วันแรกที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เริ่มทดลองให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวทมาเรียน สัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือทุกวันอังคาร โดยตั้งเป้าเพื่อศึกษาว่าเครื่องแต่งกายจะมีผลต่อการพัฒนาและการเรียนของนักเรียนหรือไม่
รอยยิ้มกว้างจากเด็กๆ สะท้อนถึงความสุขที่พวกเขาได้รับ หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่านี่เป็นวิธีที่สำคัญส่งผลให้พวกเขามีอิสระ ยกระดับความคิดสร้างสรรค์และถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออก อย่างไรก็ตามยังมีหลายคนเห็นว่าการแต่งชุดไปรเวท เป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำ และลดทอนความเป็นสถาบันตลอดจนความสมัครสมานสามัคคี
ศุภกิจ จิตคล่องทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญนอกเหนือจากการวิจัยว่าชุดไปรเวทมีผลต่อการเรียนหรือไม่นั้นคืออยากสร้างโรงเรียนแห่งความสุข เชื่อว่าเพียงหนึ่งวันของนักเรียน ถ้าเด็กได้ใส่ชุดที่อยากใส่ จะทำให้เกิดความสุขและความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังเป็นการจำลองสภาพสังคมที่แท้จริงมาไว้ในโรงเรียน นักเรียนจะมีโอกาสได้นำเสนอความเป็นตัวตน โดยมีอาจารย์คอยให้คำแนะนำซึ่งส่งผลให้เด็กปรับตัวเข้ากับความเหมาะสมของสภาพสังคมได้เร็วยิ่งขึ้น
ผู้อำนวยการโรงเรียน ย้ำว่า ถ้างานวิจัยดังกล่าวบรรลุเป้าหมาย จะยังคงให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาเรียน แต่ไม่ใช่ทุกวันตลอดสัปดาห์ และยืนยันว่าไม่มีแนวคิดยกเลิกการใส่ยูนิฟอร์มของโรงเรียน
ขณะตัวแทนนักเรียน เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว โดยมองว่าไม่มีผลกระทบต่อการเรียน ยิ่งไปกว่านั้นจะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น และผู้ปกครองก็เห็นด้วยแต่ขอให้อยู่บนความเหมาะสม
สำหรับแนวคิดนี้มีการพูดคุยระหว่างครู นักเรียนและผู้ปกครองมานานกว่า 10 ปี และที่ผ่านมา โรงเรียนให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาในช่วงที่โรงเรียนมีกิจกรรม ซึ่งครั้งนี้ เป็นการทดลอง 1 ภาคเรียนโดยไม่บังคับ และหากพบว่าการแต่งชุดไปรเวท มีผลกระทบต่อการเรียนและพัฒนาการของเด็ก จะยกเลิกแนวคิดนี้ทันที
หลายคนพยายามเชื่อมโยงเรื่องวินัย ความเสมอภาค ความประหยัด และเรื่องการบังคับการแต่งกายชุดนักเรียน โดยให้เหตุผลว่า ทุกคนจะมีสถานะทางสังคมเท่าเทียมกันหมดในชุดเครื่องแบบเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ธัญชนก คชพัชรินทร์ เด็กมัธยมศึกษาวัย 18 ปี ในฐานะเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เห็นว่าความแตกต่างและการยอมรับความแตกต่างในสังคมถือเป็นเรื่องสำคัญกว่า โดยเชื่อในเรื่องสิทธิพื้นฐานเหนือร่างกายของตนเอง
“เราควรเคารพความแตกต่างของกันและกัน ทุกคนมีสไตล์ มีอัตลักษณ์ ที่อ้างว่ายูนิฟอร์มจะทำให้ทุกคนมีความสามัคคี เพิ่มความเท่าเทียม เสมอภาค เราว่ามันมีปัจจัยอื่นๆ ที่นำไปสู่ตรงนั้นได้บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งความแตกต่างมากกว่าการมาบังคับให้แต่งตัวเหมือนกันหมดทุกคน”
(ธัญชนก คชพัชรินทร์)
เธอเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำนั้นไม่สามารถปกปิดได้หมดจดเพียงเพราะการแต่งกาย และหากมองให้เฉพาะเจาะลงไปถึงชุดนักเรียนโดยเปรียบเทียบกันในแต่ละโรงเรียนก็จะพบความเหลื่อมล้ำทั้งเชิงภาพลักษณ์และเศรษฐกิจได้เช่นกัน
“ชุดนักเรียนก็ต้องเสียเงินซื้อ และเครื่องแบบแต่ละโรงเรียนก็สร้างความเหลื่อมล้ำได้ เราไม่สามาปกปิดความเหลื่อมล้ำได้หรอก มันมีอยู่ตลอด แต่ทำยังไงให้คนเคารพกันมากกว่า มีโอกาสได้แสดงความเป็นตัวตนออกมา แล้วเรายังยอมรับความแตกต่างของคนอื่นได้ ”
ธัญชนกเห็นว่าการยอมรับความหลากหลายนั้นเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ เคารพและตระหนักในคุณค่าของความมนุษย์ระหว่างกัน ตลอดจนนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์
“การให้สิทธิตรงนี้มันทำให้คนเคารพความแตกต่างหลากหลายของคนมากยิ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่เด็กๆ บ่มเพาะจากในโรงเรียน แน่นอนว่าอาจจะมีเรื่องการดูถูกดูแคลนกันบ้างในเรื่องการแต่งตัวหรือราคาเสื้อผ้า แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเรียนรู้กันไป และวันหนึ่งเขาจะเข้าใจว่าสิ่งที่เขาทำไม่ใช่เรื่องสมควร” เธอบอกและว่า
“การแต่งตัวเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ การไปห้าม ออกคำสั่งให้ทุกคนใส่ชุดเหมือนกันๆ เพื่อสร้างความสามัคคี ระเบียบวินัยหรืออะไรก็แล้วแต่ มันเท่ากับคุณไปปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของเขา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก”
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า นโยบายของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เป็นก้าวย่างสำคัญ เป็นวิธีคิดของผู้บริหารและเด็กรุ่นใหม่ ที่พ้นจากกรอบการสร้างวินัยจากคำสั่งหรือนโยบายที่มีลักษณะพัวพันกับอำนาจ
“กระบวนการสร้างวินัยแบบที่ผ่านๆ มา เช่น บังคับให้ต้องตัดผม ต้องแต่งตัวแบบนั้นแบบนี้ หรือ คำขวัญวันเด็กที่ปรากฎคำว่าวินัยเกือบ 20 ครั้ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศกลับสวนทางกัน คือเราอาจจะหย่อนเรื่องวินัยมากที่สุดก็เป็นได้ คำถามคือ เรามีวินัยกันจริงๆ หรือเปล่า จากกระบวนการที่เราส่งต่อกันมา ล้มเหลวนะ สำหรับผม”
เขาบอกว่า การกล้าคิดนอกกรอบและพยายามส่งเสริมให้เด็กมีภาวะความเป็นอิสระ ความเป็นตัวของตัวเองมากกว่าการบังคับด้วยเสื้อผ้าหรือตัดสินกันด้วยสิ่งของภายนอกถือเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำ รวมทั้งถึงเวลาเลิกใช้มาตรฐานหรือชุดความคิดเดียวกับเด็กทั่วประเทศได้แล้ว
“ต้องเคารพตัวตนของเด็กรุ่นนี้ วิธีการคิดการแสดงออก เราไม่สามารถไปกำหนดได้หรอกว่า ใส่เสื้อผ้าแบบนี้แล้ว เด็กต้องเป็นแบบนี้ ไปตัดสินแค่เปลือกไม่ได้ ต้องเคารพศักดิ์ศรี เคารพในตัวตน ผมคิดว่าเป็นแนวโน้มที่สังคมและผู้มีอำนาจทั้งหลายต้องเข้าถึง เข้าใจและกล้าเปิดโลกทัศน์ของตนเอง”
นักวิชาการรายนี้เห็นว่า ผลการศึกษาและการประเมินของกรุงเทพคริสเตียนจะนำไปสู่บรรทัดฐานสำคัญในวงการศึกษาไทย พูดง่ายๆ ว่าเป็นเครื่องยืนยันว่าชุดไปรเวทไม่มีผลต่อการเรียน อย่างไรก็ตามโรงเรียนอื่นๆ ที่คิดจะเดินตามรอย ควรพิจารณาความพร้อมของตัวเองอย่างรอบคอบ
“เปลี่ยนการสร้างวินัยจากคำสั่งภายนอก เป็นการสร้างวินัยจากภายใน เริ่มจากการอบรมสั่งสอนโดยครอบครัว การลงมือปฏิบัติ ผมคิดว่ามันเป็นการสร้างวินัยได้อย่างยั่งยืนกว่าการออกคำสั่งหรือบังคับ” อ.สมพงษ์ทิ้งท้าย
ทั้งนี้สำหรับโรงเรียนสังกัดรัฐบาล การแต่งชุดไปรเวทดูจะยังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ระบุชัดเจนว่าโรงเรียนสังกัดรัฐบาลกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบที่โรงเรียนกำหนดเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย ตามมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการ หากจะใช้เครื่องแบบเป็นอย่างอื่น เช่น ชุดลำลอง ชุดไทย ฯ ต้องได้รับอนุญาตจากศึกษาธิการจังหวัดก่อนจึงจะสามารถทำได้