นายปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ปรึกษากรรมาธิการกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ แจ้งความตนเอง ฐานใส่ร้ายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคดีนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่า ไม่คิดว่าตั้งแต่ทำอาชีพนักการเมืองก็โดนคดีความมาโดยตลอด มองว่ากฎหมายหมิ่นประมาทออกมาเพื่อคุ้มครองชื่อเสียงเกียรติยศของบุคคล ไม่ได้ใช้เพื่อกลั่นแกล้ง หรือเอามาใช้ปิดปากผู้อื่น และการเป็นบุคคลสาธารณะ หรือ ข้าราชการ มักถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้ว แต่หากไม่อยากให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่สมควรมาเป็นบุคคลสาธารณะในระบบประชาธิปไตย
พร้อมตั้งข้อสังเกตตั้งแต่เกิดรัฐประหารจนถึงปัจจุบันมีการปิดกั้นการแสดงออก แต่มีคดีเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะคดีหมิ่นประมาทจึงมองว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายปิดปากไม่ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ และตนเองก็เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด แต่ไม่เคยไปดำเนินคดีกับใคร เพราะเชื่อว่าระบบประชาธิปไตยจะต้องถูกตรวจสอบและถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องปกติ
ชงข้อเสนอแก้ รธน.พรุ่งนี้ - ไม่ติดใจ "กมธ.แก้รธน." เหลือเวลาทำงานน้อย
นอกจากนี้ นายปิยบุตร ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เปิดเผยว่า ตนเตรียมทำข้อเสนอต่อ กมธ.ฯ ซึ่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ ฐานะประธานกมธ.ฯ นัดประชุมวันที่ 5 มิ.ย.
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการทำงานของ กมธ.ฯ ล่าช้า เพราะสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเวลาที่เหลือต่อการพิจารณา ที่จะครบกำหนดช่วงกลางเดือน มิ.ย. นั้นมีไม่มาก ดังนั้นในการหารือควรพิจารณาถึงกรอบการทำงานและการทำรายงานสรุปเพื่อเสนอต่อสภาฯ เพื่อให้สภาฯ ได้พิจารณาต่อเนื้อหาที่กมธ.ทำเสนอ
"ผมมองว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับการทำงานของ กมธ.ด้วย ที่ทำงานได้ไม่มาก เพราะมีสถานการณ์โควิด-19 ระบาด อย่างไรก็ตามผมเตรียมร่างข้อเสนอต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำเสนอให้กมธ.พรุ่งนี้ โดยสาระสำคัญไม่ต่างจากที่เคยเสนอความเห็นต่อสาธารณะไปแล้ว" นายปิยบุตร กล่าว
ชี้ควรใช้รัฐธรรมนูญให้เป็นมาตรฐานเดียว ข้องใจมี ส.ว.ไว้ทำไม
นายปิยบุตร แกนนำพรรคก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ที่รัฐสภา ต่อกรณีที่ ส.ว. ลงมติเลือกนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งที่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามกฎหมาย กรณีพ้นจากความเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่เกิน 10 ปี ว่า ประเด็นดังกล่าวสะท้อนถึงความผิดเพี้ยนของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทั้งที่การตีความของกฎหมาย ควรตีความให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
อย่างไรก็ตามปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นตนไม่ทราบว่าจะมีหน่วยงานใดที่มีอำนาจตีความเรื่องดังกล่าวหรือไม่ และหากมีหน่วยงานใดที่สามารถชี้ขาดต่อเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ดี
นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า วันที่ 5 มิ.ย. ถือเป็นวันครบรอบ 1 ปี ที่สมาชิกรัฐสภาเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยจากการลงคะแนนพบว่ามี ส.ว. จำนวน 249 คนที่คัดมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ยกเว้น นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ที่งดออกเสียง แม้ตามรัฐธรรมนูญจะกำหนดบทบาทให้ ส.ว.ทำงานเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ข้อเท็จจริงคือ การสืบทอดอำนาจ ดังนั้นวันที่ 5 มิ.ย. กลุ่มก้าวหน้าจะเริ่มทำโครงการมี ส.ว.ไว้ทำไม และวันที่ 6 มิ.ย. จะมีการจัดเสวนาออนไลน์ โดยมีนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว. และบุคคลที่เกี่ยวข้องร่วมเสวนา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :