นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์สถานการณ์การออกมาชุมนุมของนักศึกษาผ่านเฟซบุ๊ก ว่า ไม่ใช่การต่อสู้เพื่อ 'อนาคตใหม่' แต่เป็นการต่อสู้เพื่อ 'อนาคตประเทศไทย' ที่พวกเขาอยากเห็น อนาคตที่กองทัพไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง อนาคตที่ปราศจากการสืบทอดอำนาจที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน อนาคตที่ผู้นำมีวิสัยทัศน์ที่เท่าทันโลกยุคใหม่ และอนาคตที่ผู้มีอำนาจบริหารบ้านเมืองด้วยความโปร่งใส
แต่คำถามที่ตอนนี้สำคัญกว่า คำถามที่ว่าพวกเขาออกมาเพราะเหตุใด คือ คำถามที่ว่าการออกมาของพวกเขา จะนำไปสู่ข้อเสนอหรือทางออกอะไรให้บ้านเมือง ที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน และสร้างโครงสร้างประเทศที่เขาอยากเห็น
อย่างไรก็ดีพริษฐ์ มองว่า "ทางออกของประเทศ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกำจัดบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับการแก้ที่ต้นตอและที่มาของระบอบวิปริตทั้งหมด ที่ทำให้เรามีกรรมการที่ไม่เป็นกลาง มีกติกาที่ไม่เป็นธรรม และห่างไกลจากคำว่าประชาธิปไตย สำหรับผม ทางออกเดียวของประเทศ คือการ แก้รัฐธรรมนูญ"
พร้อมยกข้อเสนอตามแนวทาง
“5 ยกเลิก + 5 ยกระดับ” ประกอบไปด้วย
1. ยกเลิกรัฐธรรมนูญแบบมัดมือชก
ลดความยาวของรัฐธรรมนูญไทย จาก 40,000 คำ ด้วยการตัดหมวดหมู่ 6 “นโยบายของรัฐ” และ 16 “การปฏิรูปประเทศ” ที่ก้าวก่ายและผูกมัดการทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมากจนเกินไป ผ่านกลไกของยุทธศาสตร์ 20 ปี
2. ยกเลิกรัฐธรรมนูญแบบแก้ไม่ได้
กำจัดเงื่อนไข ที่ 1 ใน 3 ของ ส.ว. ต้องอนุมัติการทุกข้อเสนอด้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้รัฐธรรมนูญสามารถถูกแก้ไขได้ในอนาคต หากได้รับฉันทามติจากประชาชนในหมู่มาก เช่น ผ่านการทำประชามติ
3. ยกเลิกการอ้างความมั่นคง
แก้ไขมาตรา 25 เพื่อให้รัฐไม่สามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน ด้วยเหตุผลเรื่อง “ความมั่นคงของรัฐ” และ “ความสงบเรียบร้อย” ได้อีกต่อไป เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ฝ่ายเดียวผูกขาดอำนาจในการนิยามและตีความ รัฐควรจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนคนหนึ่งได้ ต่อเมื่อประชาชนคนนั้นละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น
4. ยกเลิกกติกาเลือกตั้งที่มีแต่ความงง
เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งกลับสู่ระบบบัตรสองใบ ที่มีการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อและเขตแยกออกจากกัน เพื่อให้เราได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกผู้สมัครเขตและผู้สมัครบัญชีรายชื่อจากคนละพรรค และเพื่อให้ ส.ส. เขตทุกคนมีคะแนนเสียงของตัวเอง ที่สะท้อนฉันทานุมัติและความรับผิดชอบที่มีโดยตรงกับประชาชนอย่างชัดเจน
5. ยกเลิกวุฒิสภาที่มีอำนาจล้นมือ
เปลี่ยนระบบรัฐสภาจากระบบสภาคู่ มาเป็นระบบสภาเดี่ยว ที่ไม่มีวุฒิสภา เพื่อความคล่องตัวในการออกกฎหมายให้เท่าทันกับสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อประหยัดงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี และเพื่อกำจัดพฤติกรรมของ ส.ว. ในการให้ท้ายฝ่ายบริหารเนื่องมาจากระบบการแต่งตั้งที่เต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน
1. ยกระดับสิทธิเสรีภาพประชาชน
ทำให้สิทธิเสรีภาพหลายอย่างที่เขียนอยู่บนรัฐธรรมนูญ ถูกบังคับใช้จริงในเชิงปฏิบัติ เช่น เสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพทางวิชาการ หรือ สิทธิที่จะถูกสันนิษฐานว่าไม่มีความผิดก่อนคำพิพากษา และขยายสิทธิเสรีภาพให้ครอบคลุมถึงปัญหาและประเด็นใหม่ ๆ ในสังคม เช่น สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิความเท่าเทียมของทุกเพศ และ สิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล
2. ยกระดับคุณสมบัตินายกฯ
กำหนดว่า นายกรัฐมนตรี ต้องเป็น ส.ส. เพื่อความชัดเจนของระบบรัฐสภาที่กำหนดให้นายกฯต้องเข้าประชุม ตอบคำถาม และมีความรับผิดชอบในฐานะสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้าเราจะไม่กำหนดให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เราควรแยกอำนาจฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติให้ชัด และจัดให้มีการเลือกตั้งแยกสำหรับนายกฯ และสำหรับ ส.ส.
3. ยกระดับองค์กรอิสระ
กำหนดให้การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เป็นหน้าที่ของ ส.ส. แต่มีข้อแม้ว่าทุกตำแหน่งจะต้องได้รับจากอนุมัติจากทั้งเสียงข้างมากของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และ เสียงข้างมากของ ส.ส. ฝ่ายค้าน เพื่อให้ทุกตำแหน่งมีความยึดโยงกับประชาชน แต่ยังคงไว้ถึงความเป็นกลางทางการเมือง
4. ยกระดับความเป็นประชาธิปไตยโดยตรง
คืนสิทธิเดิมที่ประชาชนเคยได้รับ ในการเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และปรับให้กระบวนการล่ารายชื่อมีความเรียบง่ายและทำออนไลน์ได้
5. ยกระดับท้องถิ่น
ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค กระจายอำนาจส่วนมากสู่ท้องถิ่น และจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัด เพื่อให้ทุกจังหวัดมีสิทธิกำหนดอนาคตตนเอง