หลังจาก จ.ขอนแก่น ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สีแดงเข้มโดย ศบค. ตามด้วยมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 2564 'วอยซ์' เข้าไปยังพื้นที่ อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น เป็นพื้นที่ที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงเป็นอับดับ 2 รองจากอำเภอเมืองขอนแก่น แน่นอนว่าโรงเรียนทั้งหมดในพื้นที่ต้องทำการเรียนออนไลน์ 100%
ศุภณัฐ วังโตโนด นักเรียนชั้น ม.2 อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น อาศัยอยู่ในบ้านไม้ชั้นเดียวในบริเวณเดียวกับไร่มันสำปะหลัง ร่วมกับพ่อแม่และน้องชาย ครอบครัวเขามีอาชีพปลูกมันสำปะหลัง ภายในบ้านมีคอมพิวเตอร์ที่ลุงส่งมาให้จากกรุงเทพฯ 1 เครื่อง และโทรศัพท์ 2 เครื่อง
บ้านของเขาไม่มีไวไฟ เด็กๆ ต้องใช้อินเตอร์เน็ตจากโทรศัพท์มือถือซึ่งต้องเสียค่าสมัครเดือนละ 200 บาท โดยเขาต้องหาเงินจ่ายค่าอินเตอร์เน็ตเองจากการออกไปหาของป่ามาขาย
เขาเป็นลูกชายคนโตที่ต้องช่วยพ่อและแม่ขนมันสำปะหลังขึ้นรถเพื่อนำไปขาย บางวันเขาต้องช่วยพ่อขับรถ 6 ล้อ และเรียนออนไลน์ไปด้วย บ้านของศุภณัฐอยู่ห่างจากโรงเรียนประมาณ 30 กิโลฯ
ก่อนหน้านี้เขาต้องตื่นไปโรงเรียนตั้งแต่ตี 5 เพื่อขึ้นรถรับส่งไปโรงเรียน หลังจากที่โรงเรียนได้เปลี่ยนเป็นเรียนออนไลน์ทำให้ศุภณัฐต้องเรียนอยู่ที่บ้านและเผชิญอุปสรรคมากมายในการเรียนในครั้งนี้
“บ้านผมไม่มีไวไฟ บางทีก็เรียนรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง บางครั้งฟ้าครึ้มฝนตกแล้วไฟก็ดับ อินเตอร์เน็ตก็มาไม่ถึงบ้าน บางวันต้องไปช่วยพ่อเก็บมันนำไปขาย แบกถุงมันไปด้วย ลำบากมาก คลื่นอินเตอร์เน็ตที่บ้านก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง บางครั้งสตาร์ทรถเครื่องก็ดังตลอด ผมต้องคอยเอาโทรศัพท์แนบหูเพื่อฟังว่าครูพูดอะไร บางทีก็ฟังครูไม่รู้เรื่อง”
ศุภณัฐ วังโตโนด กำลังนั่งเล่นอินเตอร์ผ่านโทรศัพท์มือถืออยู่หน้าบ้าน
ช่วงวิกฤตโควิด โรงเรียนปิดพื้นทีี่การเรียนแบบออฟไลน์ ศุภณัฐเข้าเรียนเพียงวันละ 2 คาบ เพราะต้องช่วยงานที่บ้าน เช่นเดียวกับเพื่อนอีกหลายคนของเขาที่ต้องไปช่วยครอบครัวทำงานทำให้ไม่สามารถเข้าเรียนได้
ศุภณัฐบอกว่าเขาชอบเรียนที่โรงเรียนมากกว่าเพราะได้เจอเพื่อน “ผมให้โรงเรียนเต็มร้อยเพราะว่าได้อยู่กับเพื่อนได้กินข้าวกับเพื่อน เพื่อนป่วยก็ช่วยดูแลเพื่อน เรียนแบบนี้มันเหงาเพราะไม่มีเพื่อนคอยตอบโต้ บางทีก็ไม่ค่อยได้เห็นหน้าเพื่อน” เขาสะท้อนถึงปัญหาการเรียนออนไลน์
เขาต้องการให้ทางภาครัฐช่วยสนับสนุนการเรียนทุกอย่าง โดยเฉพาะด้านอินเตอร์เน็ต เขามองว่าบางคนหนักกว่่าเขาที่อยู่บ้านมีเพียงสังกะสีหุ้มบ้าน เขาอยากให้ไปช่วยเด็กที่อยู่ข้างถนนด้วยเพราะเด็กเหล่านี้จะได้ช่วยประเทศชาติต่อไป ถ้าหากช่วยเด็กตรงนั้นประเทศชาติอาจจะเจริญก้าวหน้าไปกว่าเดิม
“จงอย่าดูถูกเด็กครับ” ศุภณัฐกล่าว
เช่นเดียวกับภูบดี วันพุทธา นักเรียนชั้น ม.4 อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น เป็นอีกหนึ่งคนที่บ้านไม่มีไวไฟ ทำให้เขาต้องเดินไปเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่บ้านของย่าที่อยู่ถัดจากบ้านของเขาประมาณ 200 เมตร เพื่อเรียนออนไลน์
“ผมต้องเดินมาเรียนที่บ้านย่า เพราะที่บ้านของผมไม่มีอินเตอร์เน็ต บางวันที่สัญญาณไม่ดี ผมก็เรียนไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ข่าวสารว่าเพื่อนพูดอะไรกัน วันไหนไม่มีสัญญาณก็ไม่รู้ว่่ามีเรียนไหม”
ภูบดีเริ่มเรียนออนไลน์ตั้งแต่ 8.00 น. - 16.00 น. ผ่านแอปพลิเคชั่น Google Classroom เขาเล่าว่าในตอนแรกๆ เขาใช้ไม่ค่อยเป็น ต้องคอยให้เพื่อนบอกและส่งลิงค์มาให้ ในบางวิชาคุณครูสอนค่อนข้างเร็ว เขาเข้าเช็คชื่อไม่ทันเพราะเพื่อนส่งลิงค์มาช้า
“ส่วนใหญ่ผมจะปิดกล้องและฟัง ถ้าหากครูถามก็จะเปิดไมค์ตอบ บางครั้งก็ฟังครูไม่ค่อยรู้เรื่องเพราะเสียงไม่ชัด”
ภูบดี วันพุทธา กำลังเดินไปบ้านย่าซึ่งอยู่ห่างจากบ้าน 200 เมตร เพื่อเชื่อมต่อไวไฟเรียนออนไลน์
ภูบดีกำลังเรียนสายช่างยนต์ เขามองว่าข้อเสียของการเรียนออนไลน์คือการที่ทำให้เขาไม่ค่อยเข้าใจในบทเรียน หากเป็นภาคปฏิบัติซึ่งต้องใช้เครื่องมือที่โรงเรียนอาจจะดีกว่า เพราะมีอุปกรณ์ให้ฝึกและมีเพื่อนให้คอยถาม
เมื่อถามถึงจำนวนคนเข้าเรียน เขาบอกว่ามีเพื่อนเข้าเรียนออนไลน์ด้วยไม่ถึงครึ่งห้อง “บางคนไม่มีอินเตอร์เน็ตก็ไม่เรียนเลย บางคนต้องไปช่วยผู้ปกครองทำงาน บางคนก็ไม่ตื่น บางคนก็ไปเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย บางคนก็ไม่มีจริงๆ บางคนต้องเสียค่าอินเตอร์เน็ตวันละ 19 บาท แบบนี้ทุกวัน” เขาสารภาพว่าอยากให้มีอินเตอร์เน็ตฟรีเพราะเป็นสิ่งจำเป็น
ด้านสัญญา มัครินทร์ หรือ ‘ครูสอยอ’ ครูประจำโรงเรียนสีชมพูศึกษา จ.ขอนแก่น เห็นด้วยว่าถ้าหากรัฐจะยังให้เรียนออนไลน์ต่อไป ควรจะมีอินเตอร์เน็ตฟรีแบบถ้วนหน้าและมีอุปกรณ์พร้อมให้นักเรียนได้ใช้
รายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2562 พบว่ามีจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 21.9 ล้านครัวเรือน ในจำนวนนี้มีครัวเรือนที่มีโทรศัพท์พื้นฐานเพียง 1.7 ล้านครัวเรือน หรือคิดเป็นร้อยละ 7.9 หมายความว่าร้อยละ 92.1 ไม่มีโทรศัพท์พื้นฐานใช้ และครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์พบว่า สัดส่วนของครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์ มีเพียงร้อยละ 15.9 และอีกร้อยละ 84.1 ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้งาน
ส่วนผลสำรวจปีการศึกษา 2564 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าจากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้มีเด็กยากจนพิเศษเพิ่มขึ้น 128,524 คน พบว่ามีเด็กยากจนรวมประมาณ 1.9 ล้านคน 87.94% หรือ 271,888 คน ยังขาดแคลนไฟฟ้าและอุปกรณ์เข้าถึงการเรียนออนไลน์ และอีก 43,060 คน หรือ 14.6% หลุดออกจากระบบการศึกษา
เสียงเรียกร้องที่อยากให้รัฐบาลสนับสนุน คำตอบคือรัฐบาลมีโครงการ 'เน็ตประชารัฐ' โดยใช้งบประมาณ 13,000 ล้าน ให้บริการ Free Wi-Fi กว่า 2 หมื่น หมู่บ้าน ให้ใช้บริการ หมู่บ้านละ 1 จุด โดยให้บริการที่ความเร็วไม่ต่ำกว่า 30 Mbps/10Mbps
อย่างไรก็ตามหลังเรียนออนไลน์มาเกือบปี สำนักงาน กสทช.เพิ่งได้มีมาตรการช่วยเหลือ เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์เพียง 2 เดือน ในราคา 79 บาท จนถึง 15 ต.ค. 2564
ห้องเรียนโรงเรียนสีชมพูศึกษาที่มีเพียงโต๊ะกับเก้าอี้
บรรยากาศอันเงียบเหงา ห้องเรียนที่ว่างเปล่า ภายในโรงเรียนสีชมพูศึกษา ครูสอยอขับรถเก๋งคันเก่าเข้ามาจอดในหอประชุม
“บ่ายนี้ผมมีสอนหนึ่งคาบ” เขาบอกกับวอยซ์
จากนั้นเขาเดินไปหยิบไม้กวาดมาทำความสะอาดโต๊ะและเก้าอี้ที่ตั้งอยู่หน้าเวทีหอประชุม ค่อยๆ วางกระเป๋าและหยิบคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊กออกมาเปิดเครื่องและเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตของโรงเรียน
“สวัสดีเตยและบิว ครูชื่นชมพวกเอ็งมาก พวกเอ็งเป็นคนคุณภาพของ ม.1/3 กินข้าวกันรึยัง” ครูสอยอ ถามนักเรียนที่ปรากฏอยู่หน้าจอ
“กินแล้วค่ะ”
“กินกับอะไร” ครูถามต่อ
“ไก่ทอดค่ะ”
ครูสอยอนั่งเปิดเพลงและไถ่ถามนักเรียนที่เข้ามาแล้วเพื่อรอนักเรียนคนอื่นๆ ไม่นานนักเขาก็ตัดสินใจเริ่มสอน เพราะเห็นว่าวันนี้คงมีนักเรียนเพียง 4 คน
เขาเล่าให้ฟังว่าตั้งแต่เริ่มมีการเรียนออนไลน์ พบปัญหามากมาย อันดับแรกคือความไม่พร้อมของนักเรียนและความไม่พร้อมของครู บางวันครูต้องสอนที่บ้าน ต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตจากโทรศัพท์มือถือซึ่งบางครั้งก็ใช้เวลากว่าจะเชื่อมต่อได้ ขณะที่ค่าอินเตอร์เน็ตคุณครูก็ต้องเป็นผู้จ่ายเอง และจำนวนของเด็กที่เข้ามาเรียนมีไม่ถึง 50% ทำให้คุณครูกังวลใจมากขึ้น
“การเข้าไม่ถึงของนักเรียนหมายถึงเข้าไม่ถึงเครื่องไม้เครื่องมือ มีบ้างไม่มีบ้าง ระบบอินเตอร์เน็ตไม่เสถียร เติมอินเตอร์เน็ตได้นิดหน่อยเพราะความขาดแคลนทางทรัพยากรด้านเศรษฐกิจทำให้นักเรียนเข้าไม่ถึงเรื่องพื้นฐาน
"เราไม่เห็นนักเรียนปรากฏตัวในคลาส ก็ใช้วิธีการโทรถามว่าเกิดอะไรขึ้น เขาบอกว่าสภาพแวดล้อมมันไม่เอื้อเลยครู เพราะโทรศัพท์อาจจะไม่ใช่ของเขา เขาต้องใช้ร่วมกับน้องหรือต้องให้พ่อกับแม่ใช้ หรือบางพื้นที่อินเตอร์เน็ตไม่มี เติมเน็ตได้ 20 นาที พอเปิดกล้องมันก็ทำให้อินเตอร์เน็ตในโทรศัทพ์ของเขาลดลง” ครูสอยอเล่าถึงปัญหาที่พบ
เขาเสริมต่ออีกว่าการเรียนออนไลน์เช่นนี้ไม่ใช่ธรรมชาติของเด็กที่จะต้องมานั่งฟังยาวนานเพราะอาจจะทำให้เด็กเบื่อและล้า ส่งผลให้เด็กไม่สนใจและอยากจะไปทำอย่างอื่น เช่น ไปช่วยงานที่่บ้าน ไปดำนา มากกว่ามาอยู่ในการเรียนออนไลน์
ครูสอยอมีข้อเสนอแนะว่า หนึ่ง โรงเรียนได้มีการพยายามลดคาบเรียนลงและบูรณาการร่วมกันมากขึ้นเพื่อลดภาระทั้งครูและนักเรียนและเพื่อให้เด็กยังเข้ามาเรียนได้และมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนได้
สอง จะต้องยืดหยุ่นให้มีห้องเรียนได้สำหรับนักเรียนกลุ่มที่ไม่พร้อมแล้วให้ครูไปจัดกระบวนการเรียนรู้ในพื้นที่ได้
สาม ออกแบบชิ้นงานที่สอดคล้องกับตัวนักเรียน ลดชั่วโมงลง ทำให้การเรียนอยู่ในสถานการณ์ของเขาจริงๆ
คุณครูสัญญา มัครินทร์ หรือ ‘ครูสอยอ’ กำลังนั่งสอนออนไลน์อยู่หน้าเวทีของหอประชุมโรงเรียน
“เพื่อนของผมก็เริ่มท้อง แล้วไม่เรียนเลย มีวิสัยทัศน์แย่และมองในด้านลบตลอด แม้แต่เพื่อนด้วยกันเข้าไปก็ถือมีดจะวิ่งไล่ฆ่าตลอด ตัวผมเองตอนแรกก็ท้อกับการเรียนมาก บางทีก็คิดว่าจะผูกคอฆ่าตัวตายด้วยเชือกเข็มขัด เพราะคิดว่าเกิดมาเป็นภาระผู้ปกครอง แต่พอคิดในด้านดีคือว่าเรายังมีแม่ มีพ่อ มีน้องที่คอยสนับสนุนตลอด เลยไม่คิด”
ศุภณัฐเล่าถึงสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับเพื่อนและตัวเขาเองระหว่างเรียน เขาเคยท้อใจมากที่สุดคือตอนที่โดนเพื่อนดูถูกว่าเขาเป็นลูกคนจน พ่อไม่ทำงานออฟฟิศ เป็นเพียงแค่ชาวไร่โดนดูถูกว่าไม่มีทางสอบเข้าเรียนต่อได้ แต่สุดท้ายเขาก็พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเขาสามารถสอบเข้าและเรียนต่อได้
“เด็กสมัยนี้มักจะดูถูกเด็กที่ไม่มีทางสู้” ศุภณัฐบอก
ด้านครูสอยอมองว่าการศึกษาสมัยนี้ไม่ตอบโจทย์ เพราะว่าการศึกษาตามระบบยังมีระเบียบ มีชั่วโมงเป็นตัวตั้ง มีตัวชั้วัด มีคะแนน มีวิชาต่างๆ เยอะมาก เด็กนักเรียนบางคนอาจจะสนใจการประกอบอาชีพ สนใจการทำอาหาร แต่ต้องมานั่งเรียนในวิชาที่เขาอาจจะไม่สนใจ
เขายกตัวอย่าง เช่น มีนักเรียนบางคนสนใจเรื่องการทำอาหาร แต่เขายังต้องมานั่งเรียนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ บางคนอาจจะยังมองไม่ออกว่าบางวิชาจำเป็นอย่างไรในอนาคตของเขา พอมาอยู่ในกติกาของระบบ เขาก็ยังไม่เห็นว่ามันจะตอบโจทย์เขาได้จริงๆ มันเลยทำให้มันไม่ตอบโจทย์เขา
“ระบบการศึกษาให้คุณค่ากับการทำอะไรที่ต้องทำไปด้วยกัน มีการวัดประเมินแบบเดียวกัน หรือเนื้อหาการสอนก็คล้ายๆ กันอยู่” ครูสอยอกล่าว
‘ครูสอยอ’ ในห้องเรียนที่ว่างเปล่า
เขาบอกต่อไปว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการผลิตคนให้สอดคล้องกับสังคมและเทรนด์ของโลก
ในยุคหนึ่งให้คุณค่ากับการเป็นเจ้าคนนายคน ต้องเอาคนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม ระบบการศึกษามันจึงผลิตคนเพื่อให้พร้อมเข้าสู่ระบบนั้น แต่โลกของเราทุกวันนี้ให้คุณค่ากับความหลากหลาย ให้คุณค่ากับนวัตกรรม แต่ระบบการศึกษาปรับตัวไม่ทัน
“ผมว่าการศึกษามันควรจะนำกระแส ไม่ใช่ตามกระแสโลก ทิศทางการศึกษาที่อยากเห็นน่าจะเป็นแบบนั้น”
ครูสอยอเสนอแนะต่อว่า เราอาจจะต้องทบทวนว่าระบบการศึกษาเราทำมันเพื่อรับใช้อะไร รับใช้กระแสสังคม รับใช้วิธีคิดของรัฐบาล หรือรับใช้วิธีคิดของนายทุน หรือรับใช้สังคม หรือรับใช้ชุมชนจริงๆ
"ระบบการศึกษาจึงไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวกัน เช่น ในชุมชนสีชมพู เขาอยากเห็นลูกหลานเขาเป็นอย่างไร น่าจะให้เขามาส่งเสียงและร่วมออกแบบด้วยว่าเขาอยากพัฒนาคนแบบไหน มันไม่จำเป็นว่าส่วนกลางจะต้องมาบอกว่าเราอยากเห็นเด็กไทยเป็นแบบไหน"
เขามองว่าทุกที่ควรจะมีอำนาจและเป็นเจ้าของหลักสูตร ไปจนถึงการประเมินให้คุณค่าในบริบทของแต่ละที่ได้จริงๆ ซึ่งในระยะยาวโครงสร้างการศึกษาจะต้องถูกทบทวนและทำความเข้าใจใหม่ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโรงเรียนและรัฐยังมีอำนาจกำหนดทิศทางของคนในประเทศ ซึ่งอนาคตเราต้องมาคุยกันใหม่ความเป็นโรงเรียนต้องกลับมาทบทวนตัวเองแล้วก็ต้องมาปรับกันใหม่
“ห้องเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพียงพอให้ทุกเสียงได้ส่งเสียง ว่าแต่ละคนจะเลือกเชื่อแบบไหน ผมว่าพื้นที่แบบนี้มันควรถูกสร้างขึ้นในโรงเรียน”
เขาเล่าให้ฟังว่าห้องเรียนประชาธิปไตยต้องเริ่มจากการมีพื้นที่ที่พร้อมจะทำให้เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยนและเกิดการรับฟัง ถ้าทุกคนกล้าแลกเปลี่ยนและเห็นต่าง พื้นที่ต้องปลอดภัยเพียงพอ
เมื่อนั้นทุกเสียงจะสามารถส่งเสียงได้จริง และคุณค่าก็จะเกิด เพราะเสียงถูกรับฟัง และทุกคนได้เคารพเสียงกันและกัน นำไปสู่การพัฒนา ไปสู่เรื่องสิทธิต่างๆ และไปสู่การทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ
“เราต้องลดบทบาทการเป็นครูลง เป็นเพียงผู้ออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเขา เพื่อสร้างพื้นที่ให้มันปลอดภัยจริงๆ ขณะเดียวกันเราก็จะได้โอกาสในการเรียนรู้จากเขาด้วย ซึ่งผมว่านี้อาจจะเป็นทัศนคติประชาธิปไตยในห้องเรียน ตราบใดถ้าครูจะเอาเนื้อหาประชาธิปไตยมาสอน นั่นหมายความว่าเราก็ยังมีวิธีคิดแบบเดิมอยู่ คือยังเชื่อว่าประชาธิปไตยแบบฉันคือแบบนี้”
ครูสอยอเล่าย้อนถึงความสำเร็จที่เคยทำให้โรงเรียนเก่าที่เคยสอนว่า นักเรียนสามารถกล้าที่จะลุกขึ้นมาออกแบบหลักสูตรของเขาด้วยตัวเอง มีอำนาจที่จะไม่เห็นด้วยที่ครูนำเสนอ เขามองว่าเมื่อสิ่งเหล่านี้ติดตัวนักเรียนไป ไม่ใช่แค่เป็นเพียงผู้ตามที่ดี แต่เขาจะเป็นผู้นำที่ดีด้วย
เพราะเขามีวิธีที่ทำงานกับเพื่อนอย่างเคารพ มีวิธีประนีประนอม มีวิธีที่จะต่อรอง มีวิธีให้เพื่อนตรวจสอบเขาด้วยว่าผิดพลาดตรงไหน เขาได้ฝึกมองตัวเอง ฝึกมองกันละกัน เพราะเราสร้างวัฒนธรรมแบบนี้ในห้องเรียน
กระดานโหวตอาหารกลางวันในโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย เทศบาลนครขอนแก่น / ภาพโดย Watcharapong Wongsim
อีกหนึ่งตัวอย่างที่ครูสอยอเล่าให้ฟัง คือโปรเจค ‘Lunch&Learn’ หรือโปรเจค ‘อิ่มท้องสมองใส’
เป็นการร่วมมือกันของครู นักโภชนาการ และนักออกแบบจาก TCDC จัดกระบวนการให้นักเรียนได้โหวตอาหารกลางวันที่ตัวเองอยากกิน
โดยเริ่มจากปัญหาที่ครูและนักเรียนกินอาหารไม่อร่อย เจอเมนูเดิมๆ พวกเขาจึงนำปัญหานี้มาพูดคุยกับแม่ครัวและนักออกแบบเพื่อแก้ปัญหา จึงเกิดการออกแบบอาหารขึ้นมาให้น่ากินภายใต้ต้นทุนเพียง 21 บาท
จากนั้นก็รับฟังเสียงของเด็กนักเรียนว่าอยากทานอะไรบ้าง เกิดเป็น 10 เมนู และสร้างกระบวนการประชาธิปไตยให้เด็กๆ มาโหวตเลือกเมนูที่ตนเองอยากกิน โดยเมนูที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ "ไก่เคเอฟซี" ซึ่งมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ แต่ก็ทำให้เด็กได้เรียนรู้ในการที่จะเคารพเสียงของกันและกัน เพื่อสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย
ความท้าทายของครูและนักเรียนรุ่นใหม่ที่กำลังเผชิญอยู่ตรงไหน เขาบอกว่า “ส่วนใหญ่ระบบการศึกษายังเป็นระบบแบบอำนาจนิยมอยู่”
อย่างไรก็ตาม เขาก็มีความหวังว่าในปัจจุบันและอนาคตจะมีคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาเป็นครูที่มีความเชื่อในประชาธิปไตยที่พยายามสร้างพื้นที่การให้เกียรติกันและกัน
แม้จะยากและมีอุปสรรคมากมาย เพราะวัฒนธรรมอำนาจนิยมถูกปลูกฝังมานานและยังอยู่ในทุกพื้นที่ในโรงเรียน ตัวเขาเองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่กำลังพิสูจน์ให้เห็นถึงคุณค่าที่กำลังเกิดขึ้น
เรื่องและวิดิโอ : สุภาพร ธรรมประโคน
ภาพ : ณปกรณ์ ชื่นตา