ตามรายงานข่าวของเว็บไซต์วอชิงตันโพสต์ เมื่อวันที่ 26 ต.ค. เรื่อง 'White House restores trade benefits for Ukraine after more than two months of delay' หรือ 'ทำเนียบขาวรื้อผลประโยชน์การค้าของยูเครนหลังล่าช้ามากว่า 2 เดือน' โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ในรายงานข่าวดังกล่าวชี้ถึงที่มาที่ไปและการกระตุ้นให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ดำเนินตามแนวนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่คัดค้านการให้สิทธิประโยชน์ทางการค้าใดๆ แก่รัฐบาลยูเครน
ตามเอกสารที่นายจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดีทรัมป์ส่งถึงนายโรเบิร์ต อี. ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ พร้อมกับถ้อยแถลงที่ระบุว่า ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงกดดันให้ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ จัดการกับการเปรียบทางการค้าที่ยูเครนมีอยู่กับสหรัฐฯ ผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มีมาตั้งแต่อดีต ทั้งที่ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ มองว่า ละเมิดกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในรายงานชิ้นดังกล่าว ระบุถึง 120 ประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ Generalized System of Preferences (GSP) จากนำเข้าสินค้าเข้าสหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนราวๆ ร้อยละ 1.5 ของมูลค่าการนำเข้าสหรัฐฯ ทั้งหมดที่ได้รับการยกเว้นภาษี ว่าอาจได้รับการพิจารณายกเลิกสิทธิพิเศษนี้ รวมถึงชะลอการให้สิทธิพิเศษนี้แก่ไทยที่เคยได้รับสิทธิประโยชน์ทางการค้ามูลค่าราว 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.9 หมื่นล้านบาท โดยอ้างว่า "เพราะไทยล้มเหลวการปฏิบัติตามมาตรฐานนานาชาติด้านสิทธิแรงงาน"
พาณิชย์เตรียมเอกสาร-ข้อมูลแถลงอย่างละเอียด 28 ต.ค. นี้
ด้วยประโยคเพียงไม่กี่คำในรายงานข่าวดังกล่าว เป็นแรงกดดันต่อภาครัฐไทยที่ต้องเข้ามาดูแลธุรกิจที่อาจจะได้ผลกระทบจากคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดังกล่าว
แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ขณะนี้ทีมงานที่เกี่ยวข้องกำลังรวบรวมเอกสารและข้อมูลประเด็นการชี้แจงสู่สาธารณะและกำหนดจะแถลงข่าวในวันจันทร์ที่ 28 ต.ค. นี้ โดยจะชี้แจงถึงตัวเลขการส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ ธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบ และท่าทีของรัฐบาลไทย อย่างไรก็ตาม แม้คำสั่งนี้จะมีผลในอีก 6 เดือนข้างหน้า แต่ยืนยันว่า เป็นเรื่องที่ทางการไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ
ทั้งนี้ การใช้อำนาจฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยลงนามยกเลิกคำสั่งให้การสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ Generalized System of Preferences (GSP) แก่ประเทศไทยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น และเกิดขึ้นมาหลายครั้ง เพราะสิทธิพิเศษนี้ เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ให้ตามแต่สหรัฐฯ เห็นชอบ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เคยใช้ข้ออ้างด้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การประกาศมาตราบังคับใช้ หรือ CL (compulsory licensing) ตามข้อตกลงในองค์กรการค้าโลก (WTO) ในกรณีลิขสิทธิ์ยา เมื่อราวปลายปี 2549 เป็นครั้งแรก
นักวิชาการชี้ นโยบายการค้าสหรัฐปรวนแปร-ทางการไทย-ผู้ประกอบการต้องแกร่ง
ด้านนายปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า กรณีคำสั่งยกเลิกจีเอสพีไทยที่ออกมาล่าสุดนี้ ยังเป็นที่น่าสงสัยว่า ขณะนี้ ยังไม่มีเอกสารอย่างเป็นทางการจากสหรัฐฯ ปรากฎให้เห็น แต่ข่าวนี้มาจากการรายงานข่าวของสื่อต่างประเทศไม่กี่บรรทัด แต่ก็เป็นประเด็นสำคัญที่ทางการไทยต้องคำนึงถึงการรับมือ ใน 3 เรื่อง ได้แก่
พร้อมกับยกตัวอย่างว่า เรื่องสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรอาจจะมีประโยชน์กับสินค้ากลุ่มที่แข่งขันยาก แต่ในกรณีสินค้าไทยที่มีศักยภาพแล้ว ตัวอย่างจากกรณีสหภาพยุโรป (อียู) ยกเลิกสิทธิจีเอสพีสินค้าประมงไทยมาตั้งแต่ปี 2557-2558 จนถึงปัจจุบันสินค้าประมงไทยก็มีอัตราการเติบโตของการส่งออกไปยุโรปเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้จะว่าเมื่อ 2-3 ปีที่่ผ่านมา จะได้รับผลกระทบจากการ IUU (การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม) ติดธงเหลืองไทยในช่วงหนึ่ง แต่เมื่อทางการไทยสามารถดำเนินการจนถูกปลดธงเหลืองจากอียูแล้ว ก็เห็นชัดว่า มาตรฐานด้านประมงและแรงงานประมงไทยก็ติดมาตรฐานโลกแล้ว
อย่างไรก็ตาม เรื่องสิทธิพิเศษทางภาษีของประเทศมหาอำนาจที่มอบให้ประเทศผู้ส่งออกนั้น เป็นสิทธิแล้วแต่ผู้ให้ และในกรณีที่สินค้าไทยมีคุณภาพมากพอ แข่งขันได้ ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสิทธิประโยชน์นี้ ขณะเดียวกัน อาจมีบางธุรกิจ บางกิจการที่ยังไม่สามารถแข่งขันได้ และจำเป็นต้องได้รับสิทธิดังกล่าว ทางการไทยก็ต้องดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น จากการนำเงินในกองทุนเอฟทีเอเข้าไปช่วยให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นรอดและอยู่ได้ เป็นต้น
"นาทีนี้ คุณจะมาเอาแน่เอานอนกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ไม่ได้เลย เพราะเราไม่รู้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะทวีตอะไรตอนนั้น ดังนั้นสิ่งเดียวที่จะทำให้ค้าขายได้คือการทำของให้มีคุณภาพแข่งขันได้ ตอบโจทย์ตลาดผู้ซื้อน่าจะเป็นหนทางรอดของผู้ประกอบการไทย" นายปิติ กล่าว
ทำความรู้จัก 'จีเอสพี' สิทธิการให้ฝ่ายเดียวและวางเงื่อนไขแน่น
ทั้งนี้ สิทธิพิเศษทางภาษีศุลภากนที่ให้เป็นการทั่วไป หรือ GSP เป็นการสิทธิที่บางประเทศให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อให้ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าบางรายการเมื่อส่งไปขายยังประเทศผู้ให้สิทธิ อีกทั้ง การให้จีเอสพี เป็นการให้แบบฝ่ายเดียว และประเทศที่ให้สิทธิจะให้แบบมีเงื่อนไข เช่น ต้องทำตามหลักเกณฑ์การค้าของประเทศผู้ให้สิทธิ และข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศเมื่อปี 2560 ระบุว่า สหรัฐฯ สูญเสียรายได้ภาษีจากการให้สิทธิจีเอสพีแก่ประเทศต่างๆ (ประมาณ 125 ประเทศทั่วโลก) ปีละกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 24,000 ล้านบาท
โดยในอดีตสหรัฐฯ มีการยกเลิกการให้สิทธิจีเอสพีแก่ประเทศต่างๆ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ เช่น การไม่คุ้มครองสิทธิแรงงาน ในกรณีของบังคลาเทศ เมื่อปี 2556 เบลารุส ปี 2543 กรณีไม่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ของประเทศยูเครน เมื่อปี 2544 ฮอนดูรัส ปี 2541 อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศที่ถูกยกเลิกจีเอสพีและได้ปรับปรุงหรือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ก็จะสามารถกลับมาได้สิทธิจีเอสำพีอีกครั้งได้ แต่ก็มีบางประเทศที่ถูกยกเลิกสิทธิถาวร เนื่องจากมีระดับการพัฒนาประเทศที่สูงมากแล้ว เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย รัสเซีย เป็นต้น
ข้อมูลเรื่องจีดีพีจาก : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ