งบกลาง ปี 2565 วงเงิน 571,047 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.4 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นการจัดสรรงบฯให้กับงบกลางมากที่สุด เหนือกว่ากระทรวงและหน่วยงานอื่น
สำหรับงบกลางในปี 2565 ถูกปรับลดลงจากปี 2564 จำนวน 43,568 ล้านบาท
หากเข้าไปดูการจำแนกรายละเอียดเม็ดเงินของงบกลาง ในปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 5.71 แสนล้านบาท จะพบว่ามีงบประมาณที่จัดสรรให้งบกลางจากมากที่สุดไปน้อยที่สุด ดังนี้
1.เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 310,600 ล้านบาท
2.เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 89,000 ล้านบาท
3.ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ข้าราการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ 74,000 ล้านบาท
4.เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ 72,370 ล้านบาท
5.เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 11,547.3 ล้านบาท
6.ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 5,000 ล้านบาท
7.เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ 4,360 ล้านบาท
8.ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่้องมาจากพระราชดำริ 2,300 ล้านบาท
9.ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ 800 ล้านบาท
10.เงินสมทบของลูกจ้างประจำ 570 ล้านบาท
11.เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง 500 ล้านบาท
หากดูงบกลางในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จะพบว่ามีค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระบทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 40,325.6 ล้านบาท ในขณะที่งบกลางของงบประมาณฯ ปี 2565 ไม่ได้ตั้งงบในการแก้ปัญหาโควิด-19 ไว้
การตั้งงบประมาณรายจ่ายงบกลางนั้น เน้นถึงค่าใช้จ่ายที่ทราบวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานแต่ไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้าเกี่ยวกับหน่วยรับงบประมาณที่จะรับผิดชอบในการดำเนินงานหรือใช้จ่ายงบประมาณ แต่ไม่สามารถกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจนของแต่ละหน่วยรับงบประมาณได้
ประกอบด้วย 1.ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ จำนวน 800 ล้านบาท โดยระบุว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมไว้ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในการสนับสนุนพระราชกรณียกกิจ ในการเสด็จพระราชดำเนินภายในประเทศ และหรือต่างประเทศ และการต้อนรับประมุขต่างประเทศที่มาเยือนประเทศไทยในระหว่างปี ซึ่งเป็นภารกิจที่มิอาจทราบรายละเอียดล่วงหน้าและไม่สามารถประมาณการค่าใช้จ่ายที่แน่นอนได้
2.ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 5,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่แน่นอนขึ้นอยุ่กับการเกิดภัยประเภทของภัย ความรุนแรงและระยะเวลาที่เกิดภัยนั้นๆ ทำให้ไม่สามารถประมาณการค่าใช้จ่ายที่แน่นอนของแต่ละส่วนราชการได้
3.ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2,300 ล้านบาท โดยระบุถึงเหตุการตั้งงบฯไว้ว่า แต่ละปีโครงการที่เริ่มดำเนินงานและเกี่ยวขอ้งกับภารกิจของส่วนราชการต่างๆ หลายส่วนราชการ และเป็นโครงการที่เริ่มดำเนินงานหลังจากวันที่เริ่มต้นปีงบประมาณแล้ว จึงไม่สามารถเสนอตั้งงบประมาณไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณของส่วนราชการได้
4.เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง 500 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมไว้ช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพงานก่อสร้างที่ดำเนินงานให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งในขณะตั้งงบประมาณ ไม่สามารถคาดการณ์ความผันผวนของปัจจัยที่จะนำมาคำนวณเป็นการล่วงหน้าได้
5.เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 89,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเตรียมไว้ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐที่มีบทบาทหน้าที่ต้องแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่เกิดขึ้น และใช้จ่ายตามสภาพเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายและไม่สามารถประมาณการค่าใช้จ่ายที่แน่นอนได้ และไม่อาจจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้แก่หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบได้โดยตรง
ประเด็นที่ถูกโฟกัสในงบประมาณปี 2565 ที่ไม่ได้มีการแสดงรายละเอียดงบฯในส่วนแก้ปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19
ด้าน 'สมคิด เชื้อคง' ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะฝ่ายค้านมองว่าการที่รัฐบาลไม่ตั้งบประมาณการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ไว้ในงบกลาง ปี 2565 เข้าใจว่ารัฐบาลจะนำไปใส่ในรายละเอียดของตัว พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่กำลังจะเข้ารัฐสภาในเร็วๆนี้
"การใส่ไว้ใน พ.ร.ก. ทางรัฐบาลมองว่าจะจัดการได้ง่ายกว่า แต่การตรวจสอบนั้นจะยากกว่า หากนำงบฯ แก้ไขปัญหาโควิดไว้ในงบกลางก็จะทำให้ถูกตรวจสอบได้ เพราะอยู่ในระบบ"
'สมคิด' มองว่างบประมาณที่ตั้งไว้ในงบกลางปี 2565 ที่ควรจะต้องจับตาคืองบประมาณ 89,000 ล้านบาท ที่เป็น เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ส่วนงบกลางในส่วนอื่นๆ นั้นจะเป็นงบฯที่มีเจ้าของหมด คือตั้งไว้อยู่แล้วเป็นประจำทุกปี"
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านยังเห็นว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ พ.ศ.2565 ไม่ควรรับหลักการ เพราะการจัดทำงบฯ นั้นมีความไม่ถูกต้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง