ไม่พบผลการค้นหา
กยศ.ผ่อนผันผู้กู้ยืม 3 กรณี 'ประสบภัยพิบัติ-รายได้ถดถอย-ต้องดูแลคนในครอบครัวที่ชรา ป่วย พิการ' ไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้น-ดอกเบี้ย พร้อมยกเว้นค่าปรับ ค่าธรรมเนียมผิดนัดชำระหนี้ นาน 2 ปี

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและทรัพย์สินได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก กองทุนจึงได้ออกประกาศหลักเกณฑ์พิจารณาความเสียหายของทรัพย์สินอย่างรุนแรง กรณีเป็นผู้ประสบภัยพิบัติหรือการเป็นผู้มีรายได้ถดถอย หรือมีความจำเป็นต้องดูแลบุคคลในครอบครัว ซึ่งชราภาพ ป่วยหรือพิการ เพื่อขอผ่อนผันการชำระเงินคืนกองทุนสำหรับผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้ ดังนี้

กรณีผู้กู้ยืมเป็นผู้ประสบภัยพิบัติ ซึ่งทรัพย์สินได้รับความเสียหายรุนแรง จากอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่นๆ รวมถึงภัยจากสงครามหรือจลาจล โดยภาวะประสบภัยพิบัติสาธารณภัย ต้องเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นตามที่กำหนดเขตประสบภัยพิบัติจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หรือจังหวัด และมีหลักฐานที่รับรองว่าเป็นผู้ประสบภัยจริงภายใน 1 ปี นับจากวันที่ประสบภัยพิบัติ และทรัพย์สินได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ซึ่งต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ 

กรณีเป็นผู้มีรายได้ถดถอย ต้องเป็นผู้ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร หักภาษี ณ ที่จ่าย หักเงินเข้ากองทุนที่ผู้กู้ยืมเงินต้องถูกหักตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และเมื่อหักจำนวนเงินงวดที่ครบกำหนดชำระคืนกองทุนในปีนั้นมาเฉลี่ยเป็นรายเดือน แล้วมีเงินเหลือไม่เกินเดือนละ 2,500 บาท

กรณีเป็นผู้กู้ยืมเงินที่มีความจำเป็นต้องดูแลบุคคลในครอบครัว ซึ่งชราภาพ ป่วย หรือพิการ ต้องเป็นผู้มีรายได้คงเหลือหลังจากการหักค่าใช้จ่ายที่ใช้ดูแลบุคคลในครอบครัว ซึ่งชราภาพ ป่วย หรือพิการแล้ว เหลือไม่เกิน 8,008 บาทต่อเดือน กรณีชราภาพ ได้แก่ บิดา มารดา อายุตั้งแต่ 70 ปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้ กรณีป่วย ได้แก่ บิดา มารดา คู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย และผู้สืบสันดาน ซึ่งป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรงจนไม่สามารถประกอบการงานได้ ทั้งนี้ ให้ใช้หลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้กู้ยืมซึ่งป่วยเป็นโรคเรื้อรังดังกล่าวตามประกาศที่กองทุนกำหนด 

สำหรับทั้ง 3 กรณีดังกล่าว สามารถขอผ่อนผันได้ไม่เกิน 2 คราว คราวละไม่เกิน 1 ปี รวมระยะเวลาแล้วไม่เกิน 2 ปี โดยช่วงเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน ผู้กู้ยืมไม่ต้องชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย อีกทั้งกองทุนจะยกเว้นเบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียมกรณีผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน

นอกจากนั้น กองทุนได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การขอระงับการเรียกให้ชำระหนี้ สำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบการงานได้ เป็นโรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรงจนไม่สามารถประกอบการงานได้ มีรายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการประกอบอาชีพการงานไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี หรือไม่เกิน 2,500 บาทต่อเดือน สามารถขอให้กองทุนพิจารณาระงับการเรียกให้ชำระหนี้ได้คราวละไม่เกิน 1 ปี โดยผู้กู้ยืมต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 

1. พิการหรือทุพพลภาพไม่สามารถประกอบการงานได้ ได้แก่ ความพิการทางการเห็น การได้ยินหรือสื่อความหมาย การเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย จิตใจหรือพฤติกรรม สติปัญญา การเรียนรู้ และออทิสติก 

2. เป็นโรคติดต่อร้ายแรงจนไม่สามารถประกอบการงานได้ ได้แก่ กาฬโรค ไข้ทรพิษ ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก ไข้เวสต์ไนล์ ไข้เหลือง โรคไข้ลาสซา โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก โรคไวรัสติดเชื้ออีโบลา โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก และโรคเอดส์  

3. เป็นโรคเรื้อรังที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรง จนไม่สามารถประกอบการงานได้ ได้แก่ โรคมะเร็งระยะสุดท้าย โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ โรคเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย โรคไวรัสตับอักเสบขั้นรุนแรง โรคหลอดเลือดสมองแตกและอุดตัน และโรคตับวายระยะสุดท้าย 

4. เป็นผู้ที่ได้รับโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกตลอดชีวิต 

5. เป็นผู้ที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและกองทุนได้ดำเนินการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายแล้ว 

ผู้กู้ยืมที่ประสงค์ขอผ่อนผันหรือขอระงับการเรียกให้ชำระหนี้ สามารถดูรายละเอียดคุณสมบัติตามประกาศเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กองทุนกำหนด และยื่นเอกสารหลักฐานให้กองทุนพิจารณาโดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ www.studentloan.or.th สอบถามเพิ่มเติมโทร. 0 2016 4888 หรือ Line @กยศ. 

อย่างไรก็ดี จนถึงวันที่ 11 ก.ย. 2562 กองทุนได้รับชำระหนี้ไปแล้วทั้งสิ้น 29,686 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการหักเงินเดือน และจากการประชาสัมพันธ์ของสื่อมวลชน ทำให้ผู้กู้ยืมเงินมีความตื่นตัวและตระหนักถึงการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นต่อไปได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :