดนโยบายเฉพาะสำหรับพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ทำให้พรรคการเมืองแทบทุกพรรคกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาความรุนแรงโดยรวมไปถึงการสนับสนุนการพูดคุยสันติภาพ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ทำให้ผู้สนใจต้องเปรียบเทียบความเป็นไปได้โดยดูจากรายละเอียด แต่เนื่องจากการหาเสียงอย่างเป็นทางการยังไม่เริ่ม รายละเอียดหลายอย่างจึงยังไม่ออกมา ผู้สนใจจึงมักจะต้องเปรียบเทียบเอาเองจากศักยภาพของพรรค บุคคลในพรรค ประเด็นหนึ่งที่มักมีการตั้งคำถามคือ การแก้ปัญหาภาคใต้ตลอดจนการพูดคุยสันติภาพนั้นใครจะดำเนินการได้ดีกว่ากันระหว่างพลเรือนและทหาร คนจำนวนไม่น้อยมองว่าการสร้างสันติภาพต้องทำภายใต้ระบอบประชาธิปไตย และการพูดคุยที่ผ่านมาไม่ขยับ

sign.jpg


ผู้สนใจการเมืองในพื้นที่จำนวนไม่น้อยอยากเห็นพื้นที่สามจังหวัดมีพรรคการเมืองของตนเอง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการจัดตั้งพรรคเฉพาะเช่นนั้นมักไม่ประสบความสำเร็จ แต่ในปัจจุบันนักการเมืองเช่นกลุ่มวาดะห์ได้รวมตัวกันอีกครั้งภายใต้ร่มเงาของพรรคใหม่คือพรรคประชาชาติที่ผู้บริหารพรรคส่วนใหญ่เป็นมุสลิมจากในพื้นที่ แต่มีเลขาธิการพรรคคือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่เคยรั้งตำแหน่งเลขาธิการศอ.บต.ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พรรคประชาชาติชูความเป็นพหุวัฒนธรรมให้เป็นแนวทางแก้ปัญหาสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งแม้รายละเอียดจะยังไม่ชัดนักในสายตาหลายคน แต่ผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการแก้ไขความขัดแย้งในพื้นที่ต่างเห็นกันว่าจะเป็นทางออกในปัญหาความขัดแย้งนี้ได้ พรรคประชาชาติมีกลุ่มสมาชิกคนสำคัญที่ผสมผสานไปด้วยอดีตนักการเมือง ภาคประชาสังคม และชูธงคนรุ่นใหม่ในพรรคที่มีหลายคนได้รับเลือกเข้าสู่ตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค อย่างไรก็ดีการมีกลุ่มวาดะห์ในพรรคนั้นเป็นได้ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน เพราะคนในพื้นที่หลายคนบอกว่ามองไม่เห็นผลงานของวาดะห์มากนักในช่วงที่ความขัดแย้งทวีความรุนแรง

แต่สำหรับผู้ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง หลายคนเห็นว่าพวกเขายังมีทางเลือกอื่นอีก โดยเฉพาะกับพรรคใหม่ที่ถือว่ากระแสมา “แรง” นั่นก็คือพรรคอนาคตใหม่ที่หัวหน้าพรรคและสมาชิกคนสำคัญมีอิทธิพลทางความคิดต่อคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง อย่างไรก็ตาม พรรคไม่มีฐานเสียงในพื้นที่ และหลายคนชี้ว่า ขณะนี้เห็นได้ชัดว่าภายในพรรคยังต้องการการวางระบบการทำงานอีกมาก นอกจากนั้นตัวแทนของพรรคและสมาชิกคนสำคัญยังพูดถึงแนวทางของพรรคไปกันคนละทางโดยเฉพาะในเรื่องหนทางการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

แต่ในภาวะที่คนจำนวนหนึ่งเห็นว่า การเลือกตั้งหนนี้ไม่มีนัยในการเลือกผู้บริหารประเทศ เพราะอยู่นอกเหนือความสามารถในการกำหนดของพวกเขา หลายคนมองพรรคอนาคตใหม่เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และเป็นจุดเริ่มต้นในหมากการเมืองตาใหม่ที่ต้องมองระยะยาว ส่วนพรรคการเมืองหน้าใหม่รายอื่นที่ได้รับความสนใจจากคนในพื้นที่สามจังหวัดใต้ ก็ยังมีพรรคสามัญชน แต่พรรคก็มีปัญหาในเรื่องฐานเสียงเช่นเดียวกัน ในขณะที่มีภาพที่แคบกว่าว่าเป็นเพียงตัวแทนของกลุ่มคนทำงานเพื่อสังคมเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีพรรคของกลุ่มคนพุทธคือพรรคแผ่นดินธรรมที่เสนอแนวทางว่าต้องใช้ “ศีลธรรมนำชาติ” ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงอีกด้วย พรรคนี้เติบโตมาจากเครือข่ายชาวพุทธที่เคยเคลื่อนไหวหลายๆเรื่องรวมทั้งเรื่องไม่ต้องการให้ก่อสร้างมัสยิดในบางพื้นที่

checkpoint1.jpg

สำหรับความสนใจที่มีต่อการเลือกตั้งหนนี้นั้นมีมากอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่และที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบวกกับเบื่อหน่ายความซบเซาทางเศรษฐกิจ มีคนที่ทำงานในภาคประชาสังคมจำนวนมากที่ก้าวเข้าไปทำงานการเมือง และในหลายพรรคต่างแสดงว่ามีคนรุ่นใหม่เข้าทำงานให้กับพรรค เช่น มูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารุน อดีตผู้สื่อข่าวให้กับโทรทัศน์ช่อง 9 ได้เข้าร่วมกับพรรคประชาชาติทำกลุ่มเยาวชนของพรรคขึ้นมา แต่อีกด้านหนึ่งระบบการนับคะแนนแบบใหม่ทำให้ทุกพรรคต้องให้ความสำคัญกับการกวาดคะแนนให้ได้มากที่สุดจากทุกเขตเพราะส่งผลต่อคะแนนของผู้สมัครกลุ่มปาร์ตี้ลิสต์ ทั้งหมดนี้ทำให้พรรคใหญ่ต่างๆเน้นตัวบุคคลหรือครอบครัวที่มีอิทธิพลและมีชื่อเสียง ซึ่งในทางกลับกันก็กลายเป็นการปิดโอกาสสำหรับผู้สมัครหน้าใหม่ไป นอกจากนี้การแข่งขันที่สูงเนื่องจากเวลาสั้นทำให้เชื่อกันว่าการเลือกตั้งหนนี้จะยังคงมีการใช้เงินในการซื้อเสียงเช่นเดิมและจะเป็นจำนวนมากด้วย

นักสังเกตการณ์ชี้ว่า ในการเลือกตั้งหนนี้ระบบหัวคะแนนจะเข้มข้นอย่างมาก กลุ่มคนที่อยู่ในกลไกรัฐระดับล่างและหัวคะแนนจะถูกบีบ เพราะพรรคใหญ่สองสามพรรคต่างพึ่งพิงระบบนี้ที่จะว่าไปแล้วแทบจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐเข้าถึงกลไกของรัฐได้มากกว่าใคร อย่างเช่นในนราธิวาสนั้นพรรคภูมิใจไทยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มผู้มีอิทธิพล ทั้งผู้ใหญ่บ้าน กำนันและอบต. แต่อีกด้านหนึ่งเจ้าหน้าที่รัฐระดับล่างที่รวมไปถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้านยังจะต้องฟังพรรคพลังประชารัฐ คนกลุ่มนี้หลังนี้เชื่อว่าจะลำบากใจอย่างยิ่งเพราะอยู่ตรงกลางระหว่างคนสองกลุ่ม

checkpoint2.JPG


ท่าทีของพรรคว่าสนับสนุนทหารหรือไม่ยังคงเป็นประเด็น เนื่องจากในพื้นที่นั้นเป็นที่รู้กันว่า “สายทหาร” ไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนจำนวนหนึ่ง สำหรับหลายคนในพื้นที่การเลือกตั้งหนนี้จึงเป็นการเลือกระหว่าง “สายทหาร” กับที่ไม่ใช่ แต่ก็มีปรากฎการณ์ที่สร้างความแปลกใจ นอกจากบางครอบครัวที่ถูกทาบทามอย่างหนักแล้ว ยังมีบางองค์กรเช่นศูนย์ทนายความมุสลิมที่ผู้บริหารศูนย์และเป็นทนายความที่มีชื่อเสียงสามคนล้วนแยกกันลงให้กับต่างพรรคคือมีทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาชาติและพรรคภูมิใจไทย ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ติดตามผลงานเพราะเป็นที่เข้าใจกันตลอดมาว่าทนายความของศูนย์ต้องทำงานในลักษณะที่พบกับแรงกดดันจากเจ้าหน้าที่ทหารเรื่อยมา