วันที่ 27 ก.ค. 2565 ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีรัฐบาลทหารเมียนมาประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยรวม 4 คนว่า ถือ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่โหดร้ายครั้งใหญ่ในรอบหลายทศวรรษของเมียนมา สร้างความสะเทือนใจและความกังวลต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่นับวันยิ่งลุกลามบานปลายมากขึ้น และยังเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตยอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะในฐานะที่เมียนมาเป็นสมาชิกอาเซียนที่เป็นองค์กรส่วนหนึ่งของโลกในระดับภูมิภาคที่ต้องปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนนัดพิเศษในปี 2564 ที่อินโดนีเซีย ได้แก่
1.ทุกฝ่ายจะต้องหยุดความรุนแรง
2.ทุกฝ่ายเจรจาอย่างสันติ
3.ให้มีทูตพิเศษเพื่อให้เกิดกระบวนการเจรจา
4.อาเซียนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
5.ทูตพิเศษเข้าไปเมียนมาเพื่อพูดคุยกับทุกฝ่าย พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการแสวงหาทางออกสู่สันติภาพร่วมกัน
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่มักจะอ้างตัวว่าเป็นนายกฯที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ในฐานะที่เป็นชาติสมาชิกอาเซียนและได้เข้าร่วมในการประชุมอาเซียนในครั้งที่ผ่านมา ควรจะแสดงท่าทีต่อต้านหรือประณามการกระทำที่รุนแรงดังกล่าว ควรแสวงหาแนวร่วมเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมืองและความรุนแรงในเมียนมา เพราะเสถียรภาพทางการเมืองของเมียนมาย่อมหมายถึงความมั่นคงของประเทศสมาชิกอาเซียนด้วย รัฐบาลไทยไม่ควรอิหลักอิเหลื่อ จนอาจถูกมองว่าผู้นำไทยมีความคิดใกล้เคียงกับรัฐบาลทหารเมียนมาคือไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน หรือศีลเสมอกันหรือไม่
“ไม่ว่าผู้นำไทยจะรู้สึกผูกพันกับผู้นำในกองทัพเมียนมาอย่างไรก็ตาม แต่ควรตระหนักว่า ประชาคมโลกกำลังหมุนเดินไปข้างหน้า ประชาคมโลกได้ตกลงร่วมกันคือให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนมากพอๆกับความมั่นคงทางการเมืองและการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมือง และฟื้นฟูประชาธิปไตย ที่รัฐบาลไทยควรยึดตามหลักการอย่างหนักแน่น เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าล้าหลังและไร้พัฒนาด้านประชาธิปไตย ซึ่งอาจจะหวังได้ยากในรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจ ที่นึกถึงแต่ความมั่นคงและความอยู่รอดของตัวเอง” ชญาภา กล่าว