ไม่พบผลการค้นหา
ประธานคณะก้าวหน้าชง 5 คำถามถึง 'อนุทิน' แจงจัดซื้อวัคซีนโควิดครอบคลุมประชากรในประเทศช้ากว่าหลายประเทศในโลก ต้องใช้เวลา 3 ปีถึงฉีดวัคซีนได้ถึงครึ่งของประชากรในประเทศ หวั่นเสียเปรียบประเทศที่ฉีดไวกว่า ย้ำ 3 สัญญาจัดซื้อวัคซีนไม่เป็นเอกเทศ จี้เปิดเผยรายละเอียด

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.)สาธารณสุข ว่า ตนติดตามการทำงานของรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนให้กับประชาชนไทยด้วยความเป็นห่วง ตนได้แถลงถึงข้อสงสัยของในสัปดาห์ที่แล้ว มีผู้แสดงความคิดเห็นต่อการแสดงออกของผมหลายคน มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งรวมถึง อนุทินเองด้วย

โดย ธนาธรถามคำถาม 5 ข้อถึง อนุทิน 

ข้อแรก ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือ จนถึงวันนี้เรามีวัคซีนที่เจรจาเสร็จ มีความชัดเจนในการส่งมอบ ครอบคลุมเพียงแค่ร้อยละ 21.5 ของจำนวนประชากรเท่านั้น ในจำนวนนี้ มาจาก แอสตราเซเนกา 26 ล้านโดส (หรือร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร) และซิโนแวค 2 ล้านโดส (หรือคิดเป็นร้อยละ 1.5 ของจำนวนประชากร) การจัดหาวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรเพียงร้อยละ 21.5 ต่ำกว่าและช้ากว่าหลายประเทศในโลก การฉีดวัคซีนเพียงร้อยละ 21.5 ของจำนวนประชากรสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคมไม่ได้

ข้อสอง นอกจากการจัดหาวัคซีนจะครอบคลุมคนจำนวนน้อยแล้ว การฉีดวัคซีนยังล่าช้ากว่าช่วงเวลาที่ควรจะเป็น ตามกรอบเวลาที่เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขได้อธิบายกับกรรมาธิการสาธารณสุขของสภาฯ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาระบุว่า รัฐบาลวางแผนจะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกร 11 ล้านคนในปี 2564, อีก 11 ล้านคนในปี 2565 และอีก 10.5 ล้านคนในปี 2566 (แนบสไลด์ที่ใช้ในการนำเสนอในชั้นกรรมาธิการเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2563 ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มาให้ประชาชนดูในที่นี้ด้วย) รวมกันเท่ากับ 32.5 ล้านคน หรือกล่าวได้ว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรจะได้รับวัคซีนแล้วเสร็จในปี 2566

"หากผมไม่ออกมาตั้งคำถาม รัฐบาลเดินหน้าตามแผนนี้ ประชาชนจะต้องอดทนกับสถานการณ์กึ่งปิดกึ่งเปิดอย่างนี้ต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปี และอีกสามปีนี้อาจจะมีความเสี่ยงแพร่ระบาดครั้งที่สามครั้งที่สี่ต่อไปได้ คนที่ต้องแบกรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่หนักที่สุดคือคนหาเช้ากินค่ำ คือแรงงานนอกระบบ คือคนที่ชีวิตมีความเปราะบาง ไม่มีสวัสดิการใดๆ รองรับ คนเหล่านี้ต้องอยู่กับความกลัวและความไม่แน่นอนในชีวิตไปอีกสามปี ประชาชนต้องการ์ดอย่าตกไปอีกสามปี ขณะที่รัฐบาลไม่ได้แสดงให้เห็นเลยว่าเข้าใจประชาชน และพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อหาวัคซีนให้กับประชาชนอย่างครอบคลุมและฉับไว"

ธนาธร ระบุว่า ข้อสาม การมีวัคซีนคือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ตราบใดที่เรายังไม่สามารถฉีดวัคซีนในกับประชากรได้ในจำนวนที่มากพอ เราก็ยังอยู่ในอุโมงค์ที่มืดมิดอยู่ ประชาชนยังต้องใช้ชีวิตอยู่กับความกลัวอยู่ นักท่องเที่ยวจะไม่กลับเข้ามา ภาคธุรกิจไม่มีความแน่นอน การเจรจาการค้ากับต่างประเทศก็ชะงักชะงัน และที่สำคัญเราจะเสียเปรียบทางการแข่งขันกับประเทศที่ฉีดวัคซีนเสร็จก่อนเรา

"การไม่พยายามจัดหาวัคซีนนี้ อาจเกิดจากรัฐบาลประมาท คิดว่าสามารถรับมือกับโควิดได้ จึงไม่รีบจัดหาวัคซีน ซึ่งการแพร่ระบาดรองสองปลายเดือน ธ.ค. ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลจัดการการแพร่ระบาดไม่ได้อย่างเบ็ดเสร็จตามที่คาดไว้" ธนาธร ระบุ

ประธานคณะก้าวหน้าระบุว่า ข้อสี่ การจัดหาวัคซีนไม่ครบนี้ อาจมาจากการฝากความหวังไว้ที่บริษัทบริษัทเดียว ตนเห็นด้วยและสนับสนุนให้เกิดการผลิตวัคซีนในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคนที่พยายามทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ แต่ที่ตนกำลังตั้งคำถามคือกระบวนการคัดเลือกบริษัทเอกชนรายใดรายหนึ่งมาทำภารกิจนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีการเปรียบเทียบคุณสมบัติกับรายอื่นๆ อย่างเป็นระบบ เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่

"ผมยืนยันในที่นี้อีกครั้งว่าจากเอกสารของหลายหน่วยงานและการให้สัมภาษณ์หลายครั้ง ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ สัญญาซื้อวัคซีนระหว่างรัฐบาลกับแอสตราเซเนกา , สัญญาจ้างผลิตระหว่าง แอสตราเซเนกา กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ และสัญญาการสนับสนุนงบประมาณระหว่างรัฐบาลและสยามไบโอไซเอนซ์เจรจาในเวลาพร้อมๆ กัน มีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกันไปมา ไม่ได้เจรจาเป็นเอกเทศ เป็นอิสระจากกันและกัน และไม่ปรากฏว่ามีตั้งคณะกรรมการเฟ้นหาผู้ที่เหมาะสมในการผลิตหรือกำหนดคุณสมบัติการคัดเลือกอย่างเป็นระบบ"

ข้อห้า ในเมื่อรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนทั้งงบประมาณและการเจรจาให้เกิดสัญญาต่างๆ เหล่านี้ขึ้นมา อย่าอ้างว่าเป็นสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชน ประชาชนย่อมมีความชอบธรรมที่จะขอเปิดเอกสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเจรจาทั้งหมดของทุกหน่วยงานและเอกสารสัญญาเหล่านี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง