ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมโรค แจงการยกเลิก 'จีน-เกาหลี-ฮ่องกง-มาเก๊า' เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตรายโควิด-19 ยืนยันพิจารณาตามเกณฑ์ ขอให้ประชาชนมั่นใจได้

พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กล่าวว่า การพิจารณาการประกาศท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) พ.ศ. 2563 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 

ที่ประชุมคณะกรรมด้านวิชาการ มีมติเห็นชอบในการเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยกเลิกประกาศท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 2 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงเขตบริหารพิเศษมาเก๊า และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และสาธารณรัฐเกาหลี

มีเกณฑ์ในการยกเลิกประกาศ ดังนี้ 1.1 เป็นท้องที่ที่พบผู้ติดเชื้อที่เป็นการติดเชื้อภายในประเทศไม่เกิน 20 ราย เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 14 วันที่ผ่านมา ซึ่งบ่งบอกถึงการควบคุมการระบาดของประเทศนั้น ๆ ได้ 

1.2 เป็นท้องที่ที่มีความพร้อมด้านการแพทย์ และสาธารณสุข 

ทั้งนี้ให้ทีมเลขาฯ ตรวจสอบข้อมูลสถานการณ์ของทั้งสองประเทศ และประเทศอื่น ๆ อีกครั้ง และพิจารณาตามเกณฑ์ที่กำหนด เมื่อเข้าได้กับเกณฑ์ที่กำหนด สามารถทำข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เลย 

สำหรับประเทศจีน ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน เป็นต้นมา มีการรายงานผู้ป่วยรายใหม่น้อยกว่า 12 รายต่อวัน ยกเว้นวันที่ 29 เมษายน 2563 ที่เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากต่างประเทศจำนวน 21 ราย ในประเทศ 1 ราย 

ส่วนประเทศเกาหลี ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน เป็นต้นมา มีผู้ป่วยต่ำกว่า 14 ราย เพิ่งมามีเหตุการระบาดกรณีสถานบันเทิงย่านอิแทวอน โดยมีผู้ป่วย 20-30 กว่ารายต่อวัน อันเนื่องมาจากการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ สำหรับ มาเก๊าไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน เป็นต้นมา ส่วน ฮ่องกง มีผู้ป่วยรายใหม่ ต่ำกว่า 5 รายต่อวันตั้งแต่ 12 เมษายน เป็นต้นมา

ในขณะที่ อิตาลี มีผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 900 รายต่อวัน ตลอดเดือนเมษายน และ พฤษภาคม บางวันมีมากถึง 1,300 กว่าราย ส่วน อิหร่าน มีผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 800 ราย ตลอดเดือนเมษายน และ พฤษภาคม บางวันมีมากถึง 1,200 รายต่อวัน

สำหรับประเทศพม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ยังไม่ประกาศยกเลิก เนื่องจากมีด่านพรมแดนทางบก ซึ่งยังมีการเดินทางเข้าออกเป็นประจำ และอาจมีการลักลอบเดินทางผ่านพรมแดนตามธรรมชาติ ถึงแม้บางประเทศไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ แต่ก็มีความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ

อย่างไรก็ตาม ประกาศดังกล่าวจะไม่ส่งผลให้มีการเดินทางเข้า-ออก ระหว่างประเทศไทยกับประเทศทั้งสอง และ 2 เขตบริหารพิเศษตามประกาศ หรือเป็นไปโดยไม่มีการควบคุม เนื่องจากขณะนี้ ช่องทางเข้า-ออก ระหว่างประเทศ ยังถูกกำกับด้วยมาตรการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ ยังไม่มีสายการบินที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการขนส่งคนระหว่างประเทศดังกล่าว