ไม่พบผลการค้นหา
ศาลแพ่ง สั่ง สตช. จ่ายค่าเสียหาย 2 สื่อ ผู้สื่อข่าว PLUS SEVEN และ ช่างภาพ The MATTER เหตุถูก คฟ. ยิงกระสุนยางใส่ ระหว่างสลายชุมนุม

26 ก.ย. 2566 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก คำตัดสิน ในคดีหมายเลขดำที่ พ3683/2564 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 712 กรณีที่นักข่าวและช่างภาพ จากสื่อมวลชน 2 สำนัก คือ ผู้สื่อข่าว PLUS SEVEN และ ช่างภาพ The MATTER ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวน 1.4 ล้านบาท ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ในความผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จากกรณีที่ ถูกยิงกระสุนยางเข้าใส่จนได้รับบาดเจ็บ ระหว่างไปทำข่าวการชุมนุม บริเวณถนนราชดำเนินและแยกนางเลิ้ง เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2564

ศาลมีคำพิพากษาว่า ให้ สตช.ในฐานะจำเลยที่หนึ่ง และต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ชดใช้ค่าเสียหายให้ช่างภาพสื่อ 2 คนคือ ธนาพงศ์ เกิ่งไพบูลย์ ผู้สื่อข่าว PLUS SEVEN เป็นจำนวนเงิน 42,000 บาท และชาญณรงค์ เอื้ออุดมโชติ ช่างภาพ The MATTER เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท

ศาลพิพากษาว่า ในกรณีของธนาพงศ์ คฝ.ทำการละเมิดจริง เป็นการกระทำโดยไม่จำเป็น และไม่ได้สัดส่วน เนื่องจากธนาพงศ์ ยืนอยู่ในพื้นที่รวมกับกลุ่มสื่ออื่นๆ และไม่ได้ท่าทีที่คุกคามเจ้าหน้าที่ การกระทำของเจ้าหน้าที่จึงถือว่าทำโดยปราศจากความระมัดระวัง

ขณะที่กรณีของชาญณรงค์ซึ่งถูก คฝ.ยิงที่แขนซ้าย บริเวณพื้นที่ใกล้แยกนางเลิ้ง ศาลเห็นว่า เจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางจากจุดที่ไกลเกินกว่าที่จะระบุเป้าหมายเป็นการเฉพาะเจาะจงได้ แต่ศาลก็ยังเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ เป็นการกระทำที่ขาดความระมัดระวังเช่นกัน

ศาลระบุด้วยว่า การที่ สตช.บอกว่าบาดแผลของชาญณรงค์เหมือนโดนลูกแก้วนั้น ศาลเชื่อว่าเป็นกระสุนยางจริง

สำหรับคำพิพากษาสรุปความได้ว่า

แม้มาตรา 3 (6) แห่ง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จะบัญญัติว่า พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ไม่ใช้บังคับในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ต้องเป็นไปตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็มีผลแต่เพียงประชาชนไม่อาจใช้สิทธิในการชุมนุมสาธารณะได้ตามช่องทางที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ หากมีการชุมนุมจะเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกับผู้กระทำความผิดในทางอาญา ส่วนในทางควบคุมฝูงชน แม้มิได้มีกฎหมายกำหนดอำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเฉพาะ แต่ก็มิได้หมายความว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีอำนาจกระทำการใดๆ ได้โดยอำเภอใจ หรือโดยใช้ความรุนแรงในการควบคุมฝูงชนโดยไม่จำเป็น หรือไม่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่มีขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่มีการใช้ความรุนแรง เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ขั้นตอน ระเบียบ และวิธีการที่เหมาะสม กล่าวคือใช้กำลังเท่าที่จำเป็น ได้สัดส่วน และเหมาะสมกับสถานการณ์ตามหลักการใช้กำลัง เครื่องมือ อุปกรณ์ และอาวุธตามแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะที่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี นอกจากนี้ ทั้งโจทก์ที่ 1 และ 2 ก็มิใช่ผู้เข้าร่วมชุมนุม แต่เป็นสื่อมวลชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมเพื่อเสนอข่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เกิดผลกระทบแก่โจทก์ทั้งสอง

ในข้อหาที่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ยืนยันว่า ขณะที่โจทก์ที่ 1 ถูกยิงด้วยกระสุนยางนั้น โจทก์ที่ 1 ยืนอยู่บริเวณทางเท้าฝั่งศาลท่านท้าวมหาพรหม ถนนราชดำเนินนอก ซึ่งมีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ถ่ายภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ชุมนุมอยู่บริเวณกลางถนน ห่างจากโจทก์ที่ 1 ไม่น้อยกว่า 5 เมตร โจทก์และกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้ยืนปะปนกัน อยู่ห่างกันอย่างชัดเจน ไม่มีการประกาศว่าจะมีการใช้กระสุนยาง และโจทก์ที่ 1 ไม่มีท่าทีคุกคามบุคคลหรือพฤติกรรมจะก่อให้เกิดความรุนแรงหรืออันตรายประการใด เจือสมกับคลิปวิดีโอภาพเหตุการณ์ที่เป็นพยานหลักฐาน

ส่วนที่จำเลยที่ 1 นำสืบโดยพยานเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความอ้างว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนนำหุ่นจำลองห่อผ้าขาวมาสุมวางกันหลายตัวและจุดไฟเผาหุ่นดังกล่าวใกล้กับซุ้มเฉลิมพระเกียรติและภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และพระราชินีฯ บริเวณสะพานแยกผ่านฟ้า เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเคลื่อนตัวออกจากแนวกีดขวางที่ 2 เพื่อเข้าไปดับเพลิง แต่มีผู้ชุมนุมยิงหนังสติ๊กและขว้างปาหัวนอตใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจำเป็นต้องใช้กระสุนยางเพื่อป้องกันตัวและคุ้มกันบุคคลอื่นให้พ้นจากภยันตราย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงยิงกระสุนโดยเฉพาะเจาะจงต่อเป้าหมาย และเลือกเป้าหมายที่จะกระทำการยิงเป็นผู้ที่มีท่าทีคุกคามเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น มิได้เล็งเป้าหมายไปยังโจทก์ที่ 1 แต่คำเบิกความนั้นก็มีลักษณะเป็นการเบิกความถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการทั่วไป มิได้ระบุเฉพาะเจาะจงถึงกรณีของโจทก์ที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มิได้นำเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยางไปถูกโจทก์ที่ 1 มาเบิกความให้ได้ข้อเท็จจริงว่ามีความจำเป็นอย่างไรถึงต้องใช้กระสุนยางเพื่อป้องกันตัวและป้องกันเจ้าหน้าที่ตำรวจคนอื่นให้พ้นจากภยันตราย อีกทั้งคำเบิกความก็ไม่สอดคล้องกับภาพคลิปวิดีโอเหตุการณ์ อีกทั้งเมื่อดูภาพจะพบว่าซุ้มเฉลิมพระเกียรติและพระบรมฉายาลักษณ์ จะเป็นคนละด้านกับที่โจทก์ที่ 1 อยู่ หลักฐานของพยานจำเลยที่ 1 จึงมีน้ำหนักรับฟังได้น้อยกว่าของโจทก์

ส่วนที่โจทก์ที่ 2 กล่าวอ้างว่า ตนได้รับผลกระทบจากสารเคมีในแก๊สน้ำตา ขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ทำข่าวบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศและสะพานชมัยมรุเชฐนั้น เห็นว่า ในเหตุการณ์แรกที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ โจทก์ที่ 2 มิได้เบิกความยืนยันว่าขณะถูกแก๊สน้ำตา โจทก์ที่ 2 อยู่บริเวณจุดใดและช่วงเวลาใด เนื่องจากมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เครื่องมือในการควบคุมฝูงชนหลายเหตุการณ์ แต่ละช่วงเวลาแตกต่างกัน โจทก์ที่ 2 เบิกความยืนยันเพียงว่า ไม่ปรากฏว่ามีผู้ชุมนุมที่มีพฤติการณ์ใช้ความรุนแรงหรือก่อเหตุอันตรายจนถึงขนาดที่จะเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมได้ และไม่มีการแจ้งเตือนการใช้แก๊สน้ำตาก่อน

พยานเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความว่า เมื่อกลุ่มการ์ดรื้อถอนทำลายแนวลวดหนามแนวแรก จึงมีประกาศให้เลิกกระทำ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่เลิก แต่ยังคงใช้หนักสติ๊กขว้างปาขวดแก้วและสิ่งของเข้าใส่กำลังพล จึงประกาศว่าจะฉีดน้ำและให้สื่อมวลชนที่อยู่ในแนวหน้า ขยับไปด้านซ้ายและขวา เจ้าหน้าที่ตำรวจฉีดน้ำโดยฉีดกดลงต่ำ หน้าแนวของผู้ชุมนุม กลุ่มการ์ดจึงนำมาโล่มาตั้งแนวป้องกันและรื้อลวดหนามต่อเนื่อง พยานจึงประกาศว่าจะใช้น้ำผสมสีฉีดเพื่อระบุตัวผู้กระทำความผิดและเริ่มฉีดน้ำใส่กลุ่มการ์ด

ต่อมาจึงมีการรวบรวมผลการปฏิบัติงานจัดทำเป็นรายงานเพื่อเสนอผู้บังคับบัญชา ซึ่งหากพิจารณาจากพยานหลักฐานแล้วดังกล่าว ไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาในการปฏิบัติหน้าที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศแต่อย่างใด โดยโจทก์ที่ 2 ก็มิได้นำสืบถามค้านให้เห็นว่ามีการผสมน้ำกับแก๊สน้ำตาหรือไม่ อย่างไร ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ตำรวจถ่ายภาพถ่ายคลิปวิดีโอเป็นจำนวนมาก แต่ก็ไม่พบว่ามีการบันทึกภาพที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาไว้ได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังไม่ได้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ

ส่วนบริเวณแนวรั้งหน่วงสะพานชมัยมรุเชฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้น้ำผสมแก๊สน้ำตาฉีดพ่นฝอยขึ้นฟ้าเป็นแนวม่าน ผลักดันไม่ให้ผู้ชุมนุมอยู่ในระยะที่ยิงหนังสติ๊กหรือขว้างปาสิ่งของได้ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ และใช้แก๊สน้ำตายิงด้วยวิถีโค้งสร้างแนวม่านแก๊สเพื่อกดดันให้ผู้ชุมนุมถอยร่นด้วย ซึ่งเป็นการยิงในช่วงที่ผู้ชุมนุมได้ใช้รถบรรทุกยกกระบะท้ายถอยเข้าใกล้แนวรั้งหน่วง จึงยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปใต้รถบรรทุกเพื่อสกัดรถบรรทุกไม่ให้เข้าใกล้แนวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเคลื่อนกำลังออกจากแนว สอดคล้องกับที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความว่า การตั้งจุดแนวรั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันพื้นที่แนวหลังและสถานที่สำคัญต่างๆ ซึ่งแต่เดิมจะใช้เพียงโล่ แต่พบจากประสบการณ์ว่าไม่สามารถป้องกันได้ จึงต้องใช้เครื่องกีดขวางเพิ่มเติม

เมื่อปรากฏว่ามีการประกาศเตือนก่อนจะใช้แก๊สน้ำตาก่อนการใช้กับผู้ชุมนุมแล้ว จึงยังรับฟังไม่ได้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการปฏิบัติหน้าโดยมิชอบ เกินจำเป็น ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ หรือไม่ได้สัดส่วน ทั้งแก๊สน้ำตาเป็นเครื่องมือควบคุมฝูงชนที่มีผลในวงกว้างและจำนวนมาก โดยสภาพไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้โดยเฉพาะเจาะจง แม้โจทก์ที่ 2 มิใช่ผู้ชุมนุม แต่โจทก์ที่ 2 สมัครใจเข้าไปอยู่ในบริเวณที่มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ มิได้อยู่บริเวณหลังผู้ชุมนุมหรือหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดผลกระทบแก่โจทก์ที่ 2 ได้ แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้แก๊สน้ำตาอย่างระมัดระวังแล้วก็ตาม จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ที่ 2

ส่วนที่โจทก์ที่ 2 กล่าวอ้างว่า ตนได้รับบาดเจ็บที่บริเวณแขนซ้ายจากกระสุนยาง โจทก์ที่ 2 เบิกความยืนยันว่า ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่ใกล้กับป้ายรถเมล์หน้าสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ศูนย์พาณิชย์ ห่างจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่กลางถนน โดยโจทก์ที่ 2 อยู่ห่างจากป้ายรถเมล์ไปทางฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 10-15 เมตร โจทก์ที่ 2 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ปืนยิงกระสุนยางใส่ 1 นัด มีทิศทางมาจากสะพานชมัยมรุเชฐ ทั้งที่โจทก์ที่ 2 ไม่ได้มีพฤติการณ์คุกคามหรือก่อให้เกิดความรุนแรงและอันตรายแก่บุคคลใดที่จะเป็นเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ปืนยิงกระสุนยางใส่โจทก์ที่ 2 ได้ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า จุดที่โจทก์ที่ 2 ห่างจากแนวของเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 70 เมตร เกินกว่าระยะหวังผลจากปืนยิงกระสุนยางที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ อาจเป็นไปได้ว่าโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บขณะอยู่บริเวณป้ายรถเมล์ และเป็นแผลที่อาจเกิดจากการถูกยิงในระยะ 20-25 เมตร เห็นว่า โจทก์ที่ 2 เบิกความยืนยันถึงตำแหน่งที่ตนเองอยู่ โดยไม่ปรากฏข้อสงสัยพิรุธว่าไม่เป็นความจริง

แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีพยานปากเจ้าหน้าที่สรรพาวุธมาเบิกความยืนยันว่า พยานทดลองยิงกระสุนยาง โดยการยิงในแนวระนาบ มีระยะยิงได้ไกลสุด 47 เมตร ปรากฏตามคลิปวิดีโอการทดสอบยิง และจากการคำนวณหลักคณิตศาสตร์แล้ว ก็ปรากฏว่า กระสุนยางยิงไปได้ไกลที่สุด 46 เมตร แต่จากการตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า หากมุมยิงเพิ่มขึ้นเป็น 2 องศา จากการคำนวณแล้วจะมีระยะที่กระสุนตกเพิ่มขึ้นเป็น 77 เมตร และ 4 องศา จะมีระยะกระสุนตกเพิ่มขึ้นเป็น 118 เมตร ดังนั้นจุดที่โจทก์ที่ 2 อยู่ จึงมิได้เป็นไปไม่ได้ว่าจะไม่ถูกยิงจากกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าจากบาดแผล ประเมินแล้วอาจจะถูกยิงในระยะ 20-25 เมตรนั้นก็เป็นเพียงการคาดเดา ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันได้ นอกจากนี้ยังปรากฏภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุเล็งปากกระบอกปืนเชิดขึ้นจากแนวระนาบเล็กน้อย ย่อมเป็นไปได้ที่จะทำให้ระยะการยิงกระสุนยางตกไกลออกไปจากระยะที่สามารถยิงกระสุนยางได้อย่างแม่นยำ ซึ่งไม่เป็นไปตามแนวทางการใช้กระสุนยางตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 จึงมีน้ำหนักรับฟังได้น้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 ถูกกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ตำรวจจริง ซึ่งตำแหน่งที่โจทก์ที่ 2 อยู่บริเวณใกล้รถเมล์ ซึ่งวัดระยะทางได้ 70 เมตร สอดคล้องกับการคำนวณระยะทางยิงของปืนยิงกระสุนยาง

แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเบิกความว่า ผู้ชุมนุมจะเข้ารื้อถอนและทำลายลวดหนามที่เป็นแนวกีดขวาง ทำให้ผู้ชุมนุมสามารถนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ และรถบรรทุกหกล้อจำนวน 4 คัน เข้ามาใกล้แนวกีดขวางที่ 2 ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องโต้ตอบด้วยการยิงกระสุนยางไปที่ผู้ชุมนุมเพื่อเป็นการป้องกันตัวจากการที่ผู้ชุมนุมใช้หนังสติ๊กยิงลูกแก้วใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้จะไปเป็นตามหลักการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถกระทำได้โดยตามกฎหมาย แต่จากตำแหน่งที่โจทก์ที่ 2 อยู่ระยะทางที่ไกลเกินกว่าระยะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้ปืนยิงกระสุนยางโดยหวังผลเพื่อป้องกันภยันตราย ซึ่งตามหลักการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนจะกำหนดให้ยิงเฉพาะเป้าหมายที่มีกระทำการหรือมีพฤติการณ์คุกคามต่อชีวิตผู้อื่น ต้องกำหนดเป้าหมายโดยชัดเจน ไม่ยิงโดยไม่แยกแยะเป้าหมาย ไม่ใช่การยิงโดยอัตโนมัติ แต่ต้องเล็งยิงให้กระทบต่อส่วนล่างของร่างกายเป้าหมาย ซึ่งพยานเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความว่า ระยะที่แม่นยำของการยิงกระสุนยางคือไม่เกิน 30 เมตร

ดังนั้น การที่โจทก์ที่ 2 อยู่ห่างจากเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 60 เมตร แต่กลับถูกยิงกระสุนยาง ย่อมแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมิได้เล็งยิงโจทก์ที่ 2 ที่เป็นเป้าหมายหรือกระทบส่วนล่างของร่างกาย ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหลักการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนดังกล่าว ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่กระสุนยางจะไปถึงจุดที่โจทก์ที่ 2 ยืนอยู่

การยิงปืนดังกล่าวจึงมิใช่การกระทำโดยเฉพาะเจาะจงต่อเป้าหมายหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันให้พ้นจากภยันตราย ขัดกับแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้เชื่อได้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมิได้ใช้ลูกซองยิงกระสุนยางตามแนวทางและยุทธวิธีที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง และโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บจากการยิงกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยมิได้ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวทางการใช้กระสุนยางและความระมัดระวังในการใช้กระสุนยางควบคุมฝูงชน จึงเป็นการกระทำละเมิดในฐานการปฏิบัติหน้าที่

ส่วนที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการกระทำโดยจงใจทำร้ายร่างกายเพื่อคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนโดยการมุ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับสื่อมวลชนในพื้นที่ชุมนุม เพื่อให้สื่อมวลชนไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่ภาคสนามเพื่อรายงานสถานการณ์การชุมนุมให้ประชาชนทั่วไปทราบ แต่จากหลักฐานพยานในคดีนี้ ต่างแสดงให้เห็นว่า สื่อมวลชนมีสิทธิเสรีภาพที่จะนำเสนอข่าวโดยอิสรเสรี โดยมิได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขัดขวางแต่อย่างใด โดยธรรมชาติของการชุมนุมเกี่ยวพันกับคนจำนวนมาก เกี่ยวพันกับความสงบเรียบร้อยในสังคม และที่สำคัญการชุมนุมสาธารณะอาจส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมด้วย ซึ่งการชุมนุมมักจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในหลายส่วนหลายพื้นที่ มีการเคลื่อนไหวที่ไม่แน่นอนตายตัว อาจมีการกระทำของบุคคลบางส่วนที่อาจใช้ความรุนแรงและพัฒนาไปสู่เหตุการณ์ที่มีความรุนแรงได้ ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่างๆ อันอาจไม่อาจคาดการณ์ได้ เมื่อไม่ปรากฏโดยชัดแจ้งว่า ในการชุมนุมครั้งนี้ มีผู้ชุมนุมบางส่วนใช้ความรุนแรง โดยใช้หนังสติ๊กยิงลูกแก้วและมีการจุดไฟเผาสิ่งของและทำลายแนวกีดขวาง ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจกระทบต่อบุคคลที่ไม่ใช้ความรุนแรงได้ เพราะสถานการณ์มีผู้คนจำนวนมาก เหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวาย ด้วยผู้ก่อเหตุก็มิได้อยู่นิ่ง และภายใต้สถานการณ์ที่มีความตึงเครียดต่างๆ โดยเฉพาะโจทก์ที่ 1 ที่อ้างว่ามิได้ปะปนกับผู้ชุมนุม แต่ก็มีผู้ชุมนุมอยู่ใกล้เคียง และโจทก์ที่ 2 เองก็ถูกกระสุนยางห่างเป็นระยะถึง 60 เมตร ก็มิได้เป็นระยะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถมองว่าใครเป็นใครได้อย่างชัดเจน

ดังนั้น จะถือว่าโจทก์ทั้งสองถูกยิงกระสุนยางและได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะถือว่าเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมุ่งร้ายจะสร้างความหวาดกลัวให้กับสื่อมวลชนให้เกิดความหวาดกลัวหาได้ไม่ การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมิใช่การกระทำโดยเจตนาต่อนเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนและโจทก์ทั้งสองแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ทั้งสองเรียกมา

เมื่อพิจารณาจากอาการบาดเจ็บของโจทก์ที่ 1 แล้ว บาดแผลของโจทก์ที่ 1 ไม่มีกระดูกหักหรือเลือดออก แต่ในสัปดาห์แรกโจทก์ที่ 1 ไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากเดินลำบาก จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้ 10,000 บาท สำหรับโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บ เกิดเป็นแผลถลอก ฟกช้ำ ไม่มีกระดูกหักหรือเลือดลาออก ใบรับรองแพทย์ระบุให้หยุดพักรักษาตัว 2 วัน แต่โจทก์ที่ 2 ต้องหยุดพักรักษาตัว 1-2 วัน จึงกลับมาทำงานปกติได้ โดยยังสามารถใช้แขนได้แต่ไม่สมบูรณ์ ยังมีอาการเจ็บและปวดอยู่บ้าง ต้องรับประทานยาที่แพทย์จ่ายให้ การใช้ชีวิตมีความยากลำบาก ต้องพันผ้าพันแผล จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้ 10,000 บาท ในส่วนค่าเสียหายเพื่อส่วนที่ขาดการประกอบการงานแต่สิ้นเชิงหรือบางส่วนนั้น โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถลงพื้นที่ทำข่าวภาคสนามได้ตามที่ได้รับมอบหมาย เป็นเวลา 4 วัน คิดค่าเสียหายเป็นวันละ 3,000 บาท เห็นว่าเป็นค่าเสียหายที่สมควรแล้ว ส่วนโจทก์ที่ 2 ได้รับผลกระทบต่อจิตใจ ไม่กล้าลงพื้นที่ทำข่าวภาคสนามนั้น เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายแก่จิตใจแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงินคนละ 20,000 บาท และดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

ส่วนที่โจทก์ทั้งสองขอให้จำเลยที่ 1 ประกาศขอโทษนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 447 ซึ่งศาลสามารถสั่งให้บุคคลผู้กระทำการละเมิดกระทำการตามสมควรเพื่อให้ชื่อเสียงของผู้ถูกกระทำละเมิดกลับคืนดี อันเป็นการคุ้มครองในกรณีการละเมิดต่อชื่อเสียงและเกียรติคุณ แต่การละเมิดในคดีนี้ไม่ใช่การละเมิดในชื่อเสียงและเกียรติคุณ คำขอของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นกรณีที่บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมวด 2 มิได้ให้ความคุ้มครองไว้

ส่วนการที่โจทก์ทั้งสองขอให้จำเลยที่ 1 ประกาศชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยางถูกโจทก์ทั้งสองนั้น ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ กำหนดไว้ให้เป็นข้อมูลในที่อยู่ในข่ายที่เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานรัฐสามารถมีคำสั่งมิให้เปิดเผยได้ จึงเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ดังกล่าว ศาลไม่อาจมีคำพิพากษาบังคับให้จำเลยที่ 1 เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้

ส่วนคำขอให้จำเลยที่ 1 มีคำสั่งบังคับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใต้สังกัดของตนให้ปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธ โดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายและแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดนั้น เป็นเรื่องของอนาคตที่ยังไม่มีการโต้แย้งสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง ศาลไม่อาจมีคำพิพากษาบังคับตามคำขอของโจทก์ทั้งสองได้

ส่วนที่จำเลยที่ 1 ต่อสู้กล่าวอ้างว่า โจทก์ทั้งสองมีความผิดเสี่ยงภัยในการทำข่าวในจุดที่มีการปะทะกันโดยไม่นำพาต่อคำเตือนของเจ้าหน้าที่และคู่มือการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต ถือว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนผิดก่อให้เกิดความเสียหายด้วยนั้น เห็นว่า คู่มือการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต เป็นหนึ่งในแนวการปฏิบัติหน้าที่ของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของคู่มือการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนและการสื่อสารในภาวะวิกฤต โดยได้ความจากพยานโจทก์ว่า ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางคู่มือการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในที่ชุมนุมโดยเฉพาะ ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำ จึงมีเพียงคู่มือการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต หมวดจลาจล เป็นคู่มือการปฏิบัติที่ใกล้เคียงที่สุด และพยานโจทก์ยังชี้ให้เห็นว่า สื่อมวลชนที่ลงทำข่าวจะมีการประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยโดยตลอดเวลา โดยการชั่งน้ำหนักกับความสามารถในการทำข่าว ผ่าน 3 ปัจจัย ได้แก่ ความปลอดภัย การไม่กีดขวางเจ้าหน้าที่ และการทำข่าวได้ประกอบกัน ซึ่งสอดคล้องกับคู่มือการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต หมวดจลาจล ซึ่งกำหนดให้การปฏิบัติงานในสภาวะจลาจล สื่อมวลชนต้องประเมินความเสี่ยงและความปลอดภัยที่จะยังเข้าไปในพื้นที่และสามารถรายงานได้ และออกจากพื้นที่ได้ ไม่ควรเข้าไปยืนอยู่ในจุดระหว่างผู้ชุมนุมที่ก่อการจลาจลกับเจ้าหน้าที่รัฐ ควรเลือกอยู่ฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐและควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ปะทะปราบปราม สำหรับโจทก์ที่ 1 ขณะถูกยิงด้วยกระสุนยาง โจทก์ที่ 1 ยืนอยู่บริเวณทางเท้านด้านข้าง ห่างจากผู้ชุมนุมไม่น้อยกว่า 5 เมตร และเป็นพื้นที่ของผู้สื่อข่าว ไม่มีผู้ชุมนุมปะปนอยู่ด้วย ทั้งไม่ได้อยู่คั่นกลางระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุม และโจทก์ที่ 1 ไม่มีท่าทีคุกคามบุคคลหรือก่อความรุนแรงอันตรายแต่ประการใดอันจะเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้กระสุนยางกับโจทก์ที่ 1 ได้ ถือว่าโจทก์ที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ตามสมควรแล้ว โจทก์ที่ 1 ไม่มีส่วนผิดในการก่อให้เกิดความเสียหาย ส่วนโจทก์ที่ 2 ขณะที่ถูกกระสุนยาง อยู่ห่างจากแนวป้องกันของเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 60 เมตร ซึ่งไม่ได้อยู่ในระยะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถมองเห็นหรือระบุตัวตนได้ชัดเจนว่าใครเป็นใคร และไม่อยู่ในระยะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถใช้กระสุนยางยิงหวังผลได้ จะถือว่าโจทก์ที่ 2 มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายก็หาได้ไม่.

พิพากษาลงให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 42,000 บาท และชำระเงินแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ปี ของต้นเงินนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาล ให้ชำระตามค่าธรรมเนียมตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี

อ้างอิงจาก : https://thematter.co/brief/213749/213749