ไม่พบผลการค้นหา
ฟอร์ตี้ฟายไรต์ องค์กรระหว่างประเทศเรียกร้องรัฐบาลไทยเร่งตรวจสอบ และให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ตามหลัก

"รัฐบาลไทยควรดำเนินการตรวจสอบเหตุการณ์ที่ทหารไทยทำลายสะพานข้ามพรมแดนชั่วคราว ซึ่งผู้ลี้ภัยใช้หลบหนีเหตุโจมตีอันร้ายแรงในพื้นที่ภาคตะวันออกของเมียนมา" 

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ระบุพร้อมเผยแพร่วิดีโอซึ่งบันทึกจากชายแดนฝั่งเมียนมาที่ได้รับมา เผยภาพเหตุการณ์ขณะที่ทหารไทยในเครื่องแบบกำลังทำลายสะพานข้ามแม่น้ำวาเล่ย์ แม่น้ำสาขาของลำน้ำเมย อันเป็นพื้นที่พรมแดนระหว่างประเทศไทยกับเมียนมา หลักฐานใหม่ยังชี้ให้เห็นว่า ทางการไทยทำการจับกุมผู้ลี้ภัยโดยพลการ รวมถึงมีการให้ข้อมูลจากผู้ลี้ภัยว่าว่าเจ้าหน้าทีไทยใช้อำนาจรีดไถเงินจากพวกเขาในพื้นที่อำเภอแม่สอด 

“รัฐบาลไทยควรรับประกันว่าจะมีการสืบสวนเหตุที่เกิดขึ้นในบริเวณพรมแดน เพื่อเป็นการให้การคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัย ไม่ใช่ละเมิดสิทธิของพวกเขามากขึ้นไปอีก” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว 

คลิปวิดีโอที่บันทึกจากฝั่งประเทศเมียนมา ณ พรมแดนประเทศไทย-เมียนมา ซึ่งฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้รับมานั้นเปิดเผยภาพทหารไทยในเครื่องแบบสองนายกำลังทำลายสะพานไม้ไผ่ขนาดเล็กข้ามแม่น้ำวาเล่ย์ โดยมีทหารไทยอีกนายหนึ่งมองดูอยู่ สะพานคนเดินข้ามแห่งนี้เชื่อมพื้นที่จังหวัดตากของไทย กับรัฐกะเหรี่ยงในเมียนมาที่บอบช้ำจากสงคราม รวมถึงเป็นพื้นที่ซึ่งกองทัพเมียนมาบุกโจมตีและสังหารพลเรือน ตลอดจนผู้เยาว์ ในช่วงหลายสัปดาห์และหลายเดือนที่ผ่านมา

ฟอร์ติฟายไรต์ระบุว่า วิดีโอความยาวกว่า 16 นาทีนี้มีเสียงประชาชนพูดภาษากะเหรี่ยงและเด็กทารกกำลังร้องไห้ แม้จะไม่เห็นภาพพวกเขา มีทหารไทยนายหนึ่งขู่สังหารบุคคลที่ไม่ปรากฏภาพในวิดีโอและอยู่ฝั่งชายแดนเมียนมา โดยกล่าวว่า “ถ่ายอะไรวะ ไอ้เหี้ยนี่ มึงอยากตายเหรอ?” ในตอนท้ายของวิดีโอ ทหารเหล่านั้นได้รื้อสะพานออกทั้งหมด

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ยืนยันว่าภาพวิดีโอดังกล่าวเป็นการบันทึกไว้จริงในเดือนมีนาคม 2565 โดยได้จัดเก็บข้อมูลวันที่เวลาเกิดเหตุโดยเฉพาะเจาะจงไว้ด้วย ขณะเดียวกันคลิปวิดีโอที่ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้รับมาอีกไฟล์หนึ่ง ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ก่อนที่ทหารไทยจะทำลายสะพาน เป็นภาพกลุ่มคนอย่างน้อย 45 คนกำลังต่อคิวและเดินทางข้ามสะพานแห่งนี้ มีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก พวกเขาแบกกระสอบซึ่งคาดว่าเป็นสัมภาระส่วนตัว ตลอดจนเสบียงอาหารเพื่อหลบหนีความรุนแรงในเมียนมา 

แหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับสะพานและพื้นที่ดังกล่าวบอกกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาโดยเฉพาะเด็กและผู้สูงวัย ใช้สะพานนี้เพื่อเดินทางหลบหนีจากความรุนแรง ผู้ทำงานด้านการบรรเทาทุกข์อย่างไม่เป็นทางการก็ยังใช้สะพานแห่งนี้เป็นเส้นทางเพื่อขนส่งความช่วยเหลือที่จำเป็นต่อชีวิตจากประเทศไทยไปให้กับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศในเมียนมา

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้สัมภาษณ์ทหารไทยนายหนึ่งบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเมยซึ่งยืนยันว่า เขาเป็นเจ้าหน้าที่ของกองกำลังนเรศวร กองทัพบกไทย เป็นหน่วยรบพิเศษที่ทำหน้าที่ 'ปกป้องคุ้มครอง' พื้นที่บริเวณพรมแดนไทย โดยได้รับคำสั่งขัดขวางไม่ให้ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาเดินทางข้ามแม่น้ำเข้าสู่ดินแดนไทยได้ 

ในเดือนมีนาคม 2564 ระหว่างที่รัฐบาลทหารเมียนมาบุกโจมตีพลเรือนในช่วงหลังการทำรัฐประหาร นายกรัฐมนตรีไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ขัดขวางไม่ให้มีคนจากเมียนมา 'เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย' ซึ่งหมายถึงการปิดกั้นการอพยพของผู้ลี้ภัย ในขณะเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องเป็นไปตามคำสั่งดังกล่าว ทางการไทยยังได้บังคับส่งผู้ลี้ภัยหลายพันคนกลับไปเมียนมา

นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยจากเมียนมา 15 คน บริเวณพรมแดนไทย-เมียนมา ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 7 คน เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ 2 คน และผู้ทำงานบรรเทาทุกข์ 4 คนในประเทศไทย ทั้งหมดเผยให้เห็นว่าทางการไทยได้จับกุม ควบคุมตัวผู้ลี้ภัยโดยพลการ รวมถึงยังมีรายงานว่าพวกเขาใช้อำนาจรีดไถเงินจากผู้ลี้ภัยจากเมียนมาในช่วงปีที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา สำนักข่าว AP รายงานว่ามีการออก 'บัตรตำรวจ' ให้กับผู้ลี้ภัยผ่านนายหน้าคนกลาง โดยพวกเขาต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 350 บาท ผู้ลี้ภัยหลายคนในแม่สอดจ่ายเงินเพื่อซื้อเอกสารไม่เป็นทางการดังกล่าว เพราะเชื่อว่าตนจะไม่โดนจับกุมหากมีบัตรตำรวจไว้กับตัว

อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยปฏิเสธกับ AP อย่างสิ้นเชิงว่าไม่มีการใช้อำนาจรีดไถเงินผู้ลี้ภัย แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกมาแถลงในเวลาต่อมาว่าจะดำเนินการสืบสวนเหตุดังกล่าว รวมถึงจะหาตัวเจ้าหน้าตำรวจผู้มีส่วนรับผิดชอบพัวพันกับระบบบัตรตำรวจ โดยตำรวจที่เข้าไปพัวพันกับระบบออกบัตรดังกล่าว จะถือว่ามีความผิดทางอาญา รวมถึงต้องได้รับบทลงโทษทางวินัย

ผู้ลี้ภัยหลายคนในอำเภอแม่สอดอธิบายกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ถึงระบบซึ่งคนในพื้นที่เรียกว่า 'บัตรตำรวจ'ว่า บัตรนี้ไม่ได้เป็นหลักประกันหรือให้ความปลอดภัยอะไร แต่ต้องซื้อเพราะคนอื่นๆ ก็ใช้บัตรตำรวจแบบเดียวกัน ได้ยินว่ามาถ้าแสดงบัตรนี้จะไม่โดนจับ

ผู้ลี้ภัยอีกคนจากเมียนมาเล่าว่า “แม้เราจะมีบัตรตำรวจ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะถูกจับหรือไม่ เราไม่เคยแสดงบัตรนี้กับใคร แค่จ่ายเงินค่าบัตรไป เราไม่มั่นใจเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของตัวเองด้วย บัตรตำรวจเป็นเอกสารเดียวที่เรามีอยู่” 

เอกสารดังกล่าวมีลักษณะเป็นกระดาษขนาดไม่มาตรฐานแผ่นหนึ่ง เป็นบัตรที่มีขนาดต่างๆ กันไป ซึ่งเขียนด้วยลายมือเป็นตัวเลข ตัวอักษร หรือสัญลักษณ์อยู่ด้านหนึ่ง มีรายงานเพิ่มเติมอีกว่าผู้ลี้ภัยสามารถต่ออายุบัตรตำรวจได้ทุกเดือนด้วยการจ่ายเงินเพิ่ม

“รัฐบาลไทยควรกำหนดมาตรฐานอย่างเป็นทางการทั่วประเทศ เพื่อออกบัตรประจำตัวให้กับผู้ลี้ภัย เพื่อให้ความคุ้มครองอย่างแท้จริง” เอมี สมิธ กล่าว 

“ในเมื่อตอนนี้ไม่มีมาตรฐานใดรับรองผู้ลี้ภัย พวกเขาจึงต้องจ่ายเงินซื้อบัตรตำรวจเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง รัฐบาลไทยควรต้องดำเนินการตามกระบวนการที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อจำแนกและรับรองสถานะของผู้ลี้ภัยในพรมแดนของตน กระบวนการเช่นนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการรีดไถเงินและการปฏิบัติมิชอบอย่างอื่น รวมถึงเอื้อให้สามารถเก็บข้อมูลสำคัญ ๆ สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาใหม่ในประเทศไทย” เอมี สมิธกล่าว

ทั้งนี้ ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาหลายคนยังอธิบายว่า พวกเขาเผชิญกับการจับกุมและควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐไทย เนื่องจากตนไม่มีสถานะทางกฎหมายในประเทศไทย ยกอย่างเช่น กรณีที่ทางการไทยจับกุมตัวผู้ลี้ภัยชาวเมียนมานาม 'จออ่อง' (นามสมมติ) และเพื่อนโดยพลการ หลังจออ่องเดินทางมาถึงไทยได้ 10 วัน เมื่อเดือนธันวาคม 2564 เพื่อหลบหนีการประหัตประหารจากคณะรัฐประหาร จออ่องเคยเป็นนักศึกษาที่ย่างกุ้งซึ่งเข้าร่วมการรณรงค์ระดับชาติของขบวนการอารยะขัดขืนมวลชน (CDM) การเคลื่อนไหวระดับประเทศเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาภายหลังเกิดเหตุรัฐประหาร

“ทหารมาพร้อมกับปืน พวกเขาถามว่าเราข้ามพรมแดนมาได้อย่างไร ตอนนั้นเรากลัวมาก” จออ่องระบุ

จากนั้นกองทัพไทยได้ส่งตัวจออ่องและเพื่อนไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทยควบคุมตัวไว้ 

“[เจ้าหน้าที่ตม.] จับเราพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำเหมือนเราเป็นอาชญากร ที่สำนักงานตม. พวกเขาขู่ว่าจะส่งตัวเรากลับไปพม่า [เมียนมา] จากนั้นก็พาเราไปส่งที่ชายแดน” จออ่องระบุและว่า ทนายความชาวไทยซึ่งทำงานในหน่วยงานแห่งหนึ่งเพื่อสนับสนุนผู้ลี้ภัย ได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือเพื่อให้ทางการปล่อยตัวจออ่องและเพื่อน 

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ยังบันทึกข้อมูลกรณีตำรวจไทยจับกุม 'ทูเล' (นามสมมติ) กับเพื่อน ในเดือนมกราคม 2565 บริเวณด่านตรวจในอำเภอแม่สอด  

"ตำรวจถามว่า “คุณมาจากที่ไหน? มาทำอะไรที่นี่?” ....พวกเขายังขอข้อมูลทุกอย่าง มีการถ่ายรูปเราด้วย ตำรวจขอตรวจโทรศัพท์ ประวัติการเดินทาง กับพวกข้อมูลอื่นๆ ยิ่งถ้าพวกคุณเป็นนักกิจกรรม พวกเขาก็จะยิ่งรีดเงินเรามากกว่านั้นอีก ของแบบนี้เกิดขึ้นเป็นปกติ ผมรู้สึกหวาดกลัวว่าจะถูกส่งกลับไปเมียนมา" ทูเลกล่าว

ทูเลและเพื่อนถูกกักตัวเป็นเวลาหลายชั่วโมง จนกระทั่งมีคนที่อาศัยอยู่ในอำเภอแม่สอด กับเพื่อนของเขามาช่วยเจรจากับตำรวจ โดยยอมจ่ายเงิน 8,000 บาท เพื่อแลกกับอิสรภาพของเขา

ผู้ลี้ภัยอีกคนหนึ่งซึ่งทำงานเป็นผู้สื่อข่าวในเมียนมา และหลบหนีมาประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ให้ข้อมูลว่า เขาจ่ายเงินให้ตำรวจไทย 6,000 บาทเมื่อเดือนธันวาคม 2564 เพื่อให้ปล่อยตัวเพื่อนนักข่าวสองคนจากเมียนมา ซึ่งถูกจับในอำเภอแม่สอดระหว่างหลบหนีเข้าสู่ประเทศไทย 

“โชคดีมากที่เราจ่ายแค่คนละสามพันบาท ปกติแล้วพวกเขาจะเรียกเงินมากถึง 10,000 หรือ 20,000 บาทต่อคน” 

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังขาดกรอบกฎหมายเพื่อรับรองสถานะ หรือให้ความคุ้มครองกับผู้ลี้ภัย ในเดือนธันวาคม 2562 รัฐบาลไทยประกาศใช้ระเบียบเพื่อจัดทำกลไกคัดกรองระดับชาติเพื่อ “จำแนกตัวบุคคลที่ต้องการความคุ้มครอง มอบสถานะด้านกฎหมายและการเข้าถึงบริการสาธารณะที่จำเป็นให้กับพวกเขา” แต่การดำเนินงานตามกลไกนี้เป็นไปอย่างเชื่องช้า และไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหรือไม่

เนื่องจากไม่มีสถานะด้านกฎหมายในประเทศไทย ผู้ลี้ภัยจึงอาจถูกลงโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งห้ามการเข้าเมืองหรือพักอาศัยในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยเสี่ยงที่จะถูกจับกุมโดยพลการ ถูกควบคุมตัว หรือถูกบังคับส่งกลับ

กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วย หลักการไม่ส่งกลับ (non-refoulement) ห้ามไม่ให้ 'ปฏิเสธการเข้าเมืองที่พรมแดน จับกุม หรือการส่งกลับในทางอ้อม' กรณีที่เป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการประหัตประหาร หลักการให้การคุ้มครองผู้ลี้ภัยและบุคคลอื่นไม่ให้ถูกบังคับส่งกลับในที่นี้ หมายรวมถึงการดำเนินงานใด ๆ เพื่อปฏิเสธการเข้าเมืองบริเวณพรมแดน แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสาร พ.ศ. 2510 แต่หลักการไม่ส่งกลับ เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ จึงมีผลบังคับใช้ต่อรัฐทุกแห่ง รวมทั้งประเทศไทย ตามหลักการนี้ ทุกประเทศต้องคุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกส่งกลับไปยังดินแดนที่จะทำให้ได้รับอันตรายหรือถูกประหัตประหาร

"ประเทศไทยควรเริ่มกระบวนการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสารโดยทันที และในระหว่างนั้น ควรมีการลงทะเบียนผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ ตลอดจนมอบสถานะเพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัยจากเมียนมาเป็นการชั่วคราวด้วย"ฟอร์ตี้ฟายไรต์ระบุ

นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพเมียนมาบีบให้พลเรือนหลายหมื่นคนต้องหลบหนีออกจากประเทศ รายงานความยาว 193 หน้า โดยฟอร์ตี้ฟายไรต์ และ Schell Center for International Human Rights คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล ที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ได้ระบุข้อมูลกรณีรัฐบาลทหารเมียนมาสังหาร ทรมาน คุมขัง บังคับให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐาน และประหัตประหารพลเรือน ซึ่งเป็นการกระทำที่รุนแรงถึงขั้นเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ตามข้อมูลของสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ จวบจนถึงวันที่ 19 มีนาคม 2565 มีผู้พลัดถิ่นในประเทศกว่า 889,900 คนในเมียนมา ในจำนวนนี้ พลเมือง 519,500 คนต้องกลายมาเป็นผู้พลัดถิ่นจากความพยายามก่อรัฐประหารของกองทัพ