อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั่วทั้งประเทศ โดยเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง
ตามแนวทางปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ภายใต้ 3 มาตรการสำคัญ คือการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ เพื่อให้การแก้ไขปัญฝุ่นละอองตามบทบาทของแต่ละหน่วยงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลเป็นรูปธรรมตามแผนที่วางไว้ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบและความเดือดร้อนให้กับประชาชน
อนุชา กล่าวถึงข้อมูลล่าสุดของศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 10-16 มี.ค. 66 ระบุว่า วันที่ 10 มี.ค. 66 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอาจมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงได้ในบางพื้นที่ โดยหลังวันที่ 11 มี.ค. 66 เป็นต้นไป สถานการณ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดี
เนื่องจากลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ อย่างไรก็ตามช่วงระหว่างวันที่ 14-16 มี.ค. 66 ยังเป็นช่วงที่ควรเฝ้าระวังของพื้นที่ เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองข้ามพื้นที่ได้ ขณะที่พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงในพื้นที่ภาคเหนือทั้งตอนบนและล่างระหว่างวันที่ 10-14 มี.ค. 66 ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน สถานการณ์ฝุ่นจะค่อย ๆ ลดลง คาดว่าจะยังมีปัญหาอยู่อีก 1-2 สัปดาห์
อนุชา กล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรี ย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพิ่มความเข้มข้นในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ในทุก ๆ มาตรการ เน้นแจ้งเตือนแนะนำข้อปฏิบัติตนแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และสวมใส่หน้ากากอนามัย กำหนดสถานที่พักชั่วคราว หรือ Safety Zone ระบบแจ้งเตือนสถานการณ์และบริการสาธารณสุข เข้มงวดตรวจจับรถควันดำ เร่งระบายการจราจรไม่ให้ติดขัด
ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ตรวจสภาพ/บำรุงรักษายานพาหนะขนส่งสาธารณะ ทำความสะอาดพื้นผิวถนน รวมทั้งควบคุมการเผาในที่โล่ง/พื้นที่เกษตรอย่างเคร่งครัด ตรวจสอบและควบคุมการปล่อยมลพิษจากโรงงาน ป้องกันและลดปริมาณฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง ย้ำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบคุณภาพอากาศ ขยายเครือข่ายแจ้งเตือน สร้างการรับรู้ถึงข้อมูลและสถานการณ์ที่ถูกต้องแก่ประชาชน จัดระเบียบการเผาตามลักษณะพื้นที่ แบ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมให้สอดคล้องตามหลักวิชาการ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมความตระหนัก และปรับพฤติกรรมประชาชนในการลดการเผาในที่โล่ง พื้นที่การเกษตร และการเผาขยะในชุมชนหรือเมือง อย่างไรก็ตาม แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองมาจากพวกเราทุกคน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาต้องมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งขับเคลื่อนนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 อีกทางหนึ่งอย่างยั่งยืน ได้แก่ การขับเคลื่อนนโยบายพลังงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 อาทิ BCG economic โมเดล ที่ประยุกต์ใช้ในภาคพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน เช่น Biomass / Biogas ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ที่ช่วยลดการเผาไหม้แบบ open burn ลด PM2.5 โดยตรง
รวมถึงการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ด้านพลังงานหมุนเวียนชนิดต่างๆ อาทิ แสงแดด ลม และ Hydrofloating solar จะส่งผลต่อการลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ส่งผลต่อการลดลงของ PM2.5 รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนการใช้รถไฟฟ้า ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศให้มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นให้เป็นไปตามแผน 30@30 ตามนโยบายรัฐบาล อาทิ ปัจจุบันมีการเปลี่ยน EV ในองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
และการลงทุน EV ที่เติบโตมากเพิ่มขึ้นในประเทศไทย เป็นต้น ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงาน ยังได้เร่งขับเคลื่อนแผนพลังงานชาติ ที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด ประกอบด้วย 1. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2. แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3. แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4. แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) โดยคาดว่าจะประกาศใช้ภายในปี 2566 นี้
“ประชาชนที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคทางปอด หัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน รวมถึงเด็กเล็ก และหญิงตั้งครรภ์ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และ airbkk.com แอปพลิเคชัน Air4Thai และ AirBKK เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ได้ตลอดเวลาเพื่อสามารถปฏิบัติตัวในการป้องกันตนเองได้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้อย่างปลอดภัย” อนุชา กล่าว