เว็บไซต์ CBS News สื่อสหรัฐฯ รายงานอ้างอิงผลสำรวจขององค์กรเฝ้าระวังด้านอาวุธปืน Gun Violence Archive ระบุว่า ปี 2019 ที่ผ่านมา มีเหตุกราดยิงเกิดขึ้นในสหรัฐฯ ทั้งหมด 417 ครั้ง ถือเป็นสถิติสูงที่สุดในรอบ 5 ปี
แม้สหรัฐฯ ไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนว่าเหตุการณ์ใดที่จะเรียกว่าเป็นการกราดยิง แต่รายงานว่าด้วยความรุนแรงจากปืนในสหรัฐฯ ระบุว่า คือ การที่มีผู้ใช้อาวุธปืนสังหารผู้อื่นเสียชีวิตเฉลี่ยประมาณ 4 รายต่อเหตุการณ์
ในจำนวนเหตุกราดยิงทั้งหมด 417 คดีในสหรัฐฯ ปี 2019 มีเหตุกราดยิง 2 ครั้งในรอบสัปดาห์ช่วงต้นเดือนธันวาคม เป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ทำให้คนตั้งคำถาม เพราะเป็นการกราดยิงในค่ายทหาร โดยครั้งแรกเกิดเหตุในค่ายทหารอากาศเพนซาโคลา มลรัฐฟลอริดา และอีกเหตุการณ์เกิดขึ้นที่อู่ต่อเรือของค่ายทหารเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ มลรัฐฮาวาย ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 5 ราย และบาดเจ็บอีกหลายราย
นิตยสาร TIME เผยแพร่บทความ Why Military Bases Have Proved Vulnerable to Mass Shootings? โดยตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดค่ายทหารจึงเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยเหตุกราดยิง พร้อมยกตัวอย่างเหตุกราดยิงครั้งรายแรงในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นที่ค่ายฟอร์ดฮู้ด มลรัฐเท็กซัส เมื่อปี 2009 ซึ่งผู้ก่อเหตุก็เป็นนายทหาร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 ราย ทั้งยังมีเหตุการณ์กราดยิงในค่ายทหารอื่นๆ อีกหลายครั้งในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา
บทความของไทม์ระบุว่า ค่ายทหารอาจดูเหมือนเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย เพราะมีเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและเชี่ยวชาญการใช้อาวุธอยู่ แต่ในค่ายทหารก็มีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ไม่ต่างจากพื้นที่ของพลเรือน เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร สวนสาธารณะ ทั้งยังมีประชากรที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหารรวมอยู่ด้วย การก่อเหตุรุนแรงกับกลุ่มคนเหล่านี้จึงมีผลร้ายแรงถึงชีวิต
กองทัพถูกตั้งคำถามเรื่องที่ตั้งค่ายทหารทั่วประเทศ จึงต้องพยายามปรับปรุงด้านมาตรการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ทหารเพิ่มเติมหลังเกิดเหตุร้ายแรงเหล่านี้ขึ้น โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับการไต่สวนเหตุกราดยิงในค่ายทหารสหรัฐฯ ในอดีต ระบุว่าจะต้องมีการฝึกซ้อมรับมือกับเหตุการณ์รุนแรงอย่างสม่ำเสมอ ถึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง
ส่วนเดอะนิวยอร์กไทม์ส รายงานว่า ค่ายทหารเป็นที่ที่เกิดอันตราย 'จากภายใน' เพิ่มมากขึ้น (On Military Bases, the Dangers Increasingly Come From the Inside) เพราะผู้ก่อเหตุมีแรงจูงใจที่หลากหลาย ควบคุมหรือคาดเดาแนวทางได้ยาก พร้อมยกตัวอย่างกรณีแพทย์ทหารในเหตุกราดยิงที่ค่ายฟอร์ตฮู้ด เกิดจากอาการผิดปกติทางจิต ขณะที่การก่อเหตุที่ค่ายทหารเพนซาโคลาเมื่อเดือน ส.ค.เกิดจากคนนอก คือ ทหาร 3 นายจากซาอุดีอาระเบียที่เข้ารับการฝึกอบรมในสหรัฐฯ ตามโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์สรายงานว่าคนในชุมชนโดยรอบค่ายทหารจึงมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกัน โดยบางส่วนไม่คิดว่าจะต้องห้ามชาวต่างชาติมาร่วมฝึกในค่ายทหาร เพราะเชื่อว่าผู้ก่อเหตุเป็นคนส่วนน้อย และนายทหารซาอุดีอาระเบียซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุ แต่ต้องถูกส่งกลับประเทศหลังการกราดยิง ถือเป็น 'เหยื่อ' ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุกราดยิงเช่นกัน ขณะที่บางคนมองว่ากองทัพสหรัฐฯ ควรเข้มงวดกวดขันในค่ายทหารมากขึ้น
ในเดือน ม.ค.2020 องค์กรวิชาการด้านนโยบายต่างประเทศ IFRI ในฝรั่งเศส ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง The Future of Urban Warfare in the Age of Megacities โดยประเมินว่า ในอนาคต เมืองใหญ่ในหลายประเทศทั่วโลกอาจเสี่ยงที่จะเกิด 'การรบในเมือง' (urban warfare) เพิ่มขึ้น โดยยกตัวอย่างการใช้กำลังทหารในเมืองใหญ่ เพื่อทำสงครามต่อต้านยาเสพติดในประเทศแถบลาตินอเมริกา รวมถึงสงครามกลางเมืองในตะวันออกกลาง ส่งผลต่อเมืองที่เคยรุ่งเรืองอย่างซานาและโมซูล
นอกจากนี้ หลายประเทศยังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในเขตเมืองใหญ่ ทำให้ต้องติดอาวุธที่รุนแรงขึ้นให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารต้องเข้ามาปฏิบัติการในเมือง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้การขยายตัวของเมืองเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการพัฒนาด้านวิชาชีพทหาร ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับเทคโนโลยีและใกล้ชิดกับชุนชนเมือง ทำให้เขตเมืองกลายสภาพเป็นพื้นที่เกิดเหตุขัดแย้งได้ง่าย
ขณะเดียวกัน การที่รัฐจะควบคุมสื่อหรือจำกัดความรับรู้ของคนในสังคมที่มีต่อเหตุการณ์ความรุนแรงหรือความขัดแย้งในเขตเมืองจะเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะมีช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ด้วยตนเอง
ส่วนกรณีของประเทศไทย เหตุ #กราดยิงโคราช เกิดขึ้นในค่ายทหารในจังหวัดนครราชสีมาเช่นกัน รวมไปถึงการก่อเหตุในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในตัวเมือง ทั้ยังเป็นการ 'ปล้นปืน' ไปจากคลังสรรพาวุธ แต่นี่ก็ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่มีการปล้นปืนไปจากค่ายทหารไทย เพราะเหตุการณ์ 'ปล้นปืน' ครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ รวม 413 กระบอก เพ่ิงครบรอบ 16 ปีไปเมื่อ 4 ม.ค.2020 ที่ผ่านมา
เหตุปล้นปืนดังกล่าวเกิดขึ้นที่กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ 'ค่ายปิเหล็ง' จ.นราธิวาส เมื่อปี 2004 และถูกมองว่าเป็น 'จุดเริ่มต้น' ของเหตุการณ์ไม่สงบหลังยุค 2000 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวผ่านสื่อหลายครั้งว่า สาเหตุของการกราดยิงเกิดจาก 'อาการป่วยทางจิต' และพูดย้ำว่า เหตุกราดยิงเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิต ไม่เกี่ยวกับการมีอาวุธปืนในครอบครอง โดยครั้งหนึ่งเขาพูดว่า 'จิตป่วย' และ 'ความเกลียดชัง' เป็นตัวลั่นไก แต่ไม่ใช่ความผิดของอาวุธปืน
ฝ่ายสนับสนุนการถือครองอาวุธปืนในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับคำกล่าวของทรัมป์ และหลายคนย้ำว่า 'สังคมอเมริกัน' จะต้องแก้ปัญหาทางจิต ไม่ให้คนป่วยทางจิตถือปืน แต่ผู้ต่อต้านปืนก็ตั้งคำถามเช่นกันว่า ถ้าหากต้องการแก้ปัญหาทางจิตที่เกิดขึ้นในสังคมจริงๆ เพราะเหตุใดกลุ่มผู้สนับสนุนปืนจึงไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายควบคุมอาวุธปืนที่เพิ่มเงื่อนไขในการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและอาการทางจิตของผู้ซื้อปืนอย่างเข้มงวด
ด้วยเหตุนี้ เว็บไซต์ FactCheck ซึ่งเป็นองค์กรด้านการตรวจสอบข้อมูลในสื่อออนไลน์ จึงนำงานวิจัยของทั้งหน่วยงานรัฐและองค์กรด้านสุขภาพจิตของสหรัฐฯ มาเผยแพร่ โดยยอมรับว่า ผู้มีอาการผิดปกติทางจิต หรือผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางจิตเวช มีแนวโน้มจะก่อเหตุรุนแรงหรือใช้อาวุธปืนก่อเหตุมากกว่าคนที่ไม่เจ็บป่วยทางจิตจริงแต่สัดส่วนผู้ที่มีอาการผิดปกติทางจิตที่ก่อเหตุรุนแรงเกี่ยวกับอาวุธปืน คิดเป็น 3-5 เปอร์เซ็นต์ของสถิติคดีกราดยิงหรืออาชญากรรมจากอาวุธปืนทั้งหมดทั่วประเทศเท่านั้น
ในปี 2017 และ 2018 พบว่า 2 ใน 3 ของผู้ก่อเหตุกราดยิงในสหรัฐฯ มีปัญหาด้านสุขภาพจิต หรือมีภาวะกดดันทางจิตใจก่อนจะก่อเหตุ อ้างอิงผลสำรวจของสำนักงานสืบสวนกลางแห่งชาติ (FBI) ที่ระบุว่ามีผู้ก่อเหตุกราดยิง 63 รายในสหรัฐฯ ช่วงระหว่างปี 2000 -2013 และในจำนวนผู้ก่อเหตุทั้งหมด พบว่า 62 เปอร์เซ็นต์ มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งรวมถึงภาวะเครียด วิตกกังวล หรือเศร้าซึม แต่ในกลุ่มคนจำนวนนี้ มีเพียง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีอาการผิดปกติทางจิตจริงๆ เช่น โรคจิตเภท โรคหลงผิด โรคซึมเศร้า หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (ไบโพลาร์)
ส่วน แกรนต์ ดิวว์ นักอาชญวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเบย์เลอร์ได้สำรวจเหตุการณ์กราดยิง 185 ครั้งในสหรัฐฯ ช่วงปี 1900 -2017 พบว่า อย่างน้อย 59 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ก่อเหตุมีปัญหาสุขภาพจิตอยู่ในขั้นวิกฤต หรือก่อนหน้านี้ผู้ที่ก่อเหตุมีโรคทางจิตเวชอยู่ก่อนแล้ว
ในทางกลับกัน งานวิจัยของคลินิกจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งสำรวจเหตุกราดยิงในช่วงระหว่างปี 1913 -2015 ซึ่งตีความอาการผิดปกติทางจิตโดยยึดหลักของจิตแพทย์อย่างเคร่งครัด พบว่ามีเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ก่อเหตุเท่านั้นที่เรียกได้ว่ามีอาการผิดปกติทางจิต หรือป่วยเป็นโรคจิตเวชจริงๆ
พอล แอปเพิลบอม นักนิติจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าวด้วยว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะสามารถอธิบายได้ว่าเหตุการณ์กราดยิงนั้นมีสาเหตุมาจากอาการผิดปกติทางจิตใจ เพราะในหลายเหตุการณ์ คำนิยามของอาการผิดปกติทางจิตเป็นการนิยามโดยสื่อมวลชนที่รายงานคดี หรือตำรวจที่รับผิดชอบคดีเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบวินิจฉัยจากจิตแพทย์ จึงยากต่อการทำความเข้าใจและสรุปผลว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีข้อเท็จจริงอย่างไร
เช่นเดียวกับ เบธ แมคกินตี้ นักวิจัยด้านสุขภาพจิตและนโยบายการใช้สารเสพติด จากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์วิเคราะห์ว่า มีแนวโน้มที่ผู้ก่อเหตุหลายรายอาจจะมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ที่ก่อเหตุหลายรายมักจะฆ่าตัวตายหลังก่อเหตุ แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ได้จากการสอบถามครอบครัวหรือคนรอบข้าง ซึ่งอาจจะเป็นการด่วนสรุปเกินไป
แมคกินตี้ยังอธิบายว่า การศึกษาเรื่องดังกล่าวสามารถสร้างความสับสนเรื่องการเชื่อมโยงของข้อเท็จจริง โดยเธอกล่าวว่า หากมีผู้ถูกวินิจฉัยว่ามีปัญหาสุขภาพจิต ก็จะถูกสันนิษฐานว่า ปัญหาสุขภาพจิตนั้นเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการกระทำกราดยิง แต่ผู้ที่มีอาการป่วยจิตหรือผิดปกติทางจิต มักจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งเสริมให้ก่อความรุนแรงด้วย เช่น เพศ วัย การมีอารมณ์รุนแรง การใช้สารเสพติด หรือเคยผ่านเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจ เป็นต้น
นอกจากนี้ ข้อมูลในรายงาน Mass violence in America ที่เผยแพร่เมื่อเดือน ส.ค.2019 ระบุด้วยว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของเหตุการณ์กราดยิงในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ผู้ก่อเหตุกราดยิงส่วนใหญ่มีลักษณะร่วมหลายประการ เช่น เป็นผู้ชาย อายุยังไม่ถึงวัยกลางคน มีประวัติการใช้สารเสพติด มีแรงจูงใจในการก่อเหตุที่เกี่ยวข้องกับความไม่พึงพอใจในสถานะทางสังคม หรือความสัมพันธ์กับครอบครัวและที่ทำงาน
รายงานดังกล่าวได้ประเมินความเชื่อมโยงระหว่างผู้มีอาการผิดปกติทางจิตกับการก่อเหตุกราดยิงหรือการใช้ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืน พบว่าผู้มีอาการทางจิตที่ลงมือก่อเหตุ คิดเป็นค่าเฉลี่ยประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ของคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ
หากมีการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและลดจำนวนผู้มีอาการผิดปกติทางจิตได้จริง ก็อาจจะช่วยลดคดีความรุนแรงเกี่ยวกับปืนลงไปได้ประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ แต่อีก 96 เปอร์เซ็นต์ของเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่ความเจ็บป่วยทางจิต
(บทความเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 9 ก.พ.ในชื่อ 'ป่วยจิต เป็นเหตุให้ก่อความรุนแรงจริงหรือ?' และแก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมวันที่ 16 ก.พ.2020)
ที่มา CBS News/ Factcheck/ TIME
ข่าวที่เกี่ยวข้อง