ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคมนี้ มีกระแสข่าวจากสื่อใหญ่ของสหรัฐฯ หลายสำนักว่า พันโทหญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ สตรีลูกครึ่งไทยอเมริกัน ผู้ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จากรัฐอิลลินอยส์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 8 รัฐอิลลินอยส์ และอดีตทหารผ่านศึกสงครามอิรัก จะเป็นตัวเก็งที่พรรคเดโมแครตเลือกสรรเป็นตัวแทนชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี เคียงคู่กับ โจ ไบเดน ผู้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
พันโทหญิง ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ เกิดเมื่อปี 1968 ในประเทศไทย มีมารดาเป็นคนไทย มีบิดาเป็นนายทหารสหรัฐฯ ในวัยเด็กเธอต้องย้ายที่เรียนบ่อยเพื่อติดตามบิดาที่ต้องโยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศต่างๆ แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เธอมีความสามารถคล่องแคล่วในการใช้ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษาอินโด เธอสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวายแห่งมาโนอา ปริญญาโททางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน เคยเรียนปริญาเอกที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นอิลลินอยส์แต่ไม่สำเร็จการศึกษาเพราะเธอไปราชการสงครามที่อิรัก และต่อมาจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยคาเปลลา เธอเข้ารับราชการในกองทัพสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 1990 และได้เป็นนายทหารสัญญาบัตรในปี 1992 และแต่งงานกับพันตรีไบรอัน โบล์สบีย์ ในปี 1993 ซึ่งทำให้เธอมีครอบครัวเป็นทหารอย่างสมบูรณ์ เพราะมีปู่เป็นทหาร บิดาเป็นทหาร ตัวเองเป็นทหาร น้องชายเป็นทหาร และมีสามีเป็นทหาร
ในปี 2004 ระหว่างที่เธอปฏิบัติหน้าที่ในอิรัก เฮลิคอปเตอร์แบล็คฮอว์คที่เธอเป็นนักบินผู้ช่วยถูกยิงด้วยระเบิด เธอรอดชีวิตแต่เหตุการณ์นั้นทำให้เธอสูญเสียขาทั้งสองข้างต้องใส่ขาเทียม เรื่องราวของเธอโด่งดังไปทั้งสหรัฐฯ และเธอได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรสตรีที่กล้าหาญและเสียสละเพื่อชาติ
ประวัติที่ไร้ความด่างพร้อยและชื่อเสียงในฐานะวีรสตรี หนุนนำให้เธอได้มีโอกาสก้าวเข้าสู่การเมืองอย่างสง่างาม ในปี 2009 เธอได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกของสหรัฐฯ ต่อมาในปี 2012 เธอชนะการเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 8 รัฐอิลลินอยส์ ซึ่งเป็นเขตที่มีประชากรหลายเชื้อชาติแต่เธอได้คะแนนเสียงอย่างท่วมท้น และต่อมาในปี 2017 เธอชนะการเลือกตั้งได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ จากรัฐอิลลินอยส์
การที่เธอชนะเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ จากรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งเป็นรัฐสำคัญ และเป็นพื้นที่เก่าซึ่งอดีตประธา นาธิบดีบารัค โอบามา เคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาสหรัฐฯ จากรัฐนี้มาก่อนเช่นกัน ทำให้เธอถูกจับตามาขึ้นเป็นพิเศษ การที่เธอสนิทสนมกับอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็ยิ่งทำให้เป็นที่ถูกจับตา
จนในปี 2018 เธอเป็นที่จับตาอย่างมากเมื่อออกมาตอบโต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ด่าในทวิตเตอร์ว่า “พรรคเดโมแครตยึดกองทัพเป็นตัวประกัน” เนื่องจากพรรคเดโมแครตไม่สนับสนุนให้ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณ ซึ่งมีผลกระทบกับกองทัพโดยตรง ทำให้ พันโทหญิง ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ ด่ากลับไปว่าทหารผ่านศึกอย่างเธอจะไม่รับฟังคำสั่งสอนจากผู้ชายที่หนีทหารถึง 5 ครั้ง แล้วยังมีหน้ามาทำให้ทั้งกำลังพลของกองทัพและประชาชนทั้งประเทศเสี่ยงอันตรายจากการก่อความขัดแย้งกับประเทศอื่น
การตอบโต้ประธานาธิบดีทรัมป์อย่างเผ็ดร้อนเช่นนั้น ทำให้เกิดกระแสข่าวว่า เธออาจจะกลายเป็นตัวเก็งที่พรรคเดโมแครตเลือกส่งลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่แล้วกระแสก็เงียบหายไป แล้วปรากฏว่าพรรคเดโมแครตเลือก โจ ไบเดน อดีตรองประธานาธิบดีคู่ใจของโอบามา เป็นผู้ลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2020
ในปี 2020 นี้ เมื่อใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่พรรคเดโมแครตยังไม่ประกาศว่าจะส่งใครลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ทำให้เกิดกระแสเชียร์ กระแสวิเคราะห์ และกระแสวิจารณ์ไปต่างๆ นานา และเนื่องจาก โจ ไบเดน เคยประกาศว่าถ้าเขาได้รับเลือกจากพรรคเดโมแครตให้ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาจะเลือก “ผู้หญิง” ลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี จึงทำให้สังคมอเมริกันจับตาไปที่ พันโทหญิง ลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ ในฐานะนักการเมืองหญิงที่ประวัติงดงามและโดดเด่นแถมยังสนิทสนมกับอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา
สื่อหลายสำนักในสหรัฐฯ เชียร์ว่า ถ้าเธอได้เป็นรองประธานาธิบดี เธอจะช่วยส่งเสริมบทบาทสตรีและส่งเสริมการช่วยเหลือทหารผ่านศึกให้ดีขึ้นได้ ในขณะที่ก็มีเสียงวิจารณ์ว่าที่ผ่านมาเธอมีเพียงประวัติการเป็นทหารที่กล้าหาญ แต่ในฐานะนักการเมืองเธอยังไม่เคยแสดงบทบาทหรือมีผลงานอะไรที่โดดเด่นเป็นประโยชน์ ผลงานของเธอหนักไปด้านการประชาสัมพันธ์และภาพลักษณ์เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีสื่อหลายสำนักคาดการณ์ว่า โจ ไบเดน คงเลือกสตรีผิวสีเชื้อสายอัฟริกันอเมริกันหรือเชื้อสายอเมริกาใต้มาลงชิงชัยตำแหน่งรองประธานาธิบดี เพื่อดึงคะแนนเสียงภายใต้บรรยากาศของ “แบล็คไลฟ์แมตเทอร์” (Black Lives Matter) หรือการประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิว ซึ่งเป็นกระแสลุกลามไปทั้งประเทศและลามไปถึงยุโรปด้วย หรือไม่ก็เลือกนักการเมืองในพรรคเดโมแครตที่มีผลงานเป็นรูปธรรมโดดเด่น เช่น เกร็ตเชน วิตเมอร์ ผู้ว่าการรัฐมิชิแกน หรือ คามาลา แฮร์ริส สมาชิกวุฒิสภาจากรัฐแคลิฟอร์เนีย มาลงชิงชัยตำแหน่งรองประธานาธิบดี
สื่อไทยหลายสำนัก เชียร์เธอ และวิเคราะห์ว่าถ้าเธอได้เป็นรองประธานาธิบดี เธอจะช่วยส่งเสริมส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทย อย่างไรก็ดี ในปี 2559 เมื่อเธอเดินทางมาเยือนประเทศไทยหลังการคลอดบุตรคนที่สอง เธอได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษให้โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และได้รับเชิญเป็นแขกพิเศษเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาล เธอได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวไทยโดยสงวนท่าทีที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ และเธอย้ำให้คนไทย “ใจเย็นๆ” รอคอยประชาธิปไตย เธอเล่าว่า ที่สหรัฐฯ “ประเทศของฉัน” แม้มีประชาธิปไตยแล้ว แต่ก็เคยเกิดสงครามกลางเมือง แบ่งประเทศเป็นสองฝ่าย ชาวอเมริกันตายไปมากมาย แต่สิ่งที่ประเทศไทยกำลังเป็นอยู่คือความก้าวหน้า แม้สังคมจะมีคนที่มีความคิดแตกต่างกัน แต่ก็อยู่ร่วมกันได้
(วุฒิสมาชิกดักเวิร์ธเคยพบปะนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างปฏิบัติภารกิจเยือนประเทศไทยเป็๋นเวลา 8 วันเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2557 )
นอกจากนี้ สื่อไทยหลายสำนัก ก็เชียร์เธอ และวิเคราะห์ว่าถ้าเธอได้เป็นรองประธานาธิบดี เธอจะช่วยส่งเสริมส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติของไทยเพราะเธอเป็นคนไทย ซึ่งในความเป็นจริงมันชัดเจนเหลือเกินว่าแม้เธอจะมีเชื้อสายไทยแต่เธอรักชาติสหรัฐฯอย่างยิ่งและอุทิศชีวิตเพื่อชาติสหรัฐฯ ที่เธอเติบโตและใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น จนได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรสตรีทหารผ่านศึก ของสหรัฐฯ และในฐานะนักการเมืองเธอย่อมอุทิศตัวเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนอเมริกันที่เลือกเธอไม่ใช่เพื่อประชาชนประเทศอื่น