ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ 'กังวลใจ' มีการใช้ระบบยุติธรรมอย่างไม่ถูกต้องจากบริษัทเอกชนไทย เพื่อปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อ้างอิงกรณี 'ฟาร์มไก่' บ.ธรรมเกษตร

คณะผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ (UN) ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และบรรษัทข้ามชาติและธุรกิจ ประณามการใช้กระบวนการยุติธรรมในทางที่ผิดของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกในประเทศไทย เพื่อคุกคามและปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้เปิดโปงการละเมิดสิทธิแรงงานและการเอาเปรียบของบริษัท

“เรากังวลใจเป็นอย่างมากที่ได้รับทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่องว่า แรงงานข้ามชาติ นักปกป้องสิทธิมนุยชน นักวิชาการ และนักข่าว ต่างถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทจากมูลเหตุอันไม่สมเหตุสมผลโดยบริษัทธรรมเกษตร จำกัด เมื่อพวกเขาได้แสดงความกังวลอย่างถูกต้องชอบธรรมเกี่ยวกับสภาพการทำงานของแรงงานในบริษัทนี้” คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าว

เฉพาะเมื่อปีที่แล้ว บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ได้ฟ้องคดีหมิ่นประมาททั้งทางแพ่งและอาญากับบุคคลอื่น 10 คน ซึ่งล้วนเป็นผู้เปิดเผยการละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานข้ามชาติในบริษัทนี้ โดยในจำนวนนี้ 6 คนเป็นผู้หญิง หากศาลตัดสินว่ามีความผิด ผู้ถูกกล่าวหาจะได้รับโทษปรับสถานหนัก และอาจถูกจำคุก

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่คณะผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนได้เรียกร้องให้บริษัทธรรมเกษตร จำกัดหยุดการกระทำเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น คณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนได้เคยร้องขอให้รัฐบาลไทยกระทำการเพื่อหยุดยั้งการใช้ระบบยุติธรรมในทางที่ผิดดังกล่าวและเพิ่มความเข้มข้นในการคุ้มครองผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ดังรายงานที่เสนอคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หลังจากมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในเดือน มี.ค. 2561 คณะทำงานฯ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องปกป้องบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ในสถานะที่มีความเปราะบางมากที่สุดในสังคมไทย เช่น แรงงานข้ามชาติ

การกระทำดังกล่าวซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเป็นการฟ้องคดีเชิงยุทธศาสตร์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการมีส่วนร่วมของสังคม หรือ “การฟ้องคดีปิดปาก” (Strategic Litigation Against Public Participation – SLAPP) นั้น เป็นวิธีที่กลุ่มธุรกิจใช้เพื่อปิดปากองกรค์ภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

คณะผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติแสดงความกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า คดีเหล่านี้อาจก่อให้เกิดบรรยากาศความหวาดกลัวในการแสดงความคิดเห็น (chilling effect) ต่อการทำงานอย่างถูกต้องชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าว และภาคประชาสังคม และสนับสนุนให้บริษัทอื่นฟ้องคดีทางแพ่งและอาญาในลักษณะเดียวกันต่อผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะผู้หญิง

ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะกระทำการเพื่อยุติการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหน้าที่และความรับผิดชอบอันพึงมีตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (the UN Guiding Principles on Business and Human Rights)

“แม้ว่าการเห็นชอบแผนปฏิบัติการแห่งชาติและการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะเป็นพัฒนาการที่ดีในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยจะทำให้ประจักษ์ว่า มาตรการดังกล่าวมีประสิทธิภาพ และบริษัทเอกชน เช่น ธรรมเกษตร จะยุติกระบวนการกลั่นแกล้งโดยอาศัยกฎหมายต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” คณะผู้เชี่ยวชาญ กล่าว

ทั้งนี้ คณะทำงานและผู้รายงานพิเศษฯ เป็นส่วนหนึ่งของกลไกพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (the Special Procedures of the Human Rights Council) กลไกพิเศษ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญอิสระจำนวนมากที่สุดในระบบสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาตินี้ เป็นชื่อเรียกของกลไกอิสระสำหรับสืบค้นความจริงและติดตามสถานการณ์ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศหรือประเด็นที่ได้รับมอบหมายทั่วโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: