ไม่พบผลการค้นหา
ดีแทค, ดีป้า และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับเด็ก Gen Z พัฒนาแชตบอต นำประสบการณ์จากสถานศึกษามาร่วมแก้ปัญหาการถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์

ดีแทคในฐานะ Corporate citizenship ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนา 'ทักษะ' ของเด็กและเยาวชนโดยกำหนดเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ความยั่งยืน โดยล่าสุดร่วมมือกับ 'สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล' หรือดีป้า และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในการจัดค่าย YSCL 2.0 ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเข้าค่ายออนไลน์ เพื่อเรียนรู้ 'หลักสูตรที่ไม่มีสอนในโรงเรียน' และนำเสนอโครงการเพื่อต่อยอดไอเดียของน้องๆ ผ่านเงินทุนจากผู้ใหญ่ใจดีอย่าง 'ดีป้าและกองทุนสื่อ'

ท่ามกลางการผลิบานของพลังเยาวชน dtac blog ได้พุดคุยกับน้องๆ เยาวชนในค่าย YSCL 2.0 ทีม 'ถ้าเธอโดนแกล้ง เราคือเพื่อนกัน' ซึ่งประกอบไปด้วย ฟิล์ม – ฐิตาพร มั่งคั่ง อายุ 18 ปี, ฟลุ๊ค – สหรัฐ สุวรรณวงศ์ อายุ 18 ปี, และฝน – ธัญลักษณ์ ศรีรัตนัย อายุ 17 ปี จากโรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการ นนทบุรี, เฟรนด์ – ธนารีย์ ประเสริฐดี อายุ 17 ปี จากโรงเรียนกสิณธรเซนต์ปีเตอร์, และต๊อดติ – ณภัทร สมจารี อายุ 18 ปี จากโรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรี 


ปัญหา: Cyberbullying เรื่องของเด็กที่ไม่เด็ก

แม้จะอยู่กันต่างโรงเรียน แต่มิตรภาพของน้องได้ก่อตัวขึ้นที่สถาบันติวเตอร์แห่งหนึ่ง และที่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของพลังเยาวชนในการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่ นั่นคือ 'การกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์' หรือ Cyberbullying โดยน้องๆ ได้ชักชวนและฟอร์มทีม เพื่อเข้าอบรมค่าย YSLC 2.0 และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาคิดเป็นโซลูชั่นที่เรียกว่า 'อบอุ่น' ซึ่งเป็นแชทบอทที่จะมาทำหน้าที่เป็น 'เพื่อน' ที่คอยพูดคุย รับฟังปัญหา และคอยให้คำปรึกษาต่างๆ กับคนที่ประสบปัญหา Cyberbullying อยู่ 

"แต่เดิมเราก็อาจจะทำได้เพียงแค่การโคดดิ้งเบื้องต้น แต่พอเราได้เข้าโปรแกรมห้องเรียนเด็กล้ำ ซึ่งมีข้อมูลมากมายที่ไม่มีในห้องเรียนอย่างการแยกแยะข่าวปลอม การทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ รวมถึงหัวข้อ AI chatbot ที่ทำให้เราได้เรียนรู้การสร้างแชทบอทแบบง่าย แต่ใช้งานได้จริงด้วย Dialogue flow ซึ่งทำให้พวกเรามีวิธีคิดในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ สามารถนำทักษะที่ได้เรียนรู้ร่วมมือกันประดิษฐ์ออกมาเป็น Line chatbot ที่ชื่อว่าอบอุ่นตัวนี้ได้" ฟลุ๊ค ผู้ซึ่งรับบทบาทในการเขียนโปรแกรมกล่าว 

ฟิล์ม ผู้ทำหน้าที่ในการหาข้อมูลคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวกับการกลั่นแกล้ง บอกว่า ในหลักสูตรห้องเรียนเด็กล้ำประกอบด้วย 12 หัวข้อ แต่ละหัวข้อใช้เวลาในการเรียนประมาณครึ่งวัน ซึ่งถือว่าต้องใช้ความพยายามและการจัดสรรเวลาอย่างมีนัยสำคัญ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับความรู้และทักษะที่ได้รับมานั้นถือว่า 'คุ้มค่า' ทั้งหมดไม่มีสอนในห้องเรียน มันช่วยให้เธอและเพื่อนๆ เปิดโลกทรรศน์และขยายขอบเขตความรู้ติดตัว ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของ Hard skills แต่ยังรวมถึง Soft skills ด้วย ที่ทำให้พวกเธอมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ยังได้อาจารย์เจนและอาจารย์เบลจาก Fab cafe มาเป็น mentor ของโปรเจกต์ให้ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ไม่ได้หาได้ง่ายเลย

"ก็อาจมีความรู้สึกท้อถอยหรือล้มเลิกกลางคันบ้าง บางหัวข้ออาจไม่ได้อยู่ในความสนใจของเรา แต่เมื่อเปิดใจกับมัน สิ่งนั้นกลับกลายเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามาก อย่างเรื่องเฟคนิวส์ หรือ Data visualization ที่ให้ทักษะในการอธิบายข้อมูลด้วยแผนภูมิต่างๆ ที่เข้าใจง่าย" ต๊อดติ กล่าว


สถานะ: เกิดมากับมือถือ

Mcinsey&Company บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลกให้นิยามของ Gen Z ไว้ว่าเป็นประชากรที่เกิดระหว่างปี 2538-2553 เป็นเด็กที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีและเข้าถึงอินเทอร์เน็ตตั้งแต่เด็ก เช่นเดียวกับฟลุ๊คที่บอกว่า ประสบการณ์ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตครั้งแรกของเขาคือช่วง 'อนุบาล' โดยใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อดูการ์ตูน แต่กว่าจะมีความสามารถในการใช้งานได้จริงก็คือช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น 

"ผมว่ารุ่นผมอยู่ในยุคของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีตอนปลาย คือก็ยังทันยุคเทคโนโลยีเดิมอย่างแผ่นซีดีและโซเชียลมีเดียอย่าง Hi5 อยู่บ้าง ในขณะเดียวกันก็เห็นและได้ใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเฟซบุ๊ก ยูทูปและเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน" ต๊อดติ กล่าว

น้องทั้ง 4 คนประสานเสียงบอกว่า โทรศัพท์มือถือได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขาไปแล้ว ตั้งแต่ตื่นนอนก็ใช้โทรศัพท์ในการตั้งปลุก ใช้มือถือในการสื่อสาร อ่านข่าวสารเหตุบ้านการเมือง หาสถานที่ท่องเที่ยวและแรงบันดาลใจต่างๆ ผ่านโลกอินเทอร์เน็ต อย่างเฟซบุ๊กจะเป็นช่องทางในการผูกมิตรกับเพื่อน อินสตาแกรมเอาไว้ติดตามเซเล็บดาราหรือเพื่อนที่เราสนใจ ส่วนทวิตเตอร์เอาไว้ติดตามข่าวหรือกระแสให้ทันเหตุการณ์ แต่สำหรับทีวีแล้ว เรียกได้ว่าเปิดน้อยมากหรือไม่ได้เปิดเลย

"การเกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีทำให้คนรุ่นพวกเรามีโอกาสมากขึ้น มีความสะดวกในการค้นคว้าหาข้อมูล แต่ขณะเดียวกัน ก็เกิดโอกาสในการเผชิญกับความเสี่ยงที่มากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความเสี่ยงทางออนไลน์อย่าง Cyberbullying ข่าวปลอม และความรุนแรงของคอนเทนท์ที่หลายครั้งที่เราก็เสพคอนเทนต์นั้นโดยไม่รู้ตัว ทำให้ทักษะในการรับมือกับภัยออนไลน์มีความสำคัญมากขึ้น" เฟรนด์ กล่าว


ความหวัง: ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

แม้น้องทั้ง 4 คนจะเกิดมาพร้อมกับโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี แต่ขณะเดียวกัน ปัญหาที่พวกเขาเป็นห่วงอย่างมากคือ 'ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา' ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพการศึกษา การเข้าถึงเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต ความพร้อมของสถานศึกษาและพื้นฐานครอบครัว โดยเฉพาะระหว่างเด็กเมืองและเด็กต่างจังหวัด 

"อย่างการล็อกดาวน์ในช่วงโควิด เทรนด์ทวิตเตอร์ที่ดังมากและกลายเป็นประเด็นช่วงหนึ่งคือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา หนูมีเพื่อนนักเรียนเครือข่ายต่างจังหวัด หลายคนไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้ เพราะไม่มีคอมพิวเตอร์หรือมือถือ บางพื้นที่อินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง ขณะที่การสอนออนไลน์ก็ยังมีความไม่พร้อมอยู่มาก เพราะด้วยการปรับเปลี่ยนกระทันหัน ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในแง่ของความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ควรได้รับการแก้ไขในระดับนโยบาย" ฟิล์ม กล่าวย้ำ 


dtac blog ถามต่อว่าน้องๆ อยากเห็นสังคมที่คาดหวังเป็นอย่างไร? 

"เราอยากเห็นสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข มีความสุข แต่นั่นต้องเริ่มจากตัวเอง โดยเฉพาะการมีความรับผิดชอบส่วนรวมและเคารพต่อสิทธิผู้อื่น อย่างการใช้อินเทอร์เน็ต ทำอย่างไรถึงจะมีการบูลลี่ลดลง มีมารยาทในการอยู่บนโลกออนไลน์ และนี่คุณค่าที่พวกเราให้และคาดหวังต่อสังคมเช่นเดียวกัน" น้องทั้ง 4 กล่าวทิ้งท้าย

และนี่คือตัวอย่างของน้องในโครงการ YSCL2.0 จากทั้งหมด 20 ทีมที่ส่งโครงการนำเสนอ เพื่อพัฒนาไอเดียต่อยอดด้วยพลังของน้องๆ เอง เพราะดีแทค ดีป้า และกองทุนสื่อฯ เชื่อมั่นอย่างยิ่งในพลังของเยาวชน เราจึงขอเชิญชวนน้องๆ เข้ามาเรียนรู้หลักสูตรที่ไม่มีสอนในห้องเรียนกับ 'ห้องเรียนเด็กล้ำ' ได้ที่ https://learn.safeinternet.camp/

ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังถูกท้าทายด้วยมรสุมของปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปากท้อง ความยากจน การศึกษา สิ่งแวดล้อม ฯลฯ แต่หนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการทิศทางของประเทศอย่างมีนัยสำคัญคือ 'การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ' โดยปัจจุบันจำนวนประชากรไทยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีมีจำนวนทั้งสิ้นราว 10 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนทั้งสิ้น 15% และคาดการณ์ว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 25% ภายใน 10 ปีข้างหน้า ขณะที่อัตราการเกิดลดลงอยู่เพียงแค่ 0.3% ต่อจำนวนประชากร จากตัวเลขดังกล่าว ทำให้การให้ความสำคัญต่อ 'คุณภาพ' ของประชากรเป็นอีกหนึ่งอีกทางรอดของประเทศท่ามกลางความท้าทายนานัปการ