ไม่พบผลการค้นหา
'เอ็มบีเค' ร่วมมือ 'SET' เปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการผ้าทอมือแสดงสินค้า หวังเพิ่มการตลาดและเจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติ รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับชาวบ้าน

ความพยายามในการผลักดันผ้าทอของไทยมีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในมิติของการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในชุมชน

ล่าสุด 'เอ็มบีเค' ร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ 'SET' จัดงานแสดงสินค้าจาก 19 ธุรกิจเพื่อสังคมจากกลุ่มหัตถกรรมผ้าทอมือ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้รู้จักกับสินค้าที่รังสรรค์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ 

โดยงานแสดงสินค้าครั้งนี้ จัดขึ้นตั้งแต่วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน ไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน ณ ลานเซ็นเตอร์ฮอล ชั้นจี โซนบี ศูนย์การค้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์

'ผ้าไทย' ขาย 'ต่างชาติ'

นายสมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็มบีเค จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกลุ่มลูกค้าที่มาซื้อสินค้าโอทอปว่าโดยส่วนมากแล้วจะเป็นชาวต่างชาติ เพราะสินค้าที่มีความเฉพาะตัวและเป็นเอกลักษณ์แบบนี้ไม่สามารถหาได้จากที่อื่น

SET SOCIAL
"บ้านเขาหลุยส์ฯ เอย แบรนด์อื่นๆ เอย มันมีอยู่แล้ว แต่แบบของเราเขาไม่มี" นายสมพล กล่าว

ทั้งนี้ นายสมพล ยังเสริมว่า การเลือกมาจัดแสดงสินค้าที่ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เป็นการเจาะกลุ่มตลาดที่ตรงเป้าหมาย เพราะลูกค้าของเอ็มบีเคร้อยละ 70 เป็นชาวต่างชาติ เช่น ชาวอาหรับ จีน อังกฤษ และออสเตรเลีย ขณะที่สัดส่วนลูกค้าชาวไทยมีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น

ชาวบ้านอยู่ตรงไหนของห่วงโซ่อุปทาน

'แมนคราฟท์' เป็นแบรนด์ที่มีการผสมผสานการทอผ้าและการย้อมสีธรรมชาติที่ดำเนินธุรกิจมาเกือบ 10 ปี โดย 'ปราชญ์ นิยมค้า' ผู้ก่อตั้งแบรนด์ชาวสกลนคร ต้องการแสดงศักยภาพในการทอผ้าของชาวบ้านออกมาพร้อมกับใส่ความคิดสร้างสรรค์ในฐานะศิลปินของตนเองลงไปในสินค้าด้วย

SET SOCIAL

ปราชญ์ย้ำว่าสินค้าทุกชิ้นของแบรนด์ไม่ได้ผลิตขึ้นมาเป็นจำนวนมาก แต่ในแต่ละคอลเลกชันมีเพียง 20 - 30 ตัว เท่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่าคุณภาพในการทอผ้าจะได้ออกมาอย่างเต็มศักยภาพ

โดยชาวบ้านที่อยู่ภายใต้การดูแลของแบรนด์จะเป็นการจ้างแบบรายคอลเลกชัน แต่จะมีงานส่งมอบให้สม่ำเสมอ โดยปราชญ์มองว่า แบรนด์ของตนเข้าไปช่วยเสริมอาชีพในเวลาว่างจากการทำไร่ทำนาของชาวบ้าน ให้สามารถมีเงินเพิ่มขึ้น

SET SOCIAL

ขณะที่ 'ศุภิสรา สุภา' เจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจและการขาย บริษัทแฮปปี้ฟาร์มเมอร์ส ชี้ว่า บริษัทมุ่งหวังที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวเผ่าปกาเกอะญอ ในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่เคยเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นมาก่อน 

SET SOCIAL

สำหรับชาวบ้านที่อยู่กับบริษัทตอนนี้มีทั้งหมด 22 คน ซึ่งชาวบ้านเหล่านี้ส่วนมากจะเป็นผู้หญิงวัยกลางคนขึ้นไปที่ไม่สามารถออกไปทำงานหนักได้

ศุภิสรา กล่าวว่าชาวบ้านจะขายผ้าที่ทอได้ให้กลับบริษัทก่อนที่บริษัทจะนำไปประยุกต์เป็นสินค้าที่หลากหลาย โดยส่วนมากจะจัดเป็นชุดของขวัญ เช่น สมุด กล่องดินสอ และกระเป๋า 

การพัฒนาสินค้าท้องถิ่นของไทยยังคงต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง บริษัทที่จดทะเบียนเป็นธุรกิจเพื่อสังคมเองก็ควรมีการตรวจสอบว่าเป็นการทำเพื่อสังคมจริงหรือไม่ หรือเป็นการเลือกจดทะเบียนเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทเพียงเท่านั้น

SET SOCIAL