ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรีพบภาคเอกชน รับฟังข้อเสนอด้านเศรษฐกิจ ‘พิชัย’ ยันดูแลปัญหาสินค้าจีนเข้าไทยอย่างสมดุล เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ทำงานใกล้ชิดภาคเอกชนต่อเนื่อง

วันนี้ (23 สิงหาคม 2567) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, หอการค้าไทย-จีน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย พบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือ และเสนอแนะถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่อยากให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยส่งเสริมผลักดัน

S__1835253.jpg

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้เป็นการรับฟังการแบ่งปันถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ จากผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อต้องการการพัฒนามากขึ้น ตนเองได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่สามารถทำงานหรือสั่งการได้ จึงเปิดพื้นที่ให้ทุกคนเสนอแนะ แสดงความคิดเห็น และชี้ให้เห็นว่ากำลังเจอปัญหาอย่างไร และมีอะไรอยากจะแนะนำรัฐบาล เป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นที่เปิดกว้างสำหรับภาคเอกชน เพราะภาคเอกชนเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนไปด้วยกันอย่างมั่นคง ขอบคุณทุกท่านที่มาเสนอแนะ และยินดีที่จะรับฟังทุกท่าน

ทั้งนี้ ข้อเสนอของภาคเอกชน เช่น เรื่องของกฎหมายถือเป็นประเด็นที่สำคัญ กฎหมายบางอย่างใช้มาแล้ว 30 กว่าปี ไม่เหมาะสมต่อสภาวะปัจจุบัน หากผ่านกระบวนการต่างๆและได้เข้าไปทำงาน จะเร่งเข้าไปบริหารจัดการ หากผ่านกระบวนการและตั้งคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว จะหาเจ้าภาพที่จะมาคุยในแต่ละหัวข้อหรือประเด็นที่ภาคเอกชนเสนอในวันนี้  และประสานงานต่อด้วยตัวเอง รวมทั้งจะติดตามงานด้วย 

“ในยุคไทยรักไทย จะมีการพูดคุยในทุกอุตสาหกรรมและคุยทุกสัปดาห์ ซึ่งทำให้ได้รู้ปัญหา รู้ประเด็นของทุกอุตสาหกรรมจริงๆและช่วยเป็นประโยชน์ต่อการบริหารบ้านเมือง และต้องขอโอกาส และอาจขอรบกวนเวลาทุกท่านค่ะ” นางสาวแพทองธาร 

S__1835164.jpg

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลนี้จะต้องทำงานกับใกล้ชิดกับภาคเอกชน เพราะเครื่องจักรที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจคือภาคเอกชน โดยข้อเสนอของภาคเอกชนในวันนี้ใกล้เคียงกับที่เราประเมินไว้ และมีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องนี้ 

S__1835156.jpg

นายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ประเทศไทยทำการค้าขายกับจีนในระยะยาว ตัวเลขการส่งเสริมการลงทุนผ่านบีโอไอเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของรัฐบาลรักษาการจะมีการส่งเสริมการใช้ Local content เพื่อส่งออกสินค้าไทยไปตลาดโลกให้เพิ่มขึ้น ส่วนข้อเสนอการปรับเพิ่มการใช้สินค้า Made in Thailand ในการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มขึ้นจะรับไปพิจารณา โดยจะต้องดำเนินการแบบรักษาสมดุลการค้าการลงทุนระหว่างกันกับประเทศคู่ค้า เพื่อไม่ให้เป็นการกีดกันทางการค้า 

ส่วนปัญหาสินค้าจากจีนที่ทะลักเข้าไทย เป็นปัญหาที่รัฐบาลมองเห็น และต้องดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ โดยอาจต้องรักษาสมดุลการค้าการลงทุนของไทยและจีน รวมถึงประเทศคู่ค้าอื่นๆ  

S__1835173.jpg

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การทะลักเข้ามาของสินค้าจีนที่กระทบผู้ประกอบการไทย จะมีมาตรการดูแลอย่างรอบด้านเพื่อให้การค้าขายของไทยและจีนสามารถทำการค้าขายได้ในระยะยาว ในช่วงรัฐบาลที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ดำเนินการผ่านหน่วยงานมาตรฐานของรัฐ เช่น กรมศุลกากร ตรวจเข้มการสินค้านำเข้า หน่วยงาน มอก. หรือ อย.ตรวจมาตรฐานสินค้า ถึงโกดังและตรวจจับสินค้าได้เพิ่มขึ้น ถือเป็นหนึ่งในเป็นกลไกปกป้องเอกชนคนไทย รวมถึงการเชื่อมต่อข้อมูลการผลิตสินค้าจากจีนที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ซึ่งระบบดังกล่าวจะแล้วเสร็จช่วงปีหน้า พร้อมกับการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งผ่านการเชื่อมต่อระบบการคมนาคม ทั้งทางถนน ทางราง และทางอากาศ 

S__1835152.jpg

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า การสร้างความเชื่อมั่น มีความสำคัญที่จะเดินหน้าทางเศรษฐกิจเต็มตัวเพื่อทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นใครรุ่นไหน กลุ่มไหน เราต้องเน้นเรื่องการส่งเสริมศักยภาพและพัฒนาทักษะ อัพสกิล รีสกิล ทักษะความคิดสร้างสรรค์ด้านศิลปะ ภาพยนตร์ ฯลฯ เรื่องอาหาร และสุขภาพ เป็นเรื่องใหญ่ที่จะทำต่อ พร้อมกันนี้ ยังสนับสนุนนายกรัฐมนตรีในการประชุมหารือกับภาคเอกชนในแต่ละอุตสาหกรรมทุกสัปดาห์ เหมือนที่สมัยไทยรักไทยเป็นรัฐบาล

S__1835257.jpg

สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชน มีดังนี้ 

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวถึงข้อเสนอทางเศรษฐกิจเร่งด่วนของหอการค้าไทย ต่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยระดมความคิดเห็นจากเครือข่ายเอกชนทั่วประเทศใน 3 เรื่องเร่งด่วน ได้แก่

1)การสร้างความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ โดยในระยะสั้น ได้แก่ การกระจายงบประมาณ, การกระตุ้นเศรษฐกิจไปยังประชาชน 3. กลุ่ม ทั้งกลุ่มเปราะบาง กลุ่มที่ยังพอมีกำลังซื้อ และกลุ่มมีกำลังซื้อสูง ,มาตรการช่วยเหลือและเยียวยา เช่น ลดค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ตรึงราคาสินค้าจำเป็น,การกระจายอำนาจ และปรับปรุงกฎระเบียบที่มีอยู่ ในระยะยาว เช่น ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน,การวัดผลสำเร็จด้านเศรษฐกิจตั้ง KPI เช่นการกำหนดจีดีพีที่ 3-5% 

2) การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน SMEs ด้วยกลยุทธ์ (ผลักดัน – ตั้งรับ – จับมือ) ‘การผลักดัน’ คือ ช่วยให้สินค้าไทยแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม เช่น การสร้างนโยบาย E-Commerce ของชาติ ‘การตั้งรับ’ คือ มาตรการปกป้องสินค้า ไม่แข่งขันด้านราคา เน้นบังคับใช้ Local content

3) การวางยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อการเติบโตในอนาคตอย่างยั่งยืน 

S__1835299.jpg

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า ประเทศไทย แม้มีการขาดดุลการค้าจากจีน ส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าปุ๋ยเพื่อการเกษตร ซึ่งถือเป็นสินค้าทุน ที่เกษตรกรไทยนำมาเพิ่มมูลค่าส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ซึ่งจีนยังเป็นตลาดสินค้าเกษตรแปรรูปที่ใหญ่ที่สุดของไทย ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำสินค้าไทยไปโรดโชว์ที่จีน สร้างมูลค่าเข้าประเทศหลายพันล้านบาท ขอให้เดินหน้าต่อไป  

S__1835297.jpg

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มี 5 ข้อเสนอเร่งด่วน และ 3 ข้อเสนอระยะกลาง-ยาว โดย 5 ข้อเสนอเร่งด่วน ได้แก่

1.การปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศจากสินค้านำเข้าที่ไม่มีคุณภาพและการทุ่มตลาด

2.การส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย และสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MiT)

3.การลดต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมอาทิ ต้นทุนพลังงาน ต้นทุน แรงงาน เป็นต้น

4.การส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SME

5.การส่งเสริมการค้าชายแดน และพัฒนาระบบโลจิสติกส์

S__1835295.jpgS__1835389.jpg

สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่

1.นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

2.นายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

3.นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

4.นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

5.นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

6.นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 

7.นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 

8.นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ

9.นางสาวธีราภา ไพโรหกุล อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 

ผู้เข้าร่วมประชุมจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้แก่

1. นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

2. นายกฤษณะ วจีไกรลาศ กรรมการเลขาธิการ

3. นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธาน

4. นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล รองประธาน

5. นายญนน์ โภคทรัพย์ รองประธาน

6. นายอธิป พีชานนท์ รองประธาน 

7. นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธาน

8. นายเกษมสิทธิ์ เกษมศักดิ์ รองประธาน 

9. นายวิศิษฏ์ ลิ้มลือชา รองประธาน

10. นางวีเบ็คก้า ลิสซานด์ เลียร์วาก (Mrs. Vibeke Lyssand Leirvag) ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย(Jonit Foreign Chamber of Commerce in Thailand :JFCCT)

11. นายบรรณ เกษมทรัพย์ รองเลขาธิการ

12. นายธนพัต ทีฆธนานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครพนม

13. นายอมรเทพ ทวีพานิชย์ ผู้อำนวยการบริหาร

ผู้เข้าร่วมประชุมหอการค้าไทย-จีน นำโดยนายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน

ผู้เข้าร่วมประชุมจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำโดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช , นายถาวร ชลัษเฐียร , นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา , นายปรนนท์ ฐิตะวรรโณ , นางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล , นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ , นายนาวา จันทนสุรคน , ม.ล. ปีกทอง ทองใหญ่ , นายเวทิต โชควัฒนา , นายสุชาติ จันทรานาคราช , น.ส.พิมพ์นารา จิรานิธิศนนท์ , ดร.ปิยะนุช มาลากุล ณ อยุธยา , นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต และ นายกฤษณ์ อิ่มแสง เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย