ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารออมสินเปิดรายงาน 'ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศไทย' ชี้รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของประชากรเพิ่มขึ้น แต่ยังมีปัญหาการกระจายได้ ขณะที่ น่าน-แม่ฮ่องสอนการพัฒนาคนน้อยและมีคนจนมาก

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารออมสิน เปิดเผยรายงานเรื่อง 'ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศไทย' โดยระบุว่า ตามข้อมูลสัดส่วนคนจนและค่าสัมประสิทธิ์จีนี่ ตั้งแต่ ปี 2550-2560 ของประเทศไทยพบว่า แนวโน้มคนจนและความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง แต่ในปี 2560 แม้สัดส่วนคนจนจะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้กลับสวนทางกัน โดยสัดส่วนคนจนมีค่าอยู่ที่ร้อยละ 7.87 ลดลงจากปี 2558 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 8.61 แต่ค่าสัมประสิทธิ์จีนี่มีค่าอยู่ที่ร้อยละ 45.30 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีค่าอยู่ที่ร้อยละ 44.50 สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของประเทศไทยที่มีเพิ่มขึ้น 

แม้ภาครัฐจะมีนโยบายเพื่อลดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ออกมาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องและสามารถช่วยลดจำนวนคนจนให้ลดลงได้ แต่อาจเพราะนโยบายส่วนใหญ่เป็นการให้สวัสดิการต่างๆ การให้ความรู้ทางการเงิน รวมถึงการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพและเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถพัฒนาตัวเองและก้าวข้ามความจนได้อย่างยั่งยืน และการช่วยเหลือผ่านนโยบายต่างๆ ของภาครัฐในปัจจุบันที่เริ่มดำเนินการอย่างเข้มข้นและนับได้ว่าอยู่ในระยะเริ่มต้น 

ดังจะเห็นได้จากการดำเนินการตามนโยบายของโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐต่างๆ ที่เริ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน และการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 - 2564) ดังนั้น อาจต้องใช้ระยะเวลาที่จะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมจึงทำให้ยังคงมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ปรากฏให้เห็น 

ประชากรร้อยละ 10 ถือครองรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนรายได้ของประชากรหรือการถือครองรายได้ของกลุ่มประชากรตามระดับรายได้ พบว่า การถือครองรายได้ของประชากรภายในประเทศส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มประชากรร้อยละ 10 ที่มีรายได้มากที่สุด โดยปี 2560 ประชากรร้อยละ 10 ที่มีรายได้มากที่สุด มีรายได้เฉลี่ยต่อคน ต่อเดือน 33,933 บาท ถือครองรายได้รวมร้อยละ 35.29 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน 32,759 บาท และมีสัดส่วนการถือครองรายได้รวมร้อยละ 34.98 ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ 

แล้วเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด (Bottom 40) พบว่า ในปี 2560 มีความแตกต่างของรายได้ 9.96 เท่า โดยกลุ่ม Bottom 40 มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือน 3,408 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ที่มีจำนวน 3,353 บาท และมีสัดส่วนการถือครองรายได้รวมร้อยละ 14.18 ลดลงจากปี 2558 ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 14.32 

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ชัดว่าระดับรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนของประชากรไทยมีจำนวนมากขึ้น แต่การกระจายรายได้ยังมีความไม่เท่าเทียมกัน สาเหตุอาจมาจากลักษณะของกลุ่ม Bottom 40 ที่ส่วนใหญ่เป็นคนยากจนหรือคนเกือบจน อีกทั้งส่วนใหญ่เป็นผู้ว่างงานไม่มีรายได้หรือประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน รวมถึงส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ทักษะ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญที่ส่งผลให้โอกาสในการหารายได้ของคนกลุ่มนี้มีไม่มากนัก และเป็นตัวผลักดันที่ทำให้ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้

น่าน-แม่ฮ่องสอนปัญหาทั้งรายได้ และการพัฒนาคน

แล้วเมื่อพิจารณาจากดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index – HAI) ปี 2560 (ล่าสุด) พบว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีการพัฒนาคนก้าวหน้าน้อยที่สุด โดยค่าดัชนีความก้าวหน้าด้านรายได้เท่ากับ 0.3062 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศที่อยู่ที่ 0.5463 และมีจำนวนประชากรยากจน มากที่สุดในประเทศเช่นกัน สอดคล้องกับข้อมูลคนจนเป้าหมายที่มีปัญหาด้านรายได้จาก TPMAP ในปี 2560 พบว่า สัดส่วนคนจนที่มีปัญหาด้านรายได้มีอยู่ในจังหวัดน่านและจังหวัดแม่ฮ่องสอนมากที่สุด และจังหวัดที่มีปัญหา 5 อันดับแรกก็อยู่ในพื้นที่ของภาคเหนือทั้งหมดเช่นกัน

จากผลการศึกษาข้างต้นพบว่า พื้นที่ภาคเหนือซึ่งมีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาและพื้นที่สูง ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพบริการและการเกษตรเป็นหลัก เป็นพื้นที่ที่สัดส่วนคนจนเป้าหมายมีปัญหาด้านรายได้มากที่สุด ทำให้ภาครัฐมีแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก้ไขปัญหาความยากจน พัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุอย่างมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน และยกระดับทักษะฝีมือแรงงานภาคบริการ ซึ่งกำหนดไว้ในแผนพัฒนาภาคเหนือ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังนี้

1) ส่งเสริมการสร้างรายได้และการมีงานทำของผู้สูงอายุและคนยากจน โดยดำเนินการในรูปของกลุ่มอาชีพและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้มีรายได้และได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างต่อเนื่องสามารถพึ่งพาตนเองได้และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น 

2) พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ รวมทั้งแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้ดูแลผู้สูงอายุ ตลอดจนสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดบริการด้านสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสในชุมชน 

3) พัฒนาแรงงานให้มีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ควบคู่ไปกับการยกระดับทักษะฝีมือให้สูงขึ้น สอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตและบริการบนฐานความรู้และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

4) สร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวและชุมชน เพื่อให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการจัดสวัสดิการชุมชนได้อย่างยั่งยืน และเป็นโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมให้กับผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสในชุมชน