นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน ส.ส. เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (1 ล้านล้านบาท), พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (5 แสนล้านบาท), และพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ (4 แสนล้านบาท) กล่าวว่า ตนขอชื่นชมและแสดงความยินดีต่อความสำเร็จต่อการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ด้วยความร่วมมือและการเสียสละของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนที่ช่วยกันปฏิบัติตามการแนะนำด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และขอชื่นชมบุคลากรสาธารณสุข และระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งของไทย แต่ในความสำเร็จนั้น ก็แฝงด้วยความผิดพลาดของการบริหารจัดการภายใต้ภาวะวิกฤต
ในหลายๆ ครั้งของรัฐบาล ได้แก่ ความไม่มีประสิทธิภาพในการจัดหาหน้ากากอนามัยและการขาดแคลนชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์, ความสับสนในมาตรการกักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ, การสั่งปิดกิจการในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อนประกาศมาตรการเยียวยาให้ชัดเจน, ความล่าช้าและการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึงและรวดเร็ว, ความล่าช้าในการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และความล่าช้าในการคลายล็อกให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตนเห็นว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จที่แท้จริงไม่ใช่ประเทศ ที่หยุดการระบาดได้บนซากปรักหักพังของเศรษฐกิจประเทศ และไม่ใช่ประเทศที่ปล่อยการระบาดรุนแรงจนยืดเยื้อกระทบต่อชีวิตประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ แต่เป็นประเทศที่สามารถสร้างความสมดุลให้การระบาดอยู่ในภาวะควบคุมได้และประคองเศรษฐกิจให้ยืนอยู่ได้ในวันที่โลกมีวัคซีน
เตือนรัฐบาลอย่าฉวยโอกาส เกลี่ยงบสร้างฐานเสียง
นายสมพงษ์ กล่าวว่า การบริหารงานที่ผิดพลาดดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศไทยจัดอยู่ในประเทศที่ ได้รับความชื่นชมการควบคุมด้านระบาดวิทยา แต่สร้างความล้มเหลวในการเยียวยาและกอบกู้วิกฤตทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าประชาชนเดือดร้อนในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการต้องปิดการดำเนินธุรกิจจากการประกาศ ล็อกดาวน์ ของรัฐบาล ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 กับตัวเลขของผู้ที่ฆ่าตัวตายเนื่องจากภาวะกดดันทางเศรษกิจ เกือบจะไม่แตกต่างกัน ปัจจุบันประเทศอยู่ในภาวะที่จำเป็นที่ต้องใช้เงินและงบประมาณจำนวนมาก เข้ากอบกู้เศรษฐกิจไม่ให้ทรุดหนักจนเกินเยียวยา จึงนำไปสู่การกู้เงินจำนวนมหาศาล ตาม พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ
ซึ่งรัฐบาลต้องระลึกไว้เสมอว่าเงินกู้จำนวนมหาศาลนี้ ประชาชนทั้งประเทศต้องร่วมกันชดใช้ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องถูกนำไปใช้ด้วยความรับผิดชอบ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยแท้จริง ไม่ใช่การแบ่งเค้กชิงผลประโยชน์ การใช้เพื่อสร้างฐานคะแนนเสียง การเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องผ่านโครงการต่างๆ พ.ร.ก. ทั้ง 3 ฉบับ ให้อำนาจฝ่ายบริหารไว้สูงมาก แต่การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินมีเพียงการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เพียงไม่กี่คน ตรวจสอบเงินจำนวนมหาศาล โดยไม่ต้องรายงานการใช้จ่ายต่อฝ่ายนิติบัญญัติ จึงมีความจำเป็นที่ ส.ส. จะต้องร่วมกันตรวจสอบให้การใช้เงินก้อนนี้เป็นไปอย่างสุจริตและมีประสิทธิภาพสูงสุด ป้องกันไม่ให้เป็นการตีเช็คเปล่า ให้รัฐบาลใช้เงินโดยตามอำเภอใจ จนอาจส่งผลเสียต่อประเทศ
ส่วน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แยกพิจารณาเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1. แก้ไขการระบาดโควิด-19 (45,000 ล้านบาท) รัฐบาลต้องสามารถชี้แจงต่อสังคมให้ได้ว่ามีรายละเอียดการใช้จ่ายอย่างไร ใครได้ประโยชน์บ้าง เพราะที่รัฐบาลชี้แจงว่าใช้ในการรักษาผู้ป่วยคนละ 1 ล้านบาท ซึ่งคิดแล้วเป็นเงินไม่เกิน 4,000 ล้านบาทเท่านั้น เรื่องการจัดสรรอุปกรณ์ทางการแพทย์ก็มีข้อกังขามากมาย 2. การช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ (555,000 ล้านบาท) เป็นสิ่งจำเป็น แต่การเยี่ยวยาในแบบของรัฐบาลมีปัญหาในการคัดกรองไม่ครอบคลุม ซึ่งตนเห็นว่าควรใช้ระบบถ้วนหน้า 3. งบฟื้นฟูเศรษฐกิจ (400,000 ล้านบาท) ทิศทางการใช้เงินก้อนนี้ ไม่ตอบโจทย์ และไม่คิดถึงโอกาสของประเทศในภาพใหญ่
ส่วนของ พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 นั้น SMEs ส่วนมากยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก ผู้ประกอบการขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ได้ประโยชน์มากกว่าขนาดเล็ก นอกจากนั้นยังเปิดช่องทางที่เอกชนรายที่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อ เอาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไปปล่อยต่อให้เอกชนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในราคาสูง มีลักษณะเหมือนสินเชื่อนอกระบบ รายใหญ่ได้ประโยชน์ รายเล็กโดนเอาเปรียบ ในส่วนของ พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ในส่วนนี้ ตนเห็นถึงความจำเป็นของการรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ ซึ่งเป็นอีกแหล่งทุนสำคัญในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน แต่มีส่งผลเสียที่จะตามมา
เช่น การเลือกปฏิบัติใช้เงินรัฐอุ้มคนรวย ตนจึงเสนอให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณารับซื้อตราสารหนี้เอกชนตามความเสี่ยง จากนั้นธนาคารพาณิชย์สามารถนำตราสารหนี้เหล่านี้ มาค้ำประกันเพื่อกู้เงินเสริมสภาพคล่องจากธนาคารแห่งชาติ หากบริษัทใดผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้รับความเสี่ยง ธนาคารชาติเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของระบบตลาดการเงิน เพื่อหลีกเลี่ยงการเลือกปฏิบัติ นายสมพงษ์ย้ำว่าการใช้เงินกู้จำนวนนี้ต้องลงสู่การช่วยเหลือประชาชนอย่างทั่วถึง และกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการบริหารจัดการที่โปร่งใส มิใช่เป็นแหล่งทุนที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
อ่านเพิ่มเติม