ไม่พบผลการค้นหา
"สวนกุหลาบวิทยาลัยธนบุรี" จัดกิจกรรมช่วยเหลือประชาชน เป็นต้นแบบโรงเรียนดูแลชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส โควิด-19

นายพิศณุ ศรีพล ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยธนบุรี กำลังส่ง มอบอาหารกว่า 700 ชุด ให้กับชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงโรงเรียน เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะก่อนหน้านี้ มองว่ามีนักเรียนของโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจึงได้ทำการสำรวจ และจากนักเรียนกว่า 3200 คน มีนักเรียนกว่า 200 คนที่ครอบครัวไม่มีศักยภาพในการดูแลเด็ก ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ไวรัสระบาด จากนั้นจึงร่วมมือกับสถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อให้สำรวจชุมชนใกล้โรงเรียนและพบ ข้อมูลว่า มีประชาชน ที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้กว่า 700 ครอบครัว จึงเป็นที่มาของแนวคิดการจัดกิจกรรม "คนไทยไม่ทิ้งกัน มิตรแท้ในยามยาก"

จากนั้นจึงเชิญชวนให้ผู้ปกครองนักเรียน มาร่วมกันทำกิจกรรม ทั้งการประกอบอาหารการส่งอาหารไปยังชุมชนหรือการรับบริจาค สิ่งของและวัตถุดิบสำหรับการประกอบอาหาร ซึ่งกิจกรรมนี้นอกจากจะได้ช่วยเหลือประชาชน ที่อยู่ในช่วงเวลาของความยากลำบากแล้ว โรงเรียนยังได้เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กและเยาวชนที่จะได้เห็นถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลในสังคมยามลำบาก 

ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยธนบุรี ยังกล่าวถึงความพร้อม ในการเรียนออนไลน์ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วง ในช่วงการเรียนปรับพื้นฐาน ในกลุ่มของเด็กพิเศษ เชื่อว่า จะมีอุปสรรคเพียงเล็กน้อยในเรื่องของเครื่องมือการสื่อสารเช่นสมาร์ตโฟน ซึ่งโรงเรียน ได้หาทางออกให้กลับเด็กกลุ่มนี้แล้ว โดยอาจหยิบยืมจากเพื่อนผู้ปกครอง ที่มีอุปกรณ์เหล่านี้เกินความจำเป็น แต่หลังจากเปิดเทอม ในวันที่ 1 กรกฎาคมตามมติคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการโรงเรียนยอมรับว่าอาจจะพบอุปสรรคบ้าง ในส่วนดังกล่าวจึงเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข 

ส่วนการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์จะมีประสิทธิภาพเท่ากับการเรียนการสอนในโรงเรียนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการออกแบบวิธีการสอนของครูผู้สอนและแอปพลิเคชัน ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้ซึ่งปัจจุบันมี Application ที่สามารถ สื่อสารตอบโต้ระหว่างผู้สอนและผู้เรียนได้แล้ว

นอกจากนี้ ยังฝากสื่อสารไปถึง รัฐบาลว่าภาครัฐยังไม่จำเป็นต้อง จัดหาอุปกรณ์ เพื่อมาสนับสนุนโรงเรียน แต่เห็นว่าภาครัฐควรเป็นกลไกในการประสาน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผู้อำนวยการยกตัวอย่างว่า ค่าใช้จ่ายของโรงเรียนส่วนใหญ่เกินครึ่ง ที่รัฐจัดสรรให้ถูกนำไปจ่าย เป็นค่าไฟฟ้า หากเป็นไปได้อยากเห็นรัฐบาลพูดคุยกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง เพื่อกำหนดมาตรการ ดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้กับโรงเรียนเป็นพิเศษ เพื่อจะได้นำเงินที่เหลือ มาเป็นทุนพัฒนาโรงเรียน ในด้านอื่นๆ หรือจัดซื้ออุปกรณ์ที่ยังขาดแคลน ต่อไป